ปิยบุตร ยก 7 ข้อ ชี้ กกต.ยื่นยุบก้าวไกลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เทียบกรณีไทยรักษาชาติไม่ได้

“ปิยบุตร” ยก 7 ข้อ วิเคราะห์ด้วยข้อกฎหมาย ชี้ กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลั่น เทียบกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติไม่ได้ ซัด รวบหัวรวบหางยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญทันทีไม่ได้

วันที่ 17 มิถุนายน 2567 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก โดยยกข้อกฎหมายประกอบถึงเหตุที่คำร้องยุบพรรคก้าวไกลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผ่าน 7 ข้อ ระบุว่า 

1. การยื่นคำร้องยุบพรรคต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณี กกต. ยื่นคำร้องยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92-93 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรค ส่วนมาตรา 93 กำหนดกระบวนการขั้นตอนให้ กกต. ดำเนินการในกรณียุบพรรคไว้ โดยให้ไปออกระเบียบเพิ่มเติม เพื่อขยายความรายละเอียด ซึ่งก็คือระเบียบ กกต. นั่นเอง

ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ตั้งแต่ ข้อ 5-9 กำหนดกระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาที่นายทะเบียนและ กกต. ต้องทำเอาไว้ ตั้งแต่นายทะเบียนทราบเรื่อง นายทะเบียนตั้งพนักงานสอบสวนเบื้องต้น นายทะเบียนตั้งคณะบุคคลทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน การแจ้งให้พรรคการเมืองได้ทราบข้อเท็จจริงและได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน การเสนอเรื่องให้ กกต.พิจารณา ไปจนถึงการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

...

2. ผลของการไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด นายปิยบุตร ระบุต่อไปว่า ในวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง ต้องเรียนเรื่องเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของการกระทำขององค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ 5 เหตุย่อย 

กลุ่มแรก เหตุภายนอก

(1) ไม่มีอำนาจกระทำ เช่น กฎหมายกำหนดให้องค์กรหนี่งมีอำนาจ แต่อีกองค์กรหนึ่งกลับไปใช้อำนาจกระทำการ หรือกฎหมายกำหนดให้องค์กรหนึ่งมีอำนาจเฉพาะในเขตพื้นที่นี้ แต่กลับไปใช้อำนาจนอกเขตพื้นที่ 

(2) ไม่กระทำตามรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญ เช่น กฎหมายกำหนดให้ทำคำสั่งเป็นหนังสือ เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องให้เหตุผลประกอบคำสั่ง แต่ไม่ทำ 

(3) ไม่กระทำตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดว่าก่อนออกใบอนุญาตให้ดำเนินโครงการหนึ่ง ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือจัดทำประชาพิจารณ์เสียก่อน แต่ไม่ทำ หรือกฎหมายกำหนดว่าก่อนมีมติหรือคำสั่ง ต้องเรียกคู่กรณีมาชี้แจง โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานเสียก่อน แต่ไม่ทำ 

กลุ่มสอง เหตุภายใน 

(4) เนื้อหาของการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ไม่เคารพหลักความเสมอภาค ไม่เคารพหลักความได้สัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุ 

(5) ใช้ดุลยพินิจโดยบิดผันไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น ออกคำสั่งไปโดยมีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด ออกคำสั่งโดยต้องการกลั่นแกล้ง ไม่สุจริต 

“กรณี กกต. มีมติเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุที่ 3 คือ ไม่กระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด การกระทำใดที่ไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดนี้ จะส่งผลให้การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและต้องถูกเพิกถอน ก็ต่อเมื่อกระบวนการขั้นตอนที่ไม่ได้ดำเนินการตามนั้นเป็นกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญด้วย” 

สำหรับกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ มี 2 ประการ โดยประการแรก หากดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนครบถ้วนแล้วอาจส่งผลให้มีมติหรือออกคำสั่งแตกต่างไปจากการไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน เช่น ออกใบอนุญาตไปโดยไม่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือไม่จัดทำประชาพิจารณ์ ถ้าหากมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือจัดทำประชาพิจารณ์ ก็อาจไม่ออกใบอนุญาต เช่นนี้ การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการจัดทำประชาพิจารณ์ จึงเป็นกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ

ประการที่สอง กระบวนการขั้นตอนนั้นกำหนดไว้เพื่อประกันสิทธิของคู่กรณี เช่น ก่อนออกคำสั่งซึ่งอาจส่งผลกระทบหรือผลร้ายต่อคู่กรณี ก็ต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน โต้แย้งเสียก่อน อันเป็นการประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้ง เช่นนี้ กระบวนการขั้นตอนนี้ ย่อมถือเป็นสาระสำคัญ

ทั้งนี้ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดให้ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บุคคลหรือคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้งต้องให้ผู้ถูกร้องหรือพรรคการเมืองนั้น แล้วแต่กรณี มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา

“การให้ผู้ถูกร้องหรือพรรคการเมือง มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา เป็นกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เพราะเป็นการประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้ง การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ ก็อาจส่งผลให้ยุติเรื่องในชั้น กกต. โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ เมื่อการดำเนินการในชั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองและ กกต. ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ แต่กลับดำเนินการต่อเนื่องไปจนมีมติยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมถือได้ว่า มติการยื่นคำร้องนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถูกเพิกถอนไป”

3. ข้ออ้างที่ว่า กรณีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล คือการดำเนินการตามมาตรา 92 ไม่ใช่มาตรา 93 จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ฟังไม่ขึ้น เพราะกระบวนการยุบพรรคในระบบกฎหมายไทย ต้องผ่านกระบวนการ 2 ขั้นตอน โดย 2 องค์กร 

ขั้นตอนแรก การสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องยุบพรรค ขั้นตอนนี้ ผู้มีอำนาจ คือ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง (กฎหมายกำหนดให้เป็นเลขาธิการ กกต.) ส่วนขั้นตอนที่สอง การไต่สวน พิจารณาคดี และวินิจฉัย ขั้นตอนนี้ ผู้มีอำนาจ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ โดยบทบัญญัติในมาตรา 92 กำหนด เหตุแห่งการยุบพรรคไว้ใน (1) - (4) หากมีหล้กฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามเหตุเหล่านั้น ก็ให้ กกต. ยื่นคำร้องยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการยุบพรรคต่อไป 

ส่วนการดำเนินการในชั้นของ กกต. ก่อนที่จะยื่นคำร้องยุบพรรค ก็ต้องมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า เสียก่อน ซึ่งกระบวนการเหล่านั้นกำหนดไว้ในมาตรา 93 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ก่อนเสนอความเห็นให้ กกต. พิจารณาต่อไป โดยรายละเอียดของกระบวนการขั้นตอนต่างๆ กำหนดไว้ในระเบียบ กกต. ซึ่งก็คือระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 

กล่าวโดยง่ายๆ ก็คือ มาตรา 92 คือ เหตุแห่งการยุบพรรค มาตรา 93 คือ กระบวนการขั้นตอน พรรคถูกยุบด้วยเหตุใดบ้าง ดูมาตรา 92 ส่วนจะดำเนินการเพื่อให้ได้หลักฐานและมีมติว่าพรรคนั้นกระทำการอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค ต้องดำเนินการตามมาตรา 93 และระเบียบ กกต. 2566 การอ่านตัวบทกฎหมาย ต้องอ่านทั้งระบบให้สอดคล้องต้องกัน มิใช่อ่านแยกส่วนเป็นท่อนเพื่อทำตามใจตามธงตามเป้าของตน การอ่านกฎหมายแยกส่วนกันว่า มาตรา 92 คือ ช่องทางการยื่นคำร้องยุบพรรคช่องทางหนึ่ง และมาตรา 93 คือ ช่องทางการยื่นคำร้องยุบพรรคอีกช่องทางหนึ่ง ส่วนจะเลือกใช้ช่องทางไหนก็แล้วแต่ กกต. นับเป็นการอ่านกฎหมายที่ประหลาด 

“หากอ่านกฎหมายแบบประหลาดวิปริตเช่นนี้ ผลย่อมกลายเป็นว่า การเสนอคำร้องยุบพรรคมี 2 กระบวนการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (แบบหนึ่ง ไม่ต้องให้พรรคการเมืองชี้แจง แต่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย กับอีกแบบหนึ่ง ต้องให้พรรคการเมืองโต้แย้งเสียก่อน) ทั้งๆ ที่ต่างก็เป็นคำร้องขอให้ยุบพรรคเหมือนกัน รูปคดีเหมือนกัน เหตุแห่งการยุบพรรคเหมือนกัน ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเหมือนกัน และผลร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคเหมือนกัน

หากยังอ่านแบบประหลาดเช่นนี้ต่อไป ก็เท่ากับว่ามาตรา 93 และระเบียบ กกต. 2566 จะไม่มีที่ให้ใช้บังคับ เพราะ กกต. สามารถเลือกทางลัด ทางสะดวก ทางด่วน ด้วยมาตรา 92 ได้ทั้งหมด ไม่ให้พรรคการเมืองโต้แย้งเลย โดยอ้างว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า เช่นนี้แล้ว จะเขียนมาตรา 93 และระเบียบ กกต. 2566 ขึ้นมาทำไม”

นอกจากนี้ หากดูจากตัวอักษรแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 93 ยังได้อ้างถึงมาตรา 92 ถึงสองที่ ที่แรก ในวรรคแรก “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92…” และในวรรคสอง ”ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92…” ความข้อนี้ ก็ย่อมหมายความอย่างชัดเจนว่า กรณีมาตรา 92 และมาตรา 93 มีความสัมพันธ์กัน ใช้ควบคู่กัน 

4. ข้ออ้างที่ว่า กรณีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ก็ดำเนินการในทำนองเดียวกันกับกรณียุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น ฟังไม่ขี้น พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรคต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ณ เวลานั้นยังไม่มีระเบียบ กกต.เกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริง พยาน สืบสวน สอบสวน และมีมติยื่นคำร้องยุบพรรค ออกมาใช้บังคับ ในขณะที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาในตอนที่มีระเบียบ กกต. 2566 ซึ่งออกตามความมาตรา 93 ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น กกต. ก็ต้องปฏิบัติตตามระเบียบดังกล่าวด้วย จะอ้างว่าดำเนินการติดจรวดเหมือนสมัยที่พรรคไทยรักษาชาติโดนยื่นร้องยุบพรรคมิได้ 

5. ข้ออ้างที่ว่า กกต. ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้วว่าพรรคก้าวไกลใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ฟังไม่ขึ้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 คือ คดีตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากทราบว่ามีบุคคลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว 

ส่วนกรณีล่าสุด คือ คำร้องยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2) คดีตามรัฐธณรมนูญ มาตรา 49 และคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2) เป็นคนละกรณีกัน ดังจะเห็นได้จาก


หนึ่ง มาตรา 49 บุคคลใดยื่นคำร้องก็ได้ มาตรา 92 (1) (2) กกต.เป็นผู้ยื่นคำร้อง 

สอง มาตรา 49 การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ มาตรา 92 (1) (2) กระทำการล้มล้างการปกครองฯ / การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ / กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ 

สาม มาตรา 49 บุคคลใดร้องอัยการสูงสุด หากอัยการสูงสุดไม่รับหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน ให้ร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ มาตรา 92 (1) (2) นายทะเบียนและ กกต. ต้องดำเนินการสอบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และให้พรรคการเมืองได้โต้แย้ง ตามกระบวนการที่กำหนดในมาตรา 93 และระเบียบ กกต. 2566 และมีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สี่ มาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลิกการกระทำ ส่วนมาตรา 92 (1) (2) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค 

“ต่อให้ กกต. ยืนยันว่าต้องเป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าพรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ก็ตาม กกต. ก็ไม่สามารถรวบหัวรวบหาง ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที แต่ต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามมาตรา 92-93 และระเบียบ กกต. 2566 เสียก่อน เพราะเป็นคนละคดี คนละคำร้องกัน”

นอกจากนี้ ข้อหาที่พรรคก้าวไกลโดนใน 2 กรณีนี้ก็แตกต่างกัน ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 นั้น มีเพียงใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ เท่านั้น แต่ในคำร้องของ กกต.ในกรณีล่าสุดนี้ มีทั้งข้อหาตามมาตรา 92 (1) กระทำการล้มล้างการปกครองฯ และมาตรา 92 (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ดังนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองและ กกต. ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 93 และระเบียบ กกต. 2566 ตั้งแต่ ตั้งพนักงานสอบเบื้องต้น แจ้งข้อกล่าวหา ตั้งคณะบุคคลทำหน้าที่สอบสวนให้พรรคก้าวไกลโต้แย้ง ก่อนที่จะมีมติ

6. ข้ออ้างที่ว่า กกต. ใช้ข้อยกเว้นตามข้อ 11 วรรคสอง ของระเบียบ กกต. 2566 ฟังไม่ขึ้น โดยข้อ 11 วรรคสอง กำหนดว่า กรณีใดที่มิได้กำหนดไว้ หรือมีเหตุจำเป็น คณะกรรมการอาจกำหนด ยกเว้น หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้ บทบัญญัติในข้อ 11 วรรคสองนี้ เป็นข้อยกเว้น โดยใช้ได้ในสองกรณี ได้แก่ กรณีมิได้กำหนดไว้ หรือมีเหตุจำเป็น ซึ่งในส่วนของกรณีมิได้กำหนดไว้ ตัดออกไปได้เลย เพราะกรณีการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งนี้ ได้กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 7 วรรคสอง ขณะที่กรณีมีเหตุจำเป็น ก็ไม่ได้มีเหตุจำเป็นปรากฏอย่างประจักษ์ชัด อีกทั้ง กกต. ก็ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าต้องการใช้บทบัญญัติข้อ 11 วรรคสองนี้มากำหนด ยกเว้น หรือผ่อนผัน ข้อ 7 วรรคสอง และ กกต. ก็ไม่เคยแจ้งแก่พรรคก้าวไกลและสาธารณชนว่ามีเหตุจำเป็นอย่างไรจึงต้องใช้ข้อยกเว้นนี้ 

ในท้ายที่สุด ข้อ 11 วรรคสอง เป็นข้อยกเว้น จึงต้องใช้อย่างจำกัดอย่างยิ่ง ใช้ในกรณีจำเป็นจริงๆ และใช้อย่างพอสมควรแก่เหตุ เท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐานของคู่กรณี หรือใช้จนกระทบกับสาระสำคัญของระเบียบนี้ไปทั้งหมด การใช้ข้อ 11 วรรคสอง เพื่ออ้างว่าเป็นการยกเว้นหรือผ่อนผัน ข้อ 7 วรรคสอง ไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ทราบข้อเท็จจริงและไม่ให้มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ย่อมเป็นการนำข้อยกเว้น มาทำลายหลักการพื้นฐานและสาระสำคัญของกระบวนการยุบพรรค ที่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ 

ข้อสุดท้าย 7. ศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุที่ว่า กกต. ไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดมาแล้ว ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2553 ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุที่ว่า กระบวนการขั้นตอนยื่นคำร้องยุบพรรค ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมือง (ตามกฎหมาย ณ เวลานั้น คือ ประธาน กกต.) ส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณา โดยไม่ทำความเห็นก่อน.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...