“บิ๊กเกรียง-มงคล” ตัวเต็ง ชิงปธ.วุฒิฯ ได้ครบ 200 สว. ลุ้นผล-มาราธอน 18 ชั่วโมง

เปิดโฉมหน้า 200 คน เลือกกันมาราธอนกว่า 18 ชั่วโมง เผยพรรคการเมืองใหญ่-บ้านใหญ่ทรงอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ขุมข่าย ภท.ยึดสภาสูงเกินครึ่ง เด็กเซราะกราวส่งโปรไฟล์ 1 บรรทัด ขณะที่สายเพื่อไทยเข้ามาได้หลายคน ทีมก้าวหน้า-เอ็นจีโอ-ภาคประชาสังคมฝ่าบล็อกโหวตมาได้จิ๊บๆ “ประภาส-อังคณา-นันทนา” ถึงฝัน อดีต สว.-อดีต สส.หวนคืนเวที อึ้ง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” แพ้หลุดลุ่ย เริ่มมีวางตำแหน่งกันแล้ว ชื่อ “บิ๊กเกรียง-มงคล” แรงชิงเก้าอี้ ปธ.วุฒิฯ “แสวง” ทำขึงขังจับตาก๊วน สว.พะยี่ห้อพรรคใหญ่ เผยไม่พบจ่ายเงินในห้องน้ำ “ชัยธวัช” หนุนรับรองก่อนค่อยสอยทีหลัง “สมชาย” แฉกาเหมือนกันเป๊ะ หลักฐานฮั้วชัด “สนธิญา” ชง อสส.ยื่นศาล รธน.สั่งให้โมฆะ “วันนอร์” เชื่อ สว.ชุดใหม่มีอิสระกว่าชุดปัจจุบัน

ในที่สุดปวงชนชาวไทยก็ได้เห็นหน้าค่าตาสว. 200 คน ที่ผ่านการเลือกแบบมาราธอนข้ามวันข้ามคืน ปรากฏว่าโฉมหน้าที่ออกมาส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่ายพรรคการเมือง-บ้านใหญ่ ล่าสุดเริ่มมีความเคลื่อนไหววางตัวคนขึ้นนั่งตำแหน่งประธานวุฒิสภาแล้ว มีชื่อ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ และนายมงคล สุระสัจจะมาแรง

...

ชิงดำ 200 สว.ลากยาวเกือบตีสี่

เมื่อช่วงกลางดึกคืนวันที่ 26 มิ.ย. ต่อเนื่องวันที่ 27 มิ.ย. ภาพรวมการจัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ ที่อิมแพ็ค ฟอรัม อาคาร 4 เมืองทองธานี กระบวนการมีความล่าช้ากว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก จากที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. รวมถึงนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ประเมินว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นไม่เกินเวลา 20.00 น.ของวันที่ 26 มิ.ย. แต่กว่าจะดำเนินการนับคะแนนในรอบที่ 2 รอบแบ่งสายหรือเลือกไขว้เสร็จสิ้น ปาเข้าไปเวลา 03.30น.ของวันที่ 27 มิ.ย. ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศได้เรียงลำดับผลคะแนนผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด เรียงลำดับ 10 คนแรกของแต่ละสาย เป็นผู้ได้รับเลือกระดับประเทศ และผู้ที่อยู่ในอันดับที่ 11-15 เป็นลำดับสำรองเรียบร้อยแล้ว

เปิดรายชื่อว่าที่ สว.คนดังเพียบ

ต่อมาเวลา 05.55 น. สำนักประชาสัมพันธ์สำนักงาน กกต. ส่งรายงานผลการนับคะแนนลงในไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำ กกต. มีรายชื่อว่าที่ สว. 200 คน ดังนี้ 1.พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ 2.นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี 3.นายมงคล สุระสัจจะ 4.นายธวัช สุระบาล 5.นายวร หินดี 6.พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา 7.พล.ท.สุกิจ ทั่งทอง 8.นายอภิชาติ งามกมล 9.พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วิริยาสรร 10.นายอภินันท์ เผือกผ่อง 11.นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล 12.นายสมบูรณ์ หนูนวล 13.นายบุญชอบ สะสมทรัพย์ 14.นางนงลักษณ์ ก้านเขียว 15.นายฤชุ แก้วลาย 16.นางเพลินจิต ขันแก้ว 17.นายวันชัย แข็งการเขตร 18.นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ 19.น.ส.วิชาวีร์ ประทุมสวัสดิ์ 20.นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย 21.นายเตชสิทธิ์ ซุแก้ว 22.นายวิรัตน์ ธรรมบำรุง 23.น.ส.มาเรีย เผ่าประทาน 24.นายยะโก๊ป หีมละ 25.นายนิสิทธิ์ ปนกลิ่น 26.นายจรุณ กลิ่นตลบ 27.นายธนกร ถาวรชินโชติ 28.นายโชติชัย บัวดิษ 29.นายอิสระ บุญสองชั้น 30.นายเศรณี อนิลบล 31.นายนิรุตติ สุทธินนท์ 32.นางประไม หอมเทียม 33.นายชาญชัย ไชยพิศ 34.นายสากล ภูลศริกุล 35.นายภาณุพงษ์ เต็งวงษ์วัฒนะ 36.น.ส.สายฝน กองแก้ว 37.นายศุภโชค ศาลากิจ

“ประภาส-อังคณา-นันทนา” ถึงฝัน

38.นายประภาส ปิ่นตบแต่ง 39.นางอังคณา นีละไพจิตร 40.นายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล 41.นายสุทนต์ กล้าการขาย 42.นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล 43.นายสุพรรณ์ ศรชัย 44.น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม 45.นายศุภชัย กิตติภูติกุล 46.นางอารีย์ บรรจงธุระการ 47.นายจำลอง อนันตสุข 48.นายชิบ จิตนิยม 49.น.ส.นันทนา นันทวโรภาส 50.นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย 51.นายอัษฎางค์ แสวงการ 52.นายสมทบ ถีระพันธ์ 53.นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว 54.นายสุเทพ สังข์วิเศษ 55.นายโสภณ ผาสุข 56.นายสามารถ รังสรรค์ 57.นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด 58.นายสุทิน แก้วพนา 59.นายปริญญา วงษ์เชิดขวัญ 60.นายกมล รอดคล้าย 61.นายโสภณ มะโนมะยา 62.นายรุจิภาส มีกุศล 63.พ.ต.ท.สง่า ส่งมหาชัย 64.นางแดง กองมา 65.นายสมพาน พละศักดิ์ 66.นายสุนทร เชาว์กิจค้า 67.นายนิคม มากรุ่งแจ้ง 68.นายสหพันธ์ รุ่งโรจนพณิชย์ 69.นายนิทัศน์ อารีย์วงศ์สกุล 70.นายมังกร ศรีเจริญกุล 71.นางมยุรี โพธิแสน 72.นางเจียระนัย ตั้งกีรติ 73.น.ส.จารุณี ฤกษ์ปราณี 74.น.ส.อัจฉรพรรณ หอมรส 75.นางอจลา ณ ระนอง 76.นางจุฑารัตน์ นิลเปรม 77.นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ 78.พ.อ.หญิง ธณตศกร บุราคม 79.นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย

คนนามสกุลดังตบเท้าเข้าสภาสูง

80.นางวาสนา ยศสอน 81.น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย 82.นายขจรศักดิ์ ศรีวิราช 83.นายสิทธิกร ธงยศ 84.นายโชคชัย กิตติธเนศวร 85.นายกิติศักดิ์ หมื่นศรี 86.นายเอนก วีระพจนานันท์ 87.นายสมชาย เล่งหลัก 88.น.ส.นวลนิจ หงษ์วิวัฒน์ 89.นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ 90.นายสุนทร พฤกษ พิพัฒน์ 91.พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย 92.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร 93.นายเศก จุลเกษร 94.นายสืบศักดิ์ แววแก้ว 95.พล.ต.ต.สุนทร ขวัญเพ็ชร 96.พ.ต.ท.สุริยา บาราสัน 97.นายบุญส่ง น้อยโสภณ 98.นายฉลอง ทองนะ 99.พล.ต.ต.อังกุร คล้ายคลึง 100.พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ 101.นายสมศักดิ์ จันทร์แก้ว 102.น.ส.อมร ศรีบุญนาค 103.นางปวีณา สาระรัมย์ 104.นายสมชาย นุ่มพูล 105.นายพิมาย คงทัน 106.นายสาลี สิงห์คำ 107.นายเดชา นุตาลัย 108.นางกัลยา ใหญ่ประสาน 109.น.ส.นิชาภา สุวรรณนาค 110.นายชูชาติ อินสว่าง 111.นายจิระศักดิ์ ชูความดี 112.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม 113.นายสัมพันธ์ ชัยวิเศษจินดา 114.นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม

อดีต สว.-คนการเมืองหวนคืนเวที

115.นายนิรัตน์ อยู่ภักดี 116.นายอภิชา เศรษฐวราธร 117.นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ 118.นายนพดล อินนา 119.นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ 120.นายปฏิมา จีระแพทย์ 121.นายนิพนธ์ เอกวานิช 122.นางวรรษมนต์ คุณแสน 123.นายพิชาญ พรศิริประทาน 124.นางสุมิตรา จารุกำเนิดกนก 125.นางสมศรี อุรามา 126.นางเบ็ญจมาศ อภัยทอง 127.นายชัยธัช เพราะสุนทร 128.น.ส.มณีรัฐ เขมะวงค์ 129.น.ส.ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย 130.นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร 131.นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ 132.นางธารนี ปรีดาสันติ์ 133.นางรจนา เพิ่มพล 134.น.ส.ปุณณภา จินดาพงษ์ 135.นายพละวัต ตันศิริ 136.นายณรงค์ จิตราช 137.นายวีรยุทธ สร้อยทอง 138.นายธนชัย แซ่จึง 139.นายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต 140.น.ส.ตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ 141.นายชินโชติ แสงสังข์ 142.น.ส.เข็มรัตน์ สุรเมธีมาณพ 143.น.ส.วิภาพร ทองโสด 144.นายประกาสิทธิ์ พลซา 145.นายจตุพร เรียงเงิน 146.นางสมพร วรรณชาติ 147.นายชวภณ วัธนเวคิน 148.นายแล ดิลกวิทยรัตน์ 149.นายปิยพัฒน์ สุภาวรรณ 150.นายอมรศักดิ์ กิจธนานันท์

“วุฒิชาติ-กัมพล-มานะ”ตามเป้า

151.นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร 152.นายกัมพล สุภาแพ่ง 153.นายพิศจน์ รัตนวงศ์ 154.น.ส.ภาวนา ว่องอมรนิธิ 155.นายอัครวินท์ ขำขุด 156.นายสุวิทย์ ขาวดี 157.นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ 158.นายณภพ ลายวิเศษกุล 159.นางประทุม วงศ์สวัสดิ์ 160.นายกมล สุขคะสมบัติ 161.นายสรชาติ วิชยสุวรรณพรหม 162.นายพรเพิ่ม ทองศรี 163.นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ 164.นายกัมพล ทองชิว 165.นายสุพัตรชัย เตียวเจริญโสภา 166.นายขวัญชัย แสนหิรัณย์ 167. นายนพดล พริ้งสกุล 168.นายชาญวิศว์ บรรจงการ 169.นายมานะ มหาสุวีระชัย 170.น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ร.น. 171.นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล 172.นายสุวิช จำปานนท์ 173.นายนฤพล สุคนธชาติ 174.นายพิบูลย์อัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ 175.นายวิเชียร ชัยสถาพร 176.นายปราณีต เกรัมย์ 177.น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ 178.นายอะมัด อายุเคน 179.นายชวพล วัฒนพรมงคล 180.นางเอมอร ศรีกงพาน

“นิเวศ-ยุทธนา” รีเทิร์นอีกรอบ

181.นายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ 182.นายกิตติพันธ์ อนันตกูลจิรโชติ 183.นายประเทือง มนตรี 184.นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล 185.นายสมดุลย์ บุญไชย 186.นายสมหมาย ศรีจันทร์ 187.นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ 188.นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา 189.นายธนภัทร ตวงวิไล 190.นายศรายุทธ ยิ้มยวน 191.พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี 192.นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ 193.นายอลงกต วรกี 194.นายณัฐกิติ์ หนูรอด 195.นายภมร เชาว์ศิริกุล 196.พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ 197.นายชูชีพ เอื้อการณ์ 198.นายวราวุธ ตีระนันทน์ 199.นางวลีรักษ์ พัชระเมธาพัฒน์ 200.นายเอกชัย เรื่องรัตน์

กมล รอดคล้าย

สว.สายเขียว-บ้านใหญ่ยึดสภาสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเป็น สว. ภายใน 5 วันนับจากวันเลือก ในจำนวนว่าที่ สว.ทั้ง 200 คน พบเป็นเครือข่ายนักการเมืองในอดีต และปัจจุบัน เครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เกินกว่าครึ่ง รวมถึงยังมีนักวิชาการกลุ่ม NGO และภาคประชาสังคมด้วย เช่น ว่าที่ สว.จากกลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา นายกมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนหน้านี้เป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรค ภท. และอดีตที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ บ้านใหญ่ปราจีนบุรี) ยังมีชื่อนายอัษฎางค์ แสวงการ เจ้าของวิทยาลัยเทคโนโลยีขอนแก่น อดีตผู้สมัคร สส.ขอนแก่น พรรค พปชร. เมื่อการเลือกตั้งปี 2566

ทีมพยัคฆ์ไพร-เด็ก “ดร.ปุ” เข้าวิน

กลุ่มที่ 8 กลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน มีนายจิระศักดิ์ ชูความดี อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตหัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร เจ้าของฉายามือปราบป่าไม้เบอร์ 1 ทีมงานเดียวกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายนพดล อินนา อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย อดีตเลขานุการ รมว.ยุติธรรม ยุค ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รุ่นก่อตั้งกับนายทักษิณ ชินวัตร นายสัมพันธ์ ชัยวิเศษจินดา ที่ปรึกษาตลาดศรีเมือง ตลาดค้าส่งรายใหญ่ภาคกลาง เจ้าของคือนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ จากพรรค ภท. นายนิรัตน์ อยู่ภักดี อดีต สว.ชัยภูมิ ปี 2543 นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ อดีต ผวจ.หนองคาย

“วีรยุทธ” ทีมก้าวหน้าฝ่าบล็อกโหวต

กลุ่มที่ 9 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME มีนายวีรยุทธ สร้อยทอง นักนโยบายคณะก้าวหน้า ที่ทำนโยบายน้ำประปาดื่มได้ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ส่วนคนที่ได้คะแนนสูงสุดคือนายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานที่ปรึกษาบริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด อดีตประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด (PKSB) บริษัทในเครือ ภูเก็ตพัฒนาเมือง (PKCD) ในกลุ่มนี้ยังมีนายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ที่ทำธุรกิจผู้ผลิตและส่งออกยางพารา ยางธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศไทย กลุ่ม 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว มีนายกัมพล สุภาแพ่ง อดีต สส.เพชรบุรี พรรค ปชป. แต่สอบตกเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยังมีรายชื่อที่น่าสนใจ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ เจ้าของท่าเรือเฟอร์รี่ เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด นายณภพ ลายวิเศษกุล นักธุรกิจ เจ้าของโรงแรมลายทอง กรรมการหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี

สายเพื่อไทยได้เข้ามาหลายคน

กลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม มีนายพรเพิ่ม ทองศรี อดีตหัวหน้าคณะทำงาน รมช.มหาด ไทย เป็นพี่ชายนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย จากพรรค ภท. และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายเนวิน ชิดชอบ นอกจากนี้ยังมีนายมานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ ปัจจุบันมีกระแสข่าวว่ายังคงช่วยงานพรรค พท. ในพื้นที่ น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ อดีตสมาชิก และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ทรท. สมัยนายทักษิณ เป็นอดีตที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ก่อนหน้านี้ เคยไปช่วยงานพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตอนเลือกตั้งปี 2562 แต่โดนยุบพรรค

เด็กเซราะกราวโปรไฟล์ 1 บรรทัด

ส่วนกลุ่ม 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา มีบางคนน่าสนใจ เช่น นายปราณีต เกรัมย์ ค้นข้อมูลในโซเชียลมีเดียพบว่า เขียนแนะนำตัวเองเพียงหนึ่งบรรทัด ระบุว่าเป็นอดีตนักฟุตบอล และพบว่านายปราณีตผ่านการคัดเลือกมาจาก จ.บุรีรัมย์ จนสุดท้ายได้รับเลือกเป็น สว. ยังมีนายวิเชียร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) นายพิบูลย์อัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ อดีตที่ปรึกษานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน แกนนำพรรค ภท. สมัยเป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

“ชิบ-นันทนา-เทวฤทธิ์” มาสายสื่อ

กลุ่มที่ 17 มีนายนิรุตติ สุทธินนท์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ สมัยนางตรีนุช เทียนทอง เป็น รมว.ศึกษาธิการ มีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีต กสม. นายประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคลื่อนไหวประเด็นของภาคประชาสังคม กลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม มีสื่อมวลชนหลายคนติดเข้ารอบ เช่น นางนันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการสื่อ นายชิบ จิตนิยม ผู้ดำเนินรายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศชื่อดัง นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล อดีตนักข่าวอาวุโสที่ทำข่าวในพื้นที่ภาคใต้และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

อึ้ง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” แพ้หลุดลุ่ย

นอกจากนี้ยังมีกรณีพลิกล็อก เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และน้องเขยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ได้เพียง 10 คะแนน ไม่เพียงพอแม้แต่จะอยู่ในบัญชีสำรอง ทั้งที่ถูกคาดหมายว่าได้รับการวางตัวถึงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ส่วนนายศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ยุครัฐบาลพลังประชาชน เคยมีบทบาทสูงในวุฒิสภาปี 2543 ติดแค่อันดับสำรองเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีกระแสว่าจะวางตัวนายศรีเมือง เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ประกบนายสมชาย เพื่อเดินงานในสภาสูง ส่วนรายชื่อบัญชีสำรองที่น่า สนใจอื่นๆ อาทิ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรอง ผบ.ตร. และนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความชื่อดัง อยู่บัญชีสำรองเช่นกัน

“บิ๊กเกรียง-มงคล” ชิงเก้าอี้ ปธ.วุฒิฯ

สำหรับแคนดิเดตตำแหน่งประธานวุฒิสภาคนใหม่ เริ่มมีการเคลื่อนไหวหลังทราบผลการนับคะแนน วางไว้ที่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.และอดีตแม่ทัพภาค 4 ที่ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มบริหารราชการแผ่นดินฯ เป็นอดีตเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 22 มีคอนเนกชันที่ดีกับพรรคภูมิใจไทย ก่อนมาลงสมัคร สว. เคยเป็นประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และยังมีแคนดิเดตที่น่าสนใจ อาทิ นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีต ผวจ.บุรีรัมย์ ถือเป็นสายตรงนายเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีของภูมิใจไทย รวมถึงมีการหารือกันว่าตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาที่มี 2 คน อาจให้มีผู้หญิงเข้ามาเป็น 1 ตำแหน่ง

บุรีรัมย์ครองแชมป์กวาด สว.14 ที่

ต่อมาช่วงเย็น แฟนเพจเฟซบุ๊กโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ โพสต์ข้อความว่า #สว67 200 คน มาจากจังหวัดไหนบ้าง 1.บุรีรัมย์ มีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคน มีสัดส่วนจำนวน สส. 10 ที่นั่ง เลือกตั้ง 2566 พรรคภท.กวาดเรียบทั้งจังหวัด มี สว. 14 คน 2.กรุงเทพมหานคร มีประชากรประมาณ 5.4 ล้านคน มีสัดส่วนสส. 33 ที่นั่ง เลือกตั้ง 2566 พรรค ก.ก.ได้ 32 ที่นั่ง มี สว. 9 คน 3.สุรินทร์ มีประชากรประมาณ 1.38 ล้านคน มีสัดส่วน สส. 8 ที่นั่ง แบ่งเค้กกันระหว่างพรรค ภท. 5 ที่นั่ง และพรรค พท. 3 ที่นั่ง มี สว. 7 คน 4.พระนครศรีอยุธยา มีประชากร 8 แสนคน มีสัดส่วนสส. 5 ที่นั่ง พรรค ภท.ได้ 3 ที่นั่ง มี สว. 7 คน นอกจากนี้มี 14 จังหวัดไม่มี สว. ได้แก่ พะเยา กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ตาก นราธิวาส เพชรบูรณ์ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร สระแก้ว อุตรดิตถ์ และอุดรธานี

“แสวง” ให้ลุ้นประกาศผลทางการ

ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน กกต. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.แถลงสรุปภาพรวมว่า ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย สำนักงาน กกต.ประกาศผลคะแนนผ่านทางเว็บไซต์ไปแล้ว ตัวจริง 200 คน และตัวสำรอง 100 คน ส่วนการประกาศผลทางการต้องรอไว้อีกไม่น้อยกว่า 5 วัน กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องฮั้วหรือบล็อกโหวต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการยื่นคำร้องมาแล้วทั้งหมด 614 คำร้อง จำแนกเป็นเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อคิดเป็น 65% ส่วนคำร้องเรื่องไม่สุจริต 14% เช่น ประเด็นการให้ทรัพย์สิน ส่วนที่เหลือเป็นคำร้องจ้างลงสมัคร เรียกรับให้ลงคะแนน รวมทั้งการนับคะแนนและเรื่องเจ้าหน้าที่ขานคะแนนในวันเลือกในระดับอำเภอร้องมากที่สุด คดีเหล่านี้เราให้ใบส้มไป กำลังดำเนินการขึ้นมา ส่วนคำร้องระดับจังหวัดมี 75 เรื่อง ส่วนระดับประเทศยังไม่มี

แสวง บุญมี

จับตาก๊วน สว.พะยี่ห้อพรรคใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเรื่องพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นายแสวงตอบว่า กรณีร้องว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ มีอยู่ 3% ที่ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่ม สว.ส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง กระจุกตัวเยอะมาก เราตรวจสอบอยู่แล้วอยู่ที่ว่าตรวจสอบแล้วผิดกฎหมายเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เราถึงพยายามเอากฎหมายไปใช้ให้ได้ คนบอกว่ามีโพยมีบล็อกโหวต แต่ไม่มีใครกล้าพูดว่าผิดกฎหมายสักคน นอกจากเราไปสืบแล้วไปเห็นว่าเรื่องแบบนี้ที่มาเป็นกลุ่มก้อน มีการให้เงินให้ประโยชน์มีการจัดเลี้ยง เรากำลังหาหลักฐานตรงนี้มาสนับสนุน ถ้ามีแบบนี้ผิดกฎหมายแน่นอน อย่างที่คนไปเจอโรงแรมก่อนจะมาเลือก กลุ่มคนมาก่อน 3-4 วัน ไปรวมตัวกัน มีหลายโรงแรม ถามว่าเขารวมกันเป็นสิทธิตามกฎหมาย นอกจากเขาไปทำเกินกว่ากฎหมายห้าม เช่น รับจัดเลี้ยง ให้ค่ารถ ค่าที่พัก ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องหา

เผยไม่พบการจ่ายเงินในห้องน้ำ

เมื่อถามว่ามีรายงานผู้สมัคร สว.บางคนเข้าห้องน้ำค่อนข้างนาน นายแสวงตอบว่า มีคนของเราอยู่ในนั้น ยอมรับว่ามีผู้สมัครบางคนคุยกันจริง แต่จับยากเหมือนโพย เขาอ้างว่าทำการบ้านมา เขาทักทายกันปกติ ยังไม่พบการจ่ายเงินในห้องน้ำ ขึ้นอยู่ที่การสืบสวนแล้วว่ามีการจ่ายเงินทีหลังหรือไม่ อาจไปดูช่องทางการเงินเขาได้ แต่การมาจ่ายเงินในห้องน้ำคิดว่าไม่มี เราดูแลอยู่แล้วประเด็นคนที่ได้คะแนนเท่ากัน หรือคนที่ได้ 0 คะแนน ต้องหาว่าถูกจ้างหรือไม่ ต้องพิสูจน์ “คิดว่าน่าจะจดมาจากบ้านแล้ว ทำการบ้านมาแล้ว ถ้าจะทำเขามีข้อมูลก่อนแล้ว”

อ้างสารพัดสาเหตุเลือกมาราธอน

นายแสวงยังอธิบายถึงสาเหตุที่การเลือก สว.ใช้เวลานานกว่า 18 ชั่วโมงว่า ตอนเช้ามีหน่วยประมาณ 150 คนต่อกลุ่ม ใช้เวลาลงเลข 10 หมายเลข ต้องมาอ่านแต่ละกลุ่ม 1,500 ชื่อ อ่านช้า เพราะต้องชัดเจนไม่ต้องการให้คนประท้วง พอช่วงบ่ายเลือกรอบไขว้คิดว่าคน 40 คน จะใช้เวลาน้อย แต่นับเป็นสาย สายหนึ่งใช้เวลาอ่าน 8,000 ครั้ง เพราะมี 4 กลุ่ม เวลาลงคะแนนใช้เวลามากกว่าเดิม บางคนใช้เวลา 12 นาทีต่อคน และอ่านช้าๆทีละกลุ่ม ตอนเช้าอ่าน 20 กลุ่มพร้อมกัน ตอนเย็นอ่านแต่ละสายพร้อมกัน แต่ละสายมี 5 กลุ่ม ต้องอ่านทีละกลุ่มในสายนั้น ใช้วิธีขีด 4 กระดานพร้อมกัน ทำให้ช้า เพื่อความแน่นอนจึงใช้เวลา ด้วยกระบวนการแบบนี้เร่งก็ไม่ได้ ถ้าเร่งก็รวนทันที เราอ่านช้าชัดเจนโปร่งใส ไม่อย่างนั้นเสียเวลา เราบอกว่าเรามีกล้องวงจรปิด 4 ตัวดูแต่ละกลุ่ม เพื่อดูพฤติกรรมคน ศาลจะใช้ตัดสินถ้ามีการร้องเกิดขึ้น

ชัยธวัช ตุลาธน

“ชัยธวัช” หนุนรับรองก่อนสอยทีหลัง

ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า สว.ส่วนใหญ่เชื่อมโยงพรรคการเมืองบางกลุ่ม สว.หลายคนที่เข้ามาถูกตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์การแบ่งกลุ่มอาชีพหรือไม่ ทั้งนี้ กกต.ควรรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลัง เพราะหากต้องการให้ตรวจสอบประเด็นปัญหาจนเป็นข้อยุติ อาจใช้เวลานาน ทำให้สว.ปัจจุบันต้องทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ ประเด็นที่กกต.ต้องทำตอนนี้คือ สืบสวนสอบสวนว่ามีการใช้เงินจริงหรือไม่ หาก กกต.ไม่ทำทั้งที่ผู้สมัครพูดตรงกันมีการให้เงิน อาจมีผลกระทบต่อการไว้วางใจต่อกกต. เมื่อถามว่าประเมินว่า สว.สายประชาธิปไตยได้รับเลือก 20% นายชัยธวัชย้อนถามว่า “เยอะขนาดนั้นเลยเหรอ ผมยังไม่ได้เช็ก ขอแสดงความยินดีที่สามารถหลุดรอดผ่านมาได้โดยไม่ใช้อามิสสินจ้าง”

แฉใบลงคะแนนกาเลขตรงกันหมด

ด้านนายสมชาย แสวงการ สว. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “แชร์สนั่นโซเชียล blockvote กกต.น่าจะตรวจสอบดูว่าทำไมใจตรงกัน หรือพกโพยเข้าห้องสอบ กาเหมือนกันเป๊ะได้อย่างไร” ต่อมานายสมชายโพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง นำใบผลลงคะแนนในกลุ่มอาชีพต่างๆ พบว่ามีหลายคนได้ 0 คะแนน ระบุว่า “นี่ไงหลักฐาน 0 คะแนน ของขบวนการจัดฮั้วเลือกสว. ผู้สมัครที่ฝ่าด่านมาตั้งแต่อำเภอ จังหวัด มาถึงระดับประเทศ ล้วนมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นคนละ 1 หมื่นบาท แต่เสียเงินเสียเวลามาเลือกที่อิมแพ็คเมืองทองธานีแล้ว แม้การลงคะแนนรอบแรกตรงตามกลุ่มอาชีพ ยังไม่เลือกตัวเองเลย จึงปรากฏหลักฐานให้เห็นชัดเจนว่ามีผู้ไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง หรือ 0 คะแนนทุกกลุ่ม หมายถึงเทคะแนนให้บุคคลในกลุ่มทั้งหมด แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าฮั้วเลือก สว. สภาฮั้ว”

“สนธิญา” ชงยื่นศาล รธน.สั่งโมฆะ

นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัคร สว. กล่าวว่า ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ขอให้พิจารณาตรวจสอบ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัยการเลือก สว.ปี 2567 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 วรรคสองหรือไม่ การกระทำของ กกต.เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ ที่อาศัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มองว่าการเลือกกันเองแบบนี้ส่อให้เกิดการฮั้ว และขอเรียกร้องให้การเลือกครั้งนี้เป็นโมฆะ และจัดการคืนเงินค่าสมัครให้กับผู้สมัคร หากอัยการสูงสุดไม่ตอบใน 30 วัน จะร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“วันนอร์” เชื่อ สว.ใหม่อิสระกว่าเดิม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา กล่าวว่า ยังไม่เห็นหน้าตา สว. 200 คนชัดเจน การพูดเรื่องคุณภาพจึงเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยน่าจะมีความหลากหลาย ทั้งคนมีชื่อเสียง ผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชนในหลายอาชีพ ไม่เฉพาะคนเก่งอย่างเดียว คนไม่เก่งก็ได้เป็น สว.ด้วย รวมถึงคนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ เพราะเป็นระบบเลือกตั้งเราหนีไม่พ้น ควรให้โอกาส สว.จากการเลือกระบบใหม่ ทำหน้าที่ก่อน หวังว่าจะมีจิตสำนึกว่าเป็น 1 ใน 200 คนระดับประเทศรักษาคุณภาพตัวเองได้ ทั้งนี้ สว.ชุดใหม่ไม่ได้อยู่ในอาณัติใครมากนัก จะอยู่ภายใต้พรรคการเมืองก็ไม่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองจะไปใช้อะไรเขาได้ การทำงาน สว.ชุดใหม่คงเป็นอิสระมากกว่า สว.ชุดที่ผ่านมา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...