"ชูศักดิ์" นำเพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ- "ชนินทร์" หวั่น ซ้ำรอยปี 57

"ชูศักดิ์" นำทีมเพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ลดสับสน-ลดงบฯ ด้าน "ชนินทร์" ชี้ ระบบออกเสียงแบบเดิม "ปิดตายประชามติ" หวั่น ซ้ำรอยบอยคอตเลือกตั้ง 2557

วันที่ 18 มิ.ย. ที่รัฐสภา พรรคเพื่อไทยเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ วันนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำเสนอร่างฯ ของพรรคเพื่อไทย

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อนำไปสู่การทำประชามติสอบถามประชาชน และการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พรรคเพื่อไทยได้เสนอพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564

1. จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดให้วันออกเสียงให้สามารถกำหนดเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีการเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากครบวาระได้ จึงทำให้ต้องกำหนดวันออกเสียงแยกต่างหากจากวันเลือกตั้ง ทั้งที่อาจอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เป็นการเพิ่มภาระงาน และงบประมาณแผ่นดินในการจัดการออกเสียง อีกทั้งเป็นภาระกับประชาชนที่ต้องมาใช้สิทธิออกเสียงหลายครั้ง ดังนั้นจึงอาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้


2. สำหรับวิธีการออกเสียง จากเดิมที่กำหนดให้การออกเสียงกระทำโดยใช้บัตรออกเสียงเป็นหลัก ส่วนวิธีการออกเสียงโดยวิธีอื่น เป็นเพียงทางเลือกที่คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีได้ แก้ไขเป็นการกำหนดวิธีการออกเสียงสามารถกระทำได้โดยวิธีการต่างๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อความสะดวกของประชาชนผู้มาใช้สิทธิ

3. การแก้ไขในเรื่องผลการออกเสียงที่ถือว่ามีข้อยุติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเต็มจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ ซึ่งเห็นว่าไม่ควรแยกประเภทการออกเสียงว่าเป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ หรือเป็นเพียงการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี เนื่องจากกระบวนการจัดการออกเสียงเป็นกระบวนการเดียวกัน และใช้งบประมาณจำนวนมาก เป็นการไม่คุ้มค่ากับงบประมาณหากจะจัดการออกเสียงเพียงเพื่อให้การปรึกษา และหากกำหนดให้ผลการออกเสียงต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น (เสียงข้างมากเด็ดขาด) เห็นว่าเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

...

เนื่องจากการออกเสียงประชามติต่างกับการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแปรในการหาเสียงและรณรงค์ให้คนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง (ซึ่งหลายครั้งยังพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) แต่การออกเสียงประชามติเป็นเพียงการสอบถามความเห็นของประชาชนในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งประเด็นนั้นอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป จึงไม่มาใช้สิทธิออกเสียง ดังนั้น จึงไม่ควรนำจำนวนประชาชนในส่วนนี้มาเป็นผลต่อการออกเสียง และควรแก้ไขให้การออกเสียงถือเพียงเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ จะจัดทำประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ใช้เพียงเสียงข้างมากธรรมดา

4. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ต้องจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุน ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ... ทั้ง 4 ฉบับที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล และร่างของคณะรัฐมนตรี ว่าเป็นการมุ่งเน้นที่จะแก้ไขให้การทำประชามติ มีกระบวนการที่เป็นปกติและสอดคล้องกับบริบทของสังคม เปิดกว้างให้เกิดการรณรงค์และใช้สิทธิได้กว้างขวางมากขึ้น และสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้มาใช้สิทธิได้อย่างตรงไปตรงมา ต่างจากวิธีการตามพระราชบัญญัติปัจจุบัน ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และอาจเป็นพันธนาการที่ปิดตายการหาทางออกให้สังคม ตนจึงเห็นด้วยกับหลักการของพรรคเพื่อไทยทั้ง 4 เรื่อง ที่จะทำให้กลไกการทำประชามติ มีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่

1) การจัดให้การออกเสียงประชามติสามารถจัดไปพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้
2) การจัดให้สามารถลงคะแนนผ่านไปรษณีย์และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
3) ระบุให้มีการรณรงค์ได้เสรีทั้งจากฝั่งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
4) การปรับเงื่อนไขการผ่านประชามติ จากระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น (double majority) เป็นระบบเสียงข้างมากธรรมดา (plurality)

ทั้งนี้ เงื่อนไขการผ่านประชามติแบบระบบ double majority กำหนดให้การทำประชามติต้องผ่าน 2 เงื่อนไข คือ ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องมีจำนวนเสียงเห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในคราวนั้นด้วย ซึ่งการกำหนดเกณฑ์จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธินี้ อาจสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดกระบวนการบอยคอตการลงคะแนน จนผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ถึง 50% และทำให้ไม่สามารถหาข้อยุติจากการทำประชามติครั้งนั้นได้ เพราะหากย้อนดูในอดีต การทำประชามติทั้ง 2 ครั้งในประเทศไทย ไม่เคยมีครั้งใดมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 60% และหากผู้ไม่เห็นด้วยรวมตัวกันไม่มาใช้สิทธิ การทำประชามติทั้ง 2 ครั้งนั้น จะมีผู้ออกมาลงคะแนนเพียง 30-40% และเท่ากับไม่สามารถหาข้อยุติได้

"ในการเลือกตั้งในปี 2557 มีการรณรงค์บอยคอตการลงคะแนน จนทำให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ นำไปสู่ปัญหาความวุ่นวายของประเทศมาแล้ว เราจึงไม่สมควรออกแบบกลไกการทำประชามติ ที่อาจจะนำประเทศไปสู่จุดนั้นอีก" นายชนินทร์ กล่าว

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า หลักการในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติที่พิจารณากันอยู่นี้ มีเป้าประสงค์ที่จะแก้ไขระบบ double majority ตัดเกณฑ์ในการนำเงื่อนไขคนมาลงคะแนนที่ต้องเกินกึ่งหนึ่ง ออกทั้ง 4 ฉบับ โดยร่างของคณะรัฐมนตรีและพรรคก้าวไกลเสนอให้มีการเปลี่ยนระบบการเลือกเป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว (single majority) ที่คงไว้เพียง "เสียงเห็นด้วย ต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนน" หรือเท่ากับต้องมากกว่าเสียงไม่เห็นด้วยและงดออกเสียงรวมกัน ซึ่งก็อาจทำให้เกิดปัญหาการตีความได้เช่นกัน เพราะเจตนาการลงคะแนน "งดออกเสียง" หรือ "บัตรที่เสีย" ของแต่ละคน เป็นทางเลือกที่จะแสดงออกทางหนึ่ง ไม่สมควรนำมาตีค่าเป็นการ "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" ทั้งสิ้น โดยส่วนตัวจึงสนับสนุนร่างของพรรคเพื่อไทยมากกว่า ที่เสนอให้พิจารณาด้วยระบบเสียงข้างมากธรรมดา (Plurality) ที่แยกคะแนนทั้งหมดออกจากกัน และให้การทำประชามติจะได้ข้อยุติได้ ก็ต่อเมื่อเสียงเห็นด้วยมีคะแนนมากเป็นอันดับ 1 เท่านั้น ซึ่งมีความเรียบง่าย และไม่ต่างจากการลงคะแนนเลือกตั้งอื่นๆ ที่ประชาชนในประเทศเข้าใจอยู่แล้ว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...