เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’ จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียชวนย้อนรอยสไตล์การบริหารของนายกฯ สิงคโปร์ตั้งแต่คนแรกถึงคนล่าสุด ที่สะท้อนถึงบริบทของประเทศ ณ เวลานั้นๆ 

  • ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกสาบานตนในปี 1959 และต้องรับมือกับปัญหามากมายจากลัทธิอาณานิคมและการแยกตัวออกจากมาเลเซีย

“เวลาเป็นตัวกำหนดสไตล์ผู้นำ” เอส วาซู อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวและว่า ลี กวนยู ถูกกดดันให้ต้องอยู่รอด

“เขาไม่เคยถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัว แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย ซึ่งเน้นการสร้างชีวิตที่ดีขึ้น สร้างที่อยู่อาศัยและการงานที่ดีขึ้นให้กับประชาชนสิงคโปร์”

จากสถานการณ์ อดีตนายกฯ “มุ่งมั่นและตั้งใจทำการงานมาก เน้นทำงานให้สำเร็จเพียงอย่างเดียว” วาซูกล่าว

บิลเวียร์ ซิงห์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองว่าการผงาดขึ้นของลี กวนยู มาจากการชิงอำนาจกับฝ่ายซ้ายจัดในพรรคกิจประชาชน (พีเอพี)

หลังจากนั้นเขานำขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช “ดังนั้นการขึ้นสู่อำนาจของเขาจึงแตกต่างกับบริบทในวันนี้อย่างสิ้นเชิง”

หลังได้รับเอกราชลี กวนยูต้องเจองานใหญ่ เช่น แก้ปัญหาการว่างงานและจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามเย็น สงครามเวียดนาม และการเผชิญหน้ากันระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย

“ภายใต้สภาพแวดล้อมนั้น รูปแบบการนำต้องควบคุมเรื่องภายในไว้ได้ทั้งหมด เพื่อให้ผู้นำบริหารการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศได้” ซิงห์กล่าวและว่า ลี กวนยู “แข็งกร้าวเกินไป” และ “ไม่ปล่อยมือเลยแม้สังคมเปลี่ยนแปลง”

ไนเดีย เงียว กรรมการผู้จัดการบาวเออร์กรุ๊ปในสิงคโปร์ ชี้ว่า แนวทางของลีจำเป็นในเวลานั้น เมื่อเขาต้องสถาปนาอัตลักษณ์ของชาติและความเป็นเอกภาพในสังคมพหุวัฒนธรรมที่เพิ่งเกิดใหม่

“แนวทางของเขาคือเน้นย้ำระบบคุณธรรม ลัทธิปฏิบัตินิยม และการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงแรกๆ ของเอกราชสิงคโปร์”

แม้นโยบายของเขาเปลี่ยนสิงคโปร์เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกได้ แต่นักวิจารณ์โต้แย้งว่า นั่นต้องแลกด้วยเสรีภาพทางการเมือง

เทเรนซ์ ลี คณบดีคณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา สถาบันการศึกษาชั้นสูงเชอริแดนในเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เรียกรูปแบบการนำของลีว่า “ไม่ค่อยผ่อนปรน” คนไม่ชอบอาจเรียกเขาว่า “ด้านแกร่งของอำนาจนิยม”

กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลีประสบความสำเร็จในสร้างหลักประกันว่า สิงคโปร์ไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ยังเติบโตด้วย

คำพูดอันโด่งดังของนายกฯ ผู้ก่อตั้งประเทศ ว่าไว้ในปี 1965

“เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ที่ตรงนี้เป็นบึงโคลน วันนี้ ที่นี่คือเมืองทันสมัย สิบปีนับจากนี้ ตรงนี้จะเป็นมหานคร ไม่ต้องกลัว”

  • รัฐบาลนุ่มนวลขึ้น

ตอนที่โก๊ะ จ๊กตง รับตำแหน่งนายกฯ ในปี 1990 ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโต ชาวสิงคโปร์มั่งคั่ง ปลอดภัยและมั่นคง

“ทุกอย่างเจริญรุ่งเรือง ราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าจ้างเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงเวลานั้น จริงๆ แล้ว (คุณโก๊ะ) ดูแลสิงคโปร์ให้กลายเป็นเมืองของโลกในทุกวันนี้ เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ในทศวรรษ 1990 และเขาเป็นผู้ดูแลช่วงนั้น” นักวิชาการจากเพิร์ธกล่าวและว่า

โก๊ะตั้งใจจะทำให้สิงคโปร์ “นุ่มนวลอ่อนโยนขึ้น” ตั้งแต่ก่อนเป็นนายกฯ เขาย้ำเรื่องการสร้างฉันทามติ และจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม เช่น ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้าง “ค่านิยม” สิงคโปร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม โก๊ะได้นำพาสิงคโปร์ผ่านช่วงเวลาท้าทายของโลกด้วย เช่นวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1997, ลัทธิก่อการร้ายผงาดขึ้นมาเป็นภัยคุกคามสำคัญ หลังการโจมตี 9/11 ในปี 2001และกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ วางแผนโจมตีสิงคโปร์ในปีเดียวกัน รวมถึงการระบาดของกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในปี 2003

ซิงห์กล่าวว่า ด้วยภูมิหลังการเป็นข้าราชการของโก๊ะเท่ากับว่าเขาไม่ได้เป็นผู้นำมากบารมีเหมือนลี กวนยู แต่ “สุดท้ายแล้วความเชื่อมโยงกับผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ” ชาวสิงคโปร์เชื่อมั่นในสิ่งที่โก๊ะพูด

กระนั้นช่วงเวลาส่วนใหญ่ของนายกฯ โก๊ะ ถูกลีบดบังในฐานะรัฐมนตรีอาวุโส ตั้งแต่ปี 1990-2004 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลี เซียนหลุง ผู้นำคนต่อไปดำรงตำแหน่งรองนายกฯ

  • เน้นประเด็นสังคม

การเป็นบุตรชายของนายกรัฐมนตรีคนแรก ลี เซียนหลุง มีโอกาสสัมผัสกิจการบ้านเมืองมาตั้งแต่อายุยังน้อย “และมีรันเวย์ทางการเมืองยาวมากๆ” ในทัศนะของนักวิชาการอย่างซิงห์ ด้วยเซนส์ทางการเมืองสูงเช่นนี้ นายกฯ ลีจึงสื่อสารนโยบายกับประชาชนได้ชัดเจน ทั้งนโยบายในประเทศและต่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2004 ลีต้องรับมือกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีมากอย่างต่อเนื่องและเริ่มบานปลายมาตั้งแต่ราวปี 2012

“สิ่งที่ลี เซียนหลุงทำต่างจากผู้นำคนก่อนๆ คือ เขาตระหนักมากว่าจำเป็นต้องสื่อสารต่อสาธารณะให้มากขึ้นว่า เราจะไม่เข้าข้างใคร” ซิงห์ให้ความเห็น

ผู้เชี่ยวชาญระบุด้วยว่า การที่ลีตั้งใจเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น เขามีผู้ติดตาม 1.7 ล้านคนบนเฟซบุ๊คและราว 730,000 บนอินสตาแกรม

ทั้งยังเน้นย้ำนโยบายสังคมแบบไม่แบ่งแยก ด้วยมาตรการอย่างเบบี้โบนัส ให้เงินสดเป็นของขวัญเด็กเกิดใหม่ และการเปลี่ยนมาทำงานห้าวันต่อสัปดาห์

ในการแถลงต่อสภาเมื่อปี 2006 ลีพูดเองว่า ก่อนยุคเขาสวัสดิการเป็น “คำสกปรก” ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลของเขา “ต้องสร้างสมดุลที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวสิงคโปร์รายได้น้อย”

เพื่อบรรลุความตั้งใจนี้ ลีไม่ได้ให้สวัสดิการโดยตรงแบบยุโรปที่กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายอย่างมาก แต่กลับสร้างแนวทางอันเป็นอัตลักษณ์ของสิงคโปร์เน้นการพึ่งพาตนเอง

กูรูตะวันตกยอมรับสิ่งที่ลีทำ บทความชิ้นหนึ่งเผยแพร่ในนิตยสารฟอร์บส เมื่อปี 2015 ซึ่งครบรอบ 50 ปีสิงคโปร์ เรียกตัวแบบนี้ว่าเป็นความสำเร็จอันโดดเด่นของสิงคโปร์ ที่สามารถสร้าง “สวัสดิการทางเลือกจากสไตล์ยุโรป” ได้

ผู้สังเกตการณ์กล่าวด้วยว่า เมื่อเทียบกับผู้นำคนก่อนๆ ลีมอบหมายภารกิจบริหารประเทศให้กับรัฐมนตรีมากขึ้น เมื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองซับซ้อนกว่าเดิมมาก

  • ผู้นำรุ่นที่ 4

ลอว์เรนซ์ หว่อง ส่งสัญญาณเบื้องต้นเน้น “จุดร่วม” และ “รับฟังมุมมองที่หลากหลายยิ่งขึ้น เปิดกว้างรับแนวคิดที่แตกต่าง”

โครงการสิงคโปร์ก้าวไกล (Forward SG) ของเขาเปิดตัวเมื่อเดือน มิ.ย. 2022 หลังจากหว่องได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองนายกฯ ได้ไม่นาน อาจมองได้ว่า เป็นความพยายามปรับข้อตกลงทางสังคมสิงคโปร์ ตรงข้ามกับโครงการหารือกับสาธารณชนครั้งก่อนๆ ที่ทำขึ้นเพื่อรวบปฏิกริยาตอบรับเพื่อแจ้งนโยบายเท่านั้น

รัฐบาลสิงคโปร์นิยามข้อตกลงทางสังคม หมายถึง ข้อตกลงโดยปริยายระหว่างประชาชนถึงบทบาทความรรับผิดชอบที่แต่ละคนต้องทำ

ข้อตกลงทางสังคมจะสำคัญยิ่งเมื่อหว่องเตรียมรับมือความท้าทายมากมาย ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีตั้งแต่ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ขยายวงและการดิ้นรนทางชนชั้น, การเคลื่อนย้ายทางสังคมและความครอบคลุม,สิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ประชากรสูงอายุต้องการการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งระดับโลกและภูมิภาค

เงียวกล่าวว่า นายกฯ ใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าบ่มเพาะนวัตกรรมและผู้ประกอบการต่อไป พร้อมๆ กับรักษาชื่อเสียงของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ไม่เช่นนั้นแล้ว “ต้องเสี่ยงเจอความเดือดดาลจากประชาชน”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...