เปิดเอกสารกฤษฎีกา เกมพลิก ! ปลด 'บิ๊กโจ๊ก' ยาก

จากกรณีสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่​                    

ล่าสุดได้มีบันทึก (เรื่องเสร็จที่ 637/2567) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ตอบกลับมายังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้    

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงาน ก.พ.) และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามคำชี้แจงของผู้แทน ตร.ว่า

กรณีตามข้อหารือนี้ ตร.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวตามมาตรา 105,108,119 และ 179 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในวันเดียวกันกับที่ ตร.มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน        

นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าว (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจแล้ว 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาข้อหารือ และข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว เห็นว่าข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อ ตร.มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 
    

ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 หรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 เห็นว่า มาตรา 131 วรรค 6 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บัญญัติให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.ซึ่งปัจจุบัน ก.ตร.ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.ในเรื่องดังกล่าว แต่มาตรา 179 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า 
    

ในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.ให้นำกฎ ก.ตร.ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.นี้ ด้วยเหตุนี้การดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงต้องดำเนินการตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการพ.ศ. 2547 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2547 และใช้บังคับอยู่เดิมต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2565

กรณีนี้จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 หรือไม่ 
    

ซึ่งมีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บัญญัติหลักการเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.ว่าจะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ซึ่งส่งผลให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ไม่เข้าข้อยกเว้น ที่จะไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง เนื่องจากมิใช่การพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ด้วยเหตุที่การออกจากราชการไว้ก่อน มิใช่โทษทางวินัยตามมาตรา 115 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
    

จึงเห็นว่าข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน มิได้ขัด หรือแย้งกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ดังนั้นในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อหารือนี้ จึงต้องดำเนินการตามข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร.ดังกล่าว

กล่าวคือนายกรัฐมนตรี จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผบ.ตร.รายดังกล่าว พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน
    

สำหรับกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งนั้น เมื่อพ.ร.บ.
ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565  ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการในกรณีนี้ไว้ จึงเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป
    

อนึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีข้อสังเกตว่า ในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายใดพ้นจากตำแหน่งนั้น โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบ ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน 
    

เมื่อในกรณีนี้พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีผลเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติขึ้นมาใหม่ จากที่เคยบัญญัติไว้แต่เดิมในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 หลายประการ โดยมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจเป็นไปตามหลักนิติธรรม และเกิดความเป็นธรรม ดังจะเห็นได้จากคำปรารภของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และมาตรา 60 ที่ได้บัญญัติหลักการใหม่ ให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจคำนึงถึงระบบคุณธรรม มาตรา 60(4) บัญญัติให้การดำเนินการทางวินัยต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรม และโดยปราศจากอคติ รวมทั้งบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจและคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และพิจารณาเรื่องร้องเรียนประกอบกับมาตรา 120 วรรค 4 ได้เพิ่มหลักการใหม่นอกเหนือจากมาตรา 131 วรรคหนึ่ง
    

โดยบัญญัติว่าในระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งในกรณีนี้ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน และการสอบสวนย่อมเป็นการกระทบสิทธิหลายประการของผู้ถูกสอบสวน
    

กรณีจึงเห็นได้ว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อนหากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้น และความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากข้าราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม 
  

ลงชื่อ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 
    

พฤษภาคม 2567

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...