อียูตั้งรับ ‘สินค้าเกษตร’ หวั่นจีนโต้กลับ จับตา 'เนื้อหมู - ผลิตภัณฑ์นม'

บรรดาบริษัทอาหารในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งแต่กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนมไปจนถึงเนื้อหมูต่างกำลังเฝ้าระวัง และตั้งรับความเป็นไปได้ที่ “จีน” อาจดำเนินมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ผ่าน “สินค้าเกษตร” ที่นำเข้าจากอียู

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นจากภาษีรถอีวีจีนล่าสุด ทำให้ยุโรปต้องตั้งรับความเป็นไปได้ที่อาจถูกตอบโต้ทางการค้าตามมา รายงานอ้างการเปิดเผยของสื่อท้องถิ่นในจีนว่า บริษัทบางรายในจีนกำลังดำเนินการร้องขอให้เปิดสอบสวนว่า บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์นม และเนื้อหมูจากอียู กระทำผิดที่เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนจากภาครัฐ หรือมีการทุ่มตลาดหรือไม่ 

 

ทั้งนี้แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จีนอาจตอบโต้ในสินค้ากลุ่มใด แต่ข้อมูลของกรมศุลกากรจีน พบว่า จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากอียูมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากนิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 36% ของมูลค่านำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมดในปี 2566 โดยออสเตรเลียอยู่ในอันดับ 3

ด้านข้อมูลสำนักงานอธิบดีด้านการเกษตร และการพัฒนาชนบท คณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า อียูส่งออกสินค้าประเภทผงเวย์โปรตีน ครีม และนมสด ไปยังจีนราว 1,800 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว นำโดยเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ที่เป็นกลุ่มผู้ส่งออกหลักของสินค้ากลุ่มดังกล่าว

จีนยังมีการนำเข้า "เนื้อหมู" ราว 1.55 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยมากกว่าครึ่งเป็นการนำเข้าจากยุโรป นำโดยสเปน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และฝรั่งเศส บราซิลตามมาในอันดับ 2 และสหรัฐเป็นอันดับ 3

ล่าสุดในวันนี้ (14 มิ.ย.67) เว็บไซต์โกลบอลไทม์ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีน ได้รายงานอ้างข้อมูลจากบิสเนส อินไซเดอร์ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเนื้อหมูในจีนได้ยื่นร้องเรียนอย่างเป็นทางการให้รัฐบาลจีนเปิดการสอบสวนผู้ส่งออกหมูจากอียูในประเด็นการ "ทุ่มตลาด" แล้ว โดยมีขึ้นตามมาเพียง 1 วัน หลังจากที่อียูประกาศขึ้นภาษีรถอีวีจีน 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ประกาศเรียกเก็บ “ภาษีพิเศษ” สำหรับรถยนต์อีวีนำเข้าจากจีนในอัตราเพิ่มเติมสูงสุด 38.1% หรือเพิ่มเติมจากอัตราปัจจุบันที่ราว 10% ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษการทุ่มตลาดของอุตสาหกรรมรถอีวีจีน โดยจะเรียกเก็บแต่ละบริษัทในอัตราที่ต่างกัน เช่น แบรนด์ SAIC จะถูกเรียกเก็บภาษีพิเศษเพิ่ม 38.1% แบรนด์ Gleely จะถูกเก็บเพิ่ม 20% และแบรนด์ BYD จะถูกเก็บเพิ่ม 17.4%

อีซี ระบุว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ก.ค.67 แต่ยังขึ้นอยู่กับผลเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่าง อีซี และบริษัทรถยนต์จีนแต่ละแห่งก่อน เพื่อพิจารณาว่า ทางบริษัทให้ความร่วมมือหรือไม่ ก่อนที่จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยอีซีเริ่มสอบสวนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เดือนต.ค.2566

ยุโรปเสียงแตกค้านขึ้นภาษีอีวี

มาร์ตัน เนกี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฮังการี ประณามว่า เป็นการกีดกันทางการค้ามากเกินไป เน้นย้ำว่าการกีดกันการค้าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตในจีน และขัดขวางการแข่งขันในตลาด พร้อมแนะว่า อียูควรเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันระดับโลกของอุตสาหกรรมอีวียุโรป แทนที่จะกำหนดอัตราภาษีพิเศษ เนื่องจากเป็นการขัดขวางการแข่งขัน และการเติบโตของตลาดอียูเอง

โอลิเวอร์ ซิปเซ ซีอีโอของบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) วิพากษ์วิจารณ์แผนอีซีว่า เป็น “แนวทางที่ผิด” โดยระบุว่า แผนดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้บริษัทในยุโรป และผลประโยชน์ของยุโรป พร้อมย้ำว่า การกีดกันการค้านำไปสู่การเก็บภาษี และการเก็บภาษีสูงขึ้น ก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากกว่าการร่วมมือ

ด้านผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่นของเยอรมนี เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Benz) และโฟล์คสวาเกน (VW) ต่างแสดงจุดยืนสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม และการค้าโลกเสรี โฟล์คสวาเกน ค้านแผนเก็บภาษีพิเศษดังกล่าว และให้เหตุผลว่า “ผลกระทบด้านลบของการตัดสินใจครั้งนี้ มีมากกว่าผลประโยชน์สำหรับยุโรป และโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี”

บลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัทเทสลา มอเตอร์ (Tesla) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐ ร้องขอไปยังอียู ขอให้พิจารณาจัดเก็บภาษีรถของตนเองที่นำเข้าจากจีนในอัตราที่ถูกกว่าบริษัทอื่น อ้างว่าเทสลาได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของทางการจีนน้อยกว่ารถอีวีสัญชาติจีน ทั้งนี้ บริษัทรถยนต์รายอื่นที่ผลิต และส่งออกจากจีนสามารถร้องขอการพิจารณานี้ได้เช่นกัน

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...