มาริษ เผย ไทยเข้าร่วม BRICS - OECD ต่างชาติตอบรับดี มองไทยมีศักยภาพ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างสมาชิกกลุ่มบริกส์ (BRICS) กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย ถึงเหตุผลที่ไทยต้องการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ว่า บริกส์เป็นประเทศตลาดใหม่ซึ่งมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูง และมีศักยภาพในการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของโลก ไทยมองว่าหากสามารถเป็นสมาชิกและร่วมทำงานกับประเทศบริกส์ บทบาทของประเทศไทยจะชัดเจนมากขึ้น และจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของไทยทั้งในฐานะประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้

เมื่อถามว่าไทยได้อะไรจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดคือไทยได้ประกาศตัวเองและแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศบริกส์ ไทยไม่ได้มองการเข้าเป็นสมาชิกบริกส์ว่าเป็นการเลือกข้าง หรือมองว่าบริกส์เป็นการรวมกลุ่มที่จะไปคานอำนาจใคร รัฐบาลไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) และบริกส์ เพราะต้องการทำให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้น และต้องการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยเพื่อให้สามารถมีบทบาทร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ในการชี้นำหรือวางแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลกต่อไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเสมอภาค ไม่ว่าจะกับประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องนโยบายสำคัญของรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน คือการที่ไทยจะมีบทบาทนำและเป็นผู้เล่นหลักในกลุ่มต่าง ๆ และในการแก้ไขปัญหาของโลกในทุก ๆ ด้าน

“ไทยมีลักษณะพิเศษคือเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูของใคร เราสามารถเป็นสะพานเชื่อมกับประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศสมาชิกบริกส์ และยังช่วยเชื่อมบริกส์เข้ากับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศสมาชิกบริกส์มีพลังมากขึ้นในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ประชาคมโลกได้เห็นความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่” รมว.มาริษ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกบริกส์และโออีซีดี ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง รัฐมนตรีมาริษ เผยว่า ผลตอบรับดีมาก ทุกประเทศที่ได้พบยืนยันการให้การสนับสนุนกับไทยเป็นลำดับต้น ๆ และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และศักยภาพที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ ทำให้ไทยค่อนข้างอยู่ในสถานะที่ดีมากกว่าประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ 

นอกจากการเข้าไปร่วมกับประชาคมบริกส์แล้ว ในเรื่องทวิภาคีไทยยังได้ประโยชน์อย่างมหาศาลและประเทศอื่น ๆ ที่ได้พูดคุยต่างอยากทำงานกับไทยในกรอบพหุภาคีด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือทวิภาคีผลักดันให้ไทยมีสิทธิมีเสียงมากยิ่งขึ้น และเมื่อเสริมกับกลุ่มพหุภาคีที่เป็นเพื่อน จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการผลักดันนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศไทยกับประเทศสมาชิกไปในทิศทางที่ถูกต้อง และจะทำให้ได้รับความยุติธรรม รวมถึงได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมากยิ่งขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...