รมว.ต่างประเทศ ลงนามอาลัย ปธน.อิหร่าน ย้ำสัมพันธ์กว่า 400 ปี

เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ (24 พ.ค) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ได้มายังสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เพื่อลงนามแสดงความไว้อาลัยต่อการอสัญกรรมของประธานาธิบดีซัยยิด อิบรอฮีม เราะอีซี และนายฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

หลังจากนั้นนายมาริษได้หารือกับนายนอเศเรดดีน ฮัยดารี เอกอัครราชทูตสาธารณะอิหร่านประจำประเทศไทยถึงความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานหลายร้อยปี แม้มีบางช่วงอยู่ในภาวะไม่ปกติ  แต่ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน 

“ซึ่งเรามีกลไกรองรับการส่งเสริมความสัมพันธระหว่างสองประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น joint commission ระดับรัฐมนตรี และ joint trade committee ที่ดูในเรื่องการค้าการลงทุน สองตัวนี้จะเป็นกลไกหลักส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจธุรกิจระหว่างกันให้มากขึ้น” รมว.ต่างประเทศกล่าวและว่า ในส่วนของการติดต่อโดยตรงระหว่างประชาชน ขณะนี้สายการบินโมฮันของอิหร่านบินมายังประเทศไทยสัปดาห์ละสองเที่ยว ถือเป็นกลไกสำคัญส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชน 

“การติดต่อในสองระดับนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับประเทศอิหร่านดีขึ้น” 

รมว.ต่างประเทศกล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับทูตอิหร่าน ได้ทราบว่าอิหร่านมีเทคโนโลยีมาก ดังนั้นความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ และการแพทย์จึงเป็นอีกหนึ่งสาขาที่อยากจะส่งเสริมนอกเหนือจากด้านธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลทางบวกต่อประชาชนของทั้งสองประเทศในด้านสุขอนามัย

“ผมเชื่อว่ายังมีช่องทางอีกมากที่จะสามารถส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในสองระดับคือในทางธุรกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนทั้งสองประเทศ และการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนก็จะทำให้ทั้งสองประเทศเข้าใจกันมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกัน” 

จากนโยบายการทูตเศรษฐกิจของนายกฯ เศรษฐา ประกอบกับกลุ่มประเทศ BRICS ทวีความสำคัญขึ้นมามากซึ่งอิหร่านเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ นายมาริษได้ประเมินศักยภาพทางเศรษฐกิจของ BRICS และอิหร่านว่า หลายประเทศในกลุ่ม BRICS มีจีดีพีสูง ไทยเองก็อยากเข้าเป็นสมาชิกและกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ให้ได้เข้าเป็นสมาชิก BRICS 

ทั้งนี้ ในกรอบพหุภาคีไทยและอิหร่านมีทั้ง BRICS และ ACD (Asia Cooperation Dialogue) ที่ไทยวางพื้นฐานเอาไว้ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร  

“ตัวนี้จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เรากับประเทศไม่ว่าจะเป็นอิหร่านหรือสมาชิก BRICS, ACD ได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น เป็นเวทีให้เราได้มีไดอะล็อกระหว่างกันนำไปสู่ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีนอกเหนือไปจากกรอบทวิภาคี” 

นายมาริษย้ำว่า นโยบายของนายกฯ เศรษฐาต้องการให้ไทยมีบทบาทนำซึ่งไม่ได้หมายความว่าไปแข่งกับใคร แต่ให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยมีสิทธิมีเสียงชี้นำสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหลาย ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพราะฉะนั้น ACD และ BRICS จึงมีความสำคัญ 

“ผมเน้นบทบาทที่สร้างสรรค์ สองกลุ่มนี้เป็นเวทีให้มานั่งคุยกันเพื่อสร้างสันติสุข สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนในประเทศสมาชิก”

 เมื่อสอบถามถึงช่วงเวลาที่ไทยจะได้เป็นสมาชิก BRICS รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ทาง BRICS เองก็ยังไม่มีกรอบชัดเจนเรื่องการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก 

“แต่การที่ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านและกับทุกๆ ประเทศถือเป็นลักษณะพิเศษของไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ มองว่าเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่มี conflict กับใครเลยทั้งสิ้น บทบาทของไทยจะสำคัญเพราะเราเข้ากันได้ทุกกลุ่ม จะช่วยเขาแก้ปัญหา” นี่คือเหตุผลที่ไทยเข้าไปในเวทีพหุภาคี ซึ่งเป็นการใช้ศักยภาพของไทยดึงทุกคนที่อาจมีความเห็นไม่ตรงกันเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาสร้างสันติสุข สร้างความร่วมมือให้ดียิ่งขึ้น 

  • ชะตากรรมตัวประกันชาวไทย

รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า ในเรื่องการช่วยเหลือตัวประกัน ประเทศอิหร่านมีความสำคัญมาก และช่วยเหลือไทยตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทั้งช่วยติดต่อฮามาสและอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่าการที่ไทยมีเพื่อน เข้าได้กับทุกกลุ่มช่วยให้ไทยแก้ไขสถานการณ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น

"หลายประเทศที่ผมไปเจอเขาก็บอกว่า ประเทศไทยได้รับการปล่อยตัวประกันได้เร็วมากและมากที่สุด แม้กระทั่งลอร์ดคาเมรอนของอังกฤษก็ชื่นชม เป็นเพราะเรามีเพื่อน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกๆ ประเทศ นั่นเป็นคาแรกเตอร์ที่ผมพยายามพูดให้ประเทศทั้งหลายได้เข้าใจว่า เราเป็นมิตรกับทุกประเทศ เราสามารถช่วยเขาได้ในการแก้ไขปัญหาทุกที่" 

ส่วนการสูญเสียของอิหร่านคราวนี้จะกระทบกับการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยหรือไม่นั้น นายมาริษไม่คิดว่าจะกระทบ เพราะพื้นฐานความเป็นเพื่อนมีมานานกว่า 400 ปี การเปลี่ยนผู้นำจึงไม่มีผล

ด้านแรงงานไทยในอิสราเอล รมว.มาริษกล่าวว่า ขณะนี้มีอยู่ราว 30,000 คน ส่วนหนึ่งพอสถานการณ์ดีขึ้นก็เดินทางกลับไป อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจดีถึงความจำเป็นของการตัดสินใจ หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นรัฐบาลก็ต้องแก้ไข

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...