วันชี้ชะตา 18 มิ.ย.คดี "ทักษิณ ม.112-ยุบก้าวไกล-เลือก สว.67" รอดหรือร่วง

ไม่รู้เรียกว่า "ฟ้าเป็นใจ" หรือจะเรียก "เทวดาองค์ไหนอุ้มสม" คดีความ หรือ กฎหมายสำคัญระดับประเทศ ถึงถูกกำหนดให้มา "ประดังประเด" ในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. 2567 (พรุ่งนี้)

ทุกคดีน่าจับตามอง เพราะอาจเป็นต้นเหตุให้การเมืองไทยพลิกขั้วได้ทันที หากผลการตัดสินของศาลออกมาเป็นลบกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

"อัยการสูงสุด" นัด "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ส่งฟ้องคดี ม.112 นัดส่งไปศาล วันนี้

เริ่มด้วยคดี อัยการสูงสุด มีคำสั่ง ฟ้อง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ผิดคดี ม.112 นัดพบพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา

...

จับตา "ทักษิณ" จะมาหรือไม่มาตามนัด เมื่อมาแล้วก็จะถูกนำตัวไปส่งที่ศาล เพื่อทำเรื่องยื่นขอประกันตัว หากศาลให้ประกันตัวก็กลับบ้าน แล้วถ้าไม่ให้ประกันล่ะ "ทักษิณ" ก็ต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ เชื่อถ้าถึงขั้นนั้น โฉมหน้าการเมืองไทย มีเปลี่ยนแปลงใหญ่แน่นอน 

คราวนี้มองมาที่ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง ซึ่งก็มีคดีที่น่าสนใจหลายคดี

คดียุบพรรคก้าวไกล ส่งบัญชีระบุพยานหลักฐาน พิจารณาคดีต่อ 

คดียุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล กรณีล้มล้างการปกครอง 18 มิ.ย.นี้ พร้อมสั่ง กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานภายในวันที่ 17 มิ.ย. 2567 ต้องจับตาศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งคดีอย่างไรต่อไป พรรคก้าวไกล กับด้อมส้ม ลุ้นต่อจะถูกยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่? 

โดยเกิดดราม่า โต้ตอบกันระหว่าง กกต.กับแกนนำพรรคก้าวไกล  กกต.เสียงแข็งยึดคำวินิจฉัย 31 ม.ค.67 มัดคอ พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิล้มล้างฯ ถือเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ ชงยุบพรรคตาม ม.92 ไม่ใช่มาตรา 93 ไม่ต้องไต่สวน 

ด้าน "ชัยธวัช" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เฉ่งยุบพรรคไม่ใช่เล่นขายของ อย่าตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย ชี้คำวินิจฉัยผูกพันผู้ถูกร้อง สั่งการให้เลิกทำ ขณะ “พิธา” ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล อัด กกต.ใช้อำนาจล้นเกิน ระเบียบเก่าเลิกไปแล้วต้องใช้ระเบียบฯปี 2566 สอบข้อเท็จจริงพร้อมพยาน

ศาล รธน.ชี้ขาด พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มา ซึ่ง สว.ปี 2561 ขัดหรือแย้ง รธน.หรือไม่


กรณีนี้ ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว เห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 09.30 น.

คดีถอดถอน "นายกฯ เศรษฐา" ศาล ให้คู่กรณี 2 ฝ่าย ส่งบัญชีพยานเพิ่ม

คิวต่อไป คดี คุณสมบัติ "นายกฯ เศรษฐา" ปมแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ซึ่งกลุ่ม 40 สว.ร้องว่า นายกฯ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งคู่กรณี ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน ภายใน 17 มิ.ย. พร้อมนัดพิจารณาคดีต่อในวันเดียวกันคือ 18 มิ.ย. 

วันเดียวกัน 18 มิ.ย. 2567 มองมาฝั่งสภาผู้แทนราษฎรบ้าง ได้กฤษ์เปิดสภาสมัยวิสามัญ สมาชิกวุฒิสภาชุด 250 สว. พิจารณา พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ค่อนข้างชัดว่า จะฉลุยผ่านสภา สว.แน่ 

สว.พิจารณา พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เชื่อ ผ่านฉลุย แน่

ที่ประชุมวุฒิสภา จะบรรจุวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) หลังคณะกรรมการธิการฯ พิจารณาทั้ง 69 มาตราเสร็จสิ้นแล้ว โดย กมธ.ส่วนใหญ่เห็นควรมีผลบังคับใช้หลัง 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

ขณะ นายกฯ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จะมีการจัดงานที่ทำเนียบรัฐบาล หลังวุฒิสภาประชุมเรื่องนี้เสร็จ ย้ำเป็นเรื่องที่รัฐบาลผลักดัน และเป็นสิ่งที่ควรทำกันมานานแล้ว เป็นการให้สิทธิที่เท่าเทียมกันทุกฝ่าย ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐาน โดยหากวุฒิสภาผ่านความเห็นชอบแล้ว จะได้มีการเฉลิมฉลองกัน โดยจะจัดงานเลี้ยง เพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม เวลา 17.00-18.30 น. ณ สนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จะเชิญตัวแทนนักเคลื่อนไหวที่ร่วมขับเคลื่อน และผลักดันกฎหมายฉบับนี้ และตัวแทนผู้มีความหลากลายทางเพศ ร่วมเฉลิมฉลองกับด้วย

สส.พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะทางฝั่ง สส.จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะนำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสู่ที่ประชุมให้สภาได้พิจารณาให้แล้วเสร็จ โดยเชื่อว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อนำไปสู่การทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามติฉบับปัจจุบันยังพบปัญหา และคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จใน 1 วัน จากนั้น 19-21 มิถุนายน จะเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 (พรุ่งนี้) เรียกว่า การเมืองไทยสุดเข้มข้น คอการเมืองห้ามกะพริบตา มีหลายเรื่องที่สำคัญ เข้ามาโรมรันพันตูในวันเดียวกัน ก็ไม่รู้สถานการณ์จะค่อยคลี่คลายไปทีละเปลาะ ทีละเรื่อง หรือไม่ผลที่ออกมาอาจเป็นการสร้างความเขม็งเกลียวให้มากขึ้นไปอีกก็ไม่ทราบได้

แน่นอน...คงไม่มีใครอยากให้เป็นอย่างหลังเป็นแน่!

และยังมีอีกนิด...แต่หลายก็คงสังเกต สงสัยและอดใจจะตั้งคำถามไม่ได้ ว่า 18 มิ.ย.2567 คือวันอะไร ทำไม คดีใหญ่ หรือ แม้แต่กฎหมายสำคัญๆ จะต้องมีความเคลื่อนไหวพร้อมกันในวันนี้  

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...