“ทักษิณ” ยังไม่ยื่นขอพักโทษ ราชทัณฑ์เผยข่ายเข้าเกณฑ์

“ทนายวิญญัติ” รับอยู่ระหว่างศึกษากฎกระทรวงราชทัณฑ์ประเด็น การพักโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” เพราะถือเป็นสิทธิประโยชน์ผู้ต้องขัง เช่นเดียวกับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษในวาระโอกาสสำคัญครั้งถัดไป ถือเป็นสิทธิประโยชน์หรือมีผลเป็นคุณต่อตัวเองในฐานะผู้ต้องขังทั่วไป อีกทั้งเรือนจำต้องสำรวจจำนวนผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์เพื่อดูว่าใครจะได้รับประโยชน์ตรงนี้ ไม่เฉพาะแค่นายทักษิณ ด้าน “รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์” ระบุเข้าข่ายการพักโทษแต่ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการที่จะพิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นเรื่องขอพักโทษเข้ามาที่ ยธ.หรือเรือนจำ

กรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระ ราชทานอภัยลดโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากโทษจำคุกใน 3 คดี จำนวน 8 ปี ลดเหลือรับโทษเพียง 1 ปี เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถประสบการณ์ ช่วยเหลือและทำคุณ ประโยชน์ แก่ประเทศชาติสืบไป อีกทั้งในกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ต้องขังสูงวัย มีอาการเจ็บป่วย 4 โรคเรื้อรังและยังอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเหตุให้อาจเข้าข่ายเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ หากเป็นไปตามนี้ ขั้นตอนต่อไปราชทัณฑ์ต้องนำตัวรายงานพนักงานคุมประพฤติ นัดวันเวลารายงานตัวรายเดือน ส่วนเรื่องติดกำไล (EM) ขึ้นอยู่กับดุลพินิจพนักงานคุมประพฤติ อาจไม่ต้องใส่แต่มีเงื่อนไขห้ามยุ่งงานการเมือง และยังมีความเป็นไปได้ที่นายทักษิณจะพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวทันที กรณีมีพระราชกฤษฎีกาประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยการพระราชทานอภัยลดโทษเป็นการทั่วไปในวาระโอกาสสำคัญ

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ก.ย. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า กรณีนายทักษิณมีหลายช่องทางที่เป็นไปได้ ทั้งเรื่องอาจเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษหรือเรื่องคุมประพฤติ แต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ แต่ในฐานะทนายความต้องไปศึกษาทั้งกฎระเบียบเก่า กฎกระทรวงที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหรือกฎกระทรวงเดิมต้องดำเนินการเพื่อลูกความ ถือเป็นสิทธิประโยชน์ผู้ต้องขัง เมื่อถามว่าหากเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษจะเป็นบ้านพักที่อยู่ปัจจุบันหรือไม่ นายวิญญัติระบุว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้ เป็นเรื่องที่นายทักษิณต้องพูดคุยกับครอบครัวและร่วมกันตัดสินใจถึงความเหมาะสม อยากให้รออีกสักระยะคงจะทราบความชัดเจนกัน

...

ต่อข้อถามว่านายทักษิณหรือครอบครัวจะยื่นขอพระราชทานอภัยลดโทษสำหรับวาระโอกาสสำคัญหลังจากนี้หรือไม่ นายวิญญัติกล่าวว่า การยื่นขอ พระราชทานอภัยลดโทษที่ผ่านมาและนายทักษิณได้รับการอภัยลดโทษถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้วในครั้งนั้น มองว่าเป็นรายครั้งมากกว่า ครั้งถัดไปหากมีวาระโอกาสสำคัญหรือวันสำคัญ นายทักษิณมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์หรือมีผลเป็นคุณต่อตัวเองได้ในฐานะผู้ต้องขังทั่วไป ต้องดูว่าขณะนี้เป็นผู้ต้องขังชั้นใดอยู่ในหลักเกณฑ์ใด อีกทั้งยังต้องดูในส่วนของพระราชกฤษฎีกา ถ้าหากประกาศออกมานั้นจะระบุหมายเหตุข้อยกเว้นหรือสาระเนื้อหาแนบท้ายได้หรือไม่ และต้องเป็นการไม่เลือกปฏิบัติของราชทัณฑ์ หากผู้ต้องขังรายใดที่เข้าเกณฑ์ราชทัณฑ์จะแจ้งหรือดำเนินการไว้อยู่แล้ว เพราะเรือนจำต้องสำรวจจำนวนผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์หรือมีผู้ต้องขังรายใดเหลือวันต้องโทษจำคุกกี่วัน เพื่อดูว่าใครจะได้รับประโยชน์ตรงนี้บ้าง ไม่ใช่แค่กรณีนายทักษิณอย่างเดียว

นายวิญญัติระบุด้วยว่า การยื่นขอพระราชทานอภัยลดโทษครั้งถัดไปคาดว่าจะเป็นการพูดคุยในครอบครัวนายทักษิณหรือครอบครัวอาจจะประสานกับเรือนจำได้เลย ส่วนเรื่อง 10 รายชื่อใหม่ที่นายทักษิณจะต้องระบุว่าอนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยมบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ครบกำหนดเวลา 30 วัน ใกล้ๆวัน เรือนจำจะแจ้งมา คาดว่าจะมีการดำเนินการเรื่อง 10 รายชื่อชุดใหม่ที่เข้าเยี่ยมประมาณวันที่ 29 ก.ย.นี้

บ่ายวันเดียวกัน ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการขอพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ถึงขณะนี้นายทักษิณยังไม่ได้ยื่นเรื่องขอพักโทษมาที่กระทรวงยุติธรรมหรือกรมราชทัณฑ์ หากยื่นเรื่องขึ้นมาจะต้องนำเข้าคณะอนุกรรมการพิจารณาว่าจะเข้าเกณฑ์การพักโทษหรือไม่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถก้าวล่วงได้เพราะเป็นดุลพินิจคณะอนุกรรมการ และกระทรวงยุติธรรม ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายก รัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่อาจเข้าข่ายการขอพักโทษตามโครงการต่างๆของกรมราชทัณฑ์ได้ หนึ่งในนั้นคือโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ในส่วนนี้มองว่าอาจเข้าข่ายตามโครงการดังกล่าว เป็นอำนาจคณะอนุกรรมการที่จะต้องพิจารณาว่าจะได้รับการพักโทษหรือไม่ ส่วนรูปแบบการพักโทษอาจเป็นการกักตัวอยู่ในที่พักโดยติดกำไล EM หรือสถานที่ต่างๆโดยการควบคุมของกรมราชทัณฑ์

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา โพสต์ภาพนายทักษิณอุ้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งระบุว่าถ่ายขึ้นที่โรงพยาบาลตำรวจระหว่างที่นายทักษิณถูกควบคุมตัวเพื่อรักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล นายณรงค์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าวและเดินออกจากกลุ่มสื่อมวลชนไป

ทั้งนี้มีรายงานจากกรมราชทัณฑ์ว่า ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพถ่ายตั้งแต่เกือบ 10 ปีที่แล้ว อีกทั้งสถานที่ดังกล่าวก็ไม่ใช่ภายในโรงพยาบาลตำรวจ แหล่งข่าวยืนยันว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพใหม่ที่ถูกถ่ายขึ้น อีกทั้งการเข้าเยี่ยมนายทักษิณจะมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ดูแลใกล้ชิด ไม่ให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวหรือภาพนิ่งระหว่างเข้าเยี่ยม หากมีการถ่ายภาพและนำออกไปเผยแพร่ ต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...