จับตาวิกฤติแบงก์ใหญ่ในญี่ปุ่น ขาดทุนพันธบัตรยับ ต้องเพิ่มทุน 1 ล้านล้านเยน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคาร "โนรินชูคิน" (Norinchukin) ซึ่งเป็นธนาคารด้านการเกษตรชั้นนำและยังเป็น 1 ในนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ได้ประกาศเพิ่มทุนถึง 1.2 ล้านล้านเยน (ราว 2.8 แสนล้านบาท) พร้อมยกเครื่องพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศ หลังจากขาดทุนครั้งใหญ่ในการลงทุนพันธบัตรต่างประเทศ ซึ่งทำให้เปรียบเทียบถึงการขาดทุนในอดีตช่วงวิกฤติซับไพรม์เมื่อกว่า 10 ปีก่อน

โนรินชูคินซึ่งยังเป็น 1 ใน 10 แบงก์ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น รายงานผลการขาดทุนสูงถึง 2.2 ล้านล้านเยน ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2567 และเป็นการขาดทุนต่อเนื่องจากระดับ 1.7 ล้านล้านเยน ในปีงบประมาณก่อนหน้า ขณะที่ธนาคารยังคาดการณ์ถึงปีงบฯ ปัจจุบันว่า อาจขาดทุนอีกไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านเยน    

รายงานระบุว่า โนรินชูคินกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่ขาดทุนหนักจากผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 โดยภาวะเงินฝืดและอัตราดอกเบี้ยติดลบในญี่ปุ่น ทำให้นักลงทุนในประเทศต้องออกไปหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ แต่สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงหลังจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ยีลด์สูงและราคาพันธบัตรตกต่ำลงจนนักลงทุนพากันขาดทุน

กรณีล่าสุดนี้ยังทำให้ย้อนนึกไปถึงปี 2552 หรือช่วง "วิกฤตซับไพรม์ ปี 2009" ที่ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั่วโลกในขณะนั้นขาดทุนย่อยยับจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับสินเชื่อบ้านด้อยคุณภาพ (CDO) ซึ่งโนรินชูคินก็เป็นหนึ่งในแบงก์ที่ขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ทาโร คิตาบายาชิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของธนาคารระบุว่า การขาดทุนครั้งนี้ "ไม่เกี่ยวข้อง" กับการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับสินเชื่อการลงทุน (Collateralized Loan Obligation: CLO) ซึ่งธนาคารถือครองอยู่ 7.4 ล้านล้านเยน ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567  

"จากประสบการณ์ของเราในรอบที่ผ่านมากับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เราคิดว่าจะสามารถถือพันธบัตรต่อไปได้แม้จะขาดทุนจากการถือก็ตาม...แต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นและยาวนานขึ้นนั้นไปไกลเกินความคาดหมายของเรา" คาซึโตะ โอกุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโนรินชูคิน กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว 

สำหรับการปรับพอร์ตลงทุนในต่างประเทศนั้น ซีเอฟโอระบุว่าทางธนาคารตั้งเป้าหมายจะเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและยุโรปล็อตใหญ่ โดยปัจจุบันยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในญี่ปุ่นกำลังเป็นอีกทางเลือกของนักลงทุน ธนาคารคาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ในปีงบประมาณถัดไป และยังยืนยันว่าสถานะทางการเงินของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง

ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการขาดทุนของโนรินชูคินจะไม่ส่งผลกระทบลุกลามไปยังภาคธนาคารในญี่ปุ่น โดยโทโยกิ ซาเมชิมะ นักวิเคราะห์จากเอสบีไอ ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า ธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารระดับภูมิภาคในญี่ปุ่นต่างเทขายและลดการถือครองพันธบัตรไปแล้วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความเสี่ยงจึงอยู่ในวงจำกัด

ขณะที่โชอิจิ อาริซาวะ นักวิเคราะห์จากอิวาอิ คอสโม ซีเคียวริตีส์ มองว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะส่งผลลุกลามใหญ่โตไปยังระบบการเงินในญี่ปุ่น แต่ก็ควรมีการชี้แจงให้แน่ใจว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบต่ออนาคตทางธุรกิจของโนรินชูคิน

ทั้งนี้ โนรินชูคินเป็นธนาคารด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมงรายใหญ่ในญี่ปุ่น และยังเป็นหนึ่งในนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ถึง 55.9 ล้านล้านเยน และมีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรสูงกว่าครึ่งของการลงทุนทั้งหมด 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...