ก้าวไกล หนุนเลิกเกณฑ์ทหารแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ ชี้ 2 ทางเลือก รัฐบาลเศรษฐา

"พริษฐ์" ชี้ 2 ทางเลือก รัฐบาลเศรษฐา เลิกเกณฑ์ทหารแบบใด ย้ำ "ก้าวไกล" หนุนเลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ ไม่ต้องลุ้นปีต่อปี วางกรอบเวลา-เป้าหมายชัด ขอรอดูบทสรุป หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

วันที่ 6 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงทางเลือกของรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับนโยบายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารว่า "เกณฑ์" ทหารคือการบังคับคนที่ไม่อยากเป็นทหารเข้าไปรับราชการทหาร โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่เปิดช่องให้รัฐสามารถบังคับคนไปเป็นทหารได้ คือ พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497 หากจำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหารกองประจำการในแต่ละปี (supply หรือ อุปทาน) มีจำนวนที่น้อยกว่ายอดกำลังพลหรือจำนวนคนที่กองทัพต้องการให้มาทำหน้าที่ทหารกองประจำการในแต่ละปี (demand หรือ อุปสงค์)

หากเราย้อนไปดูสถิติ 5-10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า (1) ยอดกำลังพลที่กองทัพขอในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 90,000 คนโดยเฉลี่ย (2) จำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหารในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 คนโดยเฉลี่ย ดังนั้นโดยเฉลี่ยในแต่ละปี จะมีคนที่ไม่อยากเป็นทหารที่ถูกบังคับไปเป็นทหารผ่านกระบวนการจับใบดำ-ใบแดงประมาณปีละ 50,000-60,000 คน

ตนเชื่อว่า ทุกฝ่ายตระหนักว่าการมีอยู่ของการบังคับเกณฑ์ทหารมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย เพราะการเกณฑ์ทหารไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของปัจเจกบุคคลจนทำให้หลายคนต้องสูญเสียโอกาสความก้าวหน้าทางการงานหรือเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว แต่การบังคับเกณฑ์ทหารยังส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพราะเป็นการดึงทรัพยากรมนุษย์ออกจากตลาดแรงงานในวันที่ประเทศไทยเผชิญกับ ‘สังคมสูงวัย’ และมีสัดส่วนคนวัยทำงานที่ลดลง

แม้ฝ่ายที่สนับสนุนการเกณฑ์ทหารมักหยิบยกเหตุผลเรื่องความมั่นคง แต่ผมและพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารสามารถกระทำได้โดยไม่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศต่อเมื่อ 2 เงื่อนไขต่อไปนี้เป็นจริง:

(1) กองทัพลดจำนวนพลทหารที่ถูกใช้กับภารกิจที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคง (ลด demand) เช่น กำจัด “ยอดผี” หรือคนที่ปรากฏชื่อในทะเบียนพลทหาร แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทหาร, ยกเลิกพลทหารรับใช้ประจำบ้านของนายทหาร, ลดงานที่จำเป็นน้อยลงในบริบทของภัยคุกคามยุคใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากอดีต

(2) กองทัพยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร เพื่อนำไปสู่ยอดคนที่สมัครเข้ามาเพิ่มขึ้น (เพิ่ม supply) เช่น รับประกันรายได้และสวัสดิการที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และ โอนตรง-โอนครบ-ไม่หัก-ไม่ทอน, เพิ่มโอกาสในการเรียนโรงเรียนนายร้อย-นายสิบ และโอกาสในการเลื่อนขั้นสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตร, คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของพลทหารจากความรุนแรงในค่าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ในการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จึงมี 2 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ วิธีที่ 1 เลิกแบบต้องลุ้นปีต่อปี หรือ ค่อยๆ ลดเพื่อหวังเลิก โดยไม่แก้กฎหมาย คือการทำเงื่อนไขที่ (1) และเงื่อนไขที่ (2) ควบคู่ไปเรื่อยๆ เพื่อพยายามลด ‘ช่องว่าง’ ระหว่างยอดกำลังพลที่กองทัพขอกับยอดจำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหาร

เช่น สมมติกองทัพลดยอดกำลังพลที่ขอจาก 90,000 เหลือ 60,000 และกองทัพยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารจนทำให้ยอดคนสมัครเพิ่มจาก 30,000 เป็น 50,000 จำนวนคนที่ถูก “เกณฑ์” ไปเป็นทหารก็จะลดจาก 60,000 (90,000 ลบ 30,000) เป็น 10,000 (60,000 ลบ 50,000) โดยหากดำเนินการต่อไป ก็อาจทำให้ช่องว่างนั้นลดเหลือศูนย์ในที่สุด และทำให้วันหนึ่งการเกณฑ์ทหารถูกเลิกไปโดยปริยาย เพราะยอดสมัครจะสูงกว่ายอดกำลังพลที่กองทัพขอ

วิธีนี้เป็นวิธีที่กองทัพประกาศว่ากำลังดำเนินการอยู่ตามแผนปฏิรูปกองทัพ 2566-2570 ของสภากลาโหม คำถามที่ตามมาว่ากองทัพจะสามารถ ‘ลด’ จำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ได้มาก-น้อยแค่ไหนในระยะสั้น และจะสามารถ ‘เลิก’ การเกณฑ์ทหารทั้งหมดได้เร็ว-ช้าแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของกองทัพในการขยับ 2 ตัวเลขดังกล่าว

วิธีที่ 2 เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ (โดยการแก้กฎหมาย) คือการแก้ พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497 เพื่อตัดอำนาจกองทัพในการบังคับคนมาเป็นทหารในยามที่ไม่มีสงคราม เพื่อให้กองทัพประกอบไปด้วยกำลังพลที่สมัครใจเข้ามาเท่านั้น

...

วิธีนี้เป็นวิธีที่พรรคก้าวไกลเสนอเพราะ 3 เหตุผล คือ (1) เป็นการวางกรอบเวลาและเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนว่าจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารภายในเมื่อไหร่ โดยจะเลิกทันทีหรือมีเวลาเท่าไรให้กองทัพปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน สามารถกำหนดได้ผ่านบทเฉพาะกาลของกฎหมาย

(2) เป็นการรับประกันกับเยาวชนว่าเมื่อเลิกแล้ว จะไม่ต้องมาลุ้นปีต่อปีว่าจะถูกบังคับไปเป็นทหารหรือไม่ เพราะหากเป็นวิธีที่ 1 แม้ปีก่อนหน้าจะไม่มีการเกณฑ์ทหารเพราะยอดสมัครใจสูงกว่ายอดที่กองทัพขอ แต่ปีถัดไปก็ไม่ได้อะไรรับประกันว่ายอดที่กองทัพขอจะไม่กลับมาสูงกว่ายอดสมัครใจจนทำให้ต้องมีการบังคับคนไปเป็นทหารอีก

(3) เป็นการเพิ่มแรงกดดันกองทัพในการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารอย่างเร่งด่วน เพราะการคงกฎหมายที่เปิดช่องให้กองทัพเกณฑ์ทหารได้หากยอดสมัครไม่พอ อาจทำให้กองทัพไม่มีแรงกดดันเพียงพอในการเอาจริงกับปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตพลทหารในค่ายเท่าที่ควร เพราะกองทัพรู้ว่า หากคุณภาพชีวิตพลทหารไม่ดีจนทำให้ยอดสมัครน้อย (เช่น มีปัญหาความรุนแรงในค่าย) กองทัพก็สามารถบังคับคนมาเป็นทหารให้เต็มยอดกำลังพลที่ขอได้อยู่เรื่อยๆ แต่ในทางกลับกัน หากเราแก้กฎหมายเพื่อปิดช่องไม่ให้มีการเกณฑ์ทหาร กองทัพจะถูกเร่งให้ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร มิเช่นนั้นจะไม่มีกำลังพลเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่

พริษฐ์กล่าวต่อว่า แม้คำสัมภาษณ์ของสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูสอดคล้องกับวิธีที่ 1 มากกว่าวิธีที่ 2 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ซึ่งทำให้ปีหน้าต้องลุ้นว่าตัวเลขจะบีบลงมาเหลือ 0 ได้หรือไม่ และแม้ปี 2567 สามารถลดลงให้เหลือ 0 นายจริงๆ แต่ปีต่อๆ ไปก็ต้องลุ้นอีก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับประกันให้กับเยาวชนที่ต้องวางแผนการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หากรัฐบาลยืนยันวิธีที่ 1 เราก็เพียงแต่หวังว่ารัฐบาลจะให้ความชัดเจนเรื่องตัวเลขและกรอบเวลา ว่าจะตั้งเป้าลดจำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ปีละกี่คน และจะตั้งเป้าให้เลิกการเกณฑ์ได้ทั้งหมดภายในปีไหน

แต่หากรัฐบาลเลือกวิธีที่ 2 เราก็หวังว่าทางรัฐบาลและพรรคก้าวไกลจะร่วมกันผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารให้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ได้โดยเร็ว เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร ที่พรรคก้าวไกลยื่นไปที่สภาฯ เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตอนนี้กำลังรอเพียงการรับรองโดยนายกฯ เศรษฐา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวาระของการประชุมสภาฯ

จากนั้น สื่อมวลชนถามถึงนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ระบุในเอกสารคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ถูกเผยแพร่ออกมา พริษฐ์กล่าวว่า ในเอกสารล่าสุด ซึ่งต้องรอการยืนยันว่าเป็นเอกสารทางการหรือไม่ ตนเห็นมีประโยคสั้นๆ ว่าเปลี่ยนจากรูปแบบการเกณฑ์เป็นระบบสมัครใจ ซึ่งหากใช้คำศัพท์เช่นนี้ อาจจะตีความยากว่าเป็นแบบไหน ในมุมมองของตน หมายถึงการเปลี่ยนตัวระบบ คือการยกเลิกการอนุญาตให้มีการบังคับเกณฑ์ ซึ่งถ้าอ่านข้อความตรงนั้น ดูจะเป็นแบบที่ 2 มากกว่า จึงไม่อยากด่วนสรุปว่าท่าทีรัฐบาลจะเป็นแบบไหน เพียงแต่อยากให้ข้อมูลกับสังคมว่ามีการยกเลิก 2 วิธี และ 2 วิธีนี้มีนัยต่างกัน

เมื่อถูกถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้คำว่า ‘พัฒนาร่วมกัน’ แทนที่คำว่า ‘ปฏิรูป’ กองทัพ พริษฐ์ให้ความเห็นว่า คำว่าปฏิรูปไม่ได้มีความหมายเชิงลบ หมายถึงการทำให้องค์กรนั้นดีขึ้น ปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปองค์กร คือการมีชุดความคิดที่ถูกอัดฉีดเข้าไปจากภายนอกองค์กร ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย คือการที่รัฐบาลพลเรือนที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง นำเอาความคิดจากประชาชนเข้าไปอัดฉีดเพื่อยกระดับการทำงานของกองทัพ

“แน่นอนว่าการปฏิรูปเรื่องใดก็ตาม ความร่วมมือของคนในองค์กรมีส่วนสำคัญ แต่ไม่ควรสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้คนเกรงกลัวคำว่าปฏิรูป ยิ่งในบริบทที่ผ่านมา ยังมีข้อกฎหมายบางส่วนทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่บอกว่าการตัดสินใจหลายอย่าง เกี่ยวกับนโยบายหรืองบประมาณ ไม่ได้อยู่ในมือ รมว.กลาโหม แต่กลับไปอยู่ที่สภากลาโหม ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก ซึ่งขัดกับหลักการที่รัฐบาลพลเรือนควรอยู่เหนือกองทัพ” พริษฐ์กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...