เอไอ ดาต้าเซ็นเตอร์ พลังงาน และโจทย์ความยั่งยืน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ซึ่งมองโลกผ่านการไหลเวียนของการใช้ทรัพยากรไปจนจบวงจรถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งคำถามถึงผลกระทบของ AI ต่อเส้นทางสู่โลกที่ยั่งยืน ว่า AI จะเป็นตัวเอกที่ช่วยให้มนุษย์สร้างโลกที่ยั่งยืนได้ หรือ AI จะเป็นตัวร้ายที่ระหว่างทางก็กินทรัพยากรและพลังงานจนทำให้โลกไกลห่างจากความยั่งยืนเสียเอง

เป็นความจริงที่ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศูนย์ข้อมูล” (Data Center) “เอไอแบบสร้างสรรค์” (Generative AI) และ “เงินดิจิทัล” กลายเป็นผู้บริโภคพลังงานรายสำคัญในระดับโลก

ข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) พบว่า เทคโนโลยีเอไอบริโภคพลังงานคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 2 ของความต้องการพลังงานทั่วโลกในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2569 ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่เพียงมีนัยสำคัญเท่านั้น แต่ยังเทียบเท่ากับการใช้พลังงานของประเทศอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างเช่น “ญี่ปุ่น” เลยทีเดียว

ยุคดิจิทัลที่มอบความสะดวกสบายและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับชีวิตประจำวันของเรานั้น มีความต้องการพลังงานอันมหาศาลอยู่เบื้องหลังการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาทางออนไลน์ การสตรีมเพลงและทีวีซีรีส์ ไปจนถึงการประมวลผลคำตอบจาก AI

การโต้ตอบแต่ละครั้งกับโลกดิจิทัล ซึ่งมักไม่มีใครสังเกตเห็นนั้น ล้วนทำให้เกิดการบริโภคพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนี้ยังเกี่ยวข้องกับต้นทุนวัสดุและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีการประเมินอย่างรอบคอบในกระบวนการแลกเปลี่ยนพลังงานที่อยู่เบื้องหลัง

สำหรับ AI โดยเฉพาะ Generative AI อย่าง GPT-3 ของ OpenAI เผยให้เห็นตัวเลขการใช้พลังงานว่า การฝึกอบรมแบบจำลองเพื่อให้เอไอเก่งขึ้นนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 1,300 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง (MWh) ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้พลังงานต่อปีของครัวเรือนชาวอเมริกันประมาณ 130 ครัวเรือน

การโต้ตอบทางดิจิทัลทุกวัน เช่น การค้นหาของ Google และการโต้ตอบของ AI เพิ่มการใช้พลังงานได้อย่างมาก หาก AI เช่น ChatGPT จัดการกับปริมาณการค้นหาที่เพิ่มในแต่ละวัน พลังงานเพิ่มเติมที่ต้องการจะใช้ก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาล ประมาณการว่า ในปี 2570 ภาคเทคโนโลยี AI อาจใช้พลังงานระหว่าง 85 ถึง 134 เทราวัตต์ต่อชั่วโมงในแต่ละปี ซึ่งใกล้เคียงกับความต้องการพลังงานประจำปีของประเทศเนเธอร์แลนด์

การทำงานของระบบ AI ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญด้วย เนื่องจากทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ลักษณะที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้นของการฝึกอบรมโมเดล AI และการดำเนินงานบริการอย่างต่อเนื่อง เช่น ChatGPT ส่งผลให้มีความต้องการพลังงานและการทำความเย็นอย่างต่อเนื่อง

IEA รายงานว่าการใช้ไฟฟ้าโดย “ดาต้าเซ็นเตอร์” จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากความต้องการของ AI และสกุลเงินดิจิทัล โดยการใช้พลังงานอยู่ที่ประมาณ 460 เทราวัตต์ต่อชั่วโมงในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 620 ถึง 1,050 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง ในปี 2569 ซึ่งเทียบเท่ากับความต้องการพลังงานของสวีเดนหรือเยอรมนีตามลำดับ

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขยายออกไปมากกว่าแค่การใช้พลังงานเท่านั้น ดาต้าเซนเตอร์หรือศูนย์ข้อมูล จำเป็นต้องมีกลไกการระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการความร้อนที่ปล่อยออกมา

ซึ่งมักจะต้องใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงานจำนวนมาก เมื่อระบบ AI มีความก้าวหน้าและแพร่หลายมากขึ้น ความต้องการศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นและใช้พลังงานมากขึ้นก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความท้าทายทางระบบนิเวศที่สำคัญ

วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ AI มีข้อเสนอ เช่น การจัดอันดับ “Energy Star” สำหรับโมเดล AI เพื่อแจ้งและแนะนำผู้บริโภคให้มีตัวเลือกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสนับสนุนให้ผู้ใช้มีความตื่นรู้ทางดิจิทัลและใช้งานอย่างเหมาะสม โดยสนับสนุนให้ผู้ใช้ตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความถี่ของการใช้เทคโนโลยีของตน

สหรัฐและสหภาพยุโรปได้เริ่มใช้มาตรการกำกับดูแล ในสหรัฐได้เสนอร่างกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลกลางประเมิน “รอยเท้าทางสิ่งแวดล้อม” (Environmental Footprint) ในปัจจุบันของ AI และพัฒนาระบบที่ได้มาตรฐานสำหรับการรายงานผลกระทบในอนาคต

ในทำนองเดียวกัน “กฎหมาย AI” (AI Act) ของสหภาพยุโรปกำหนดให้ระบบ AI ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องรายงานการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตลอดวงจรชีวิต

ในขณะที่ AI สร้างโอกาสมากมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของมนุษยชาติ เช่น การปรับปรุงแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

แต่ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI นั้นก็มีมากมายเช่นกัน ความขัดแย้งที่นักวิจัยตั้งข้อสังเกตชี้ให้เห็นว่าการทำให้ AI ประหยัดพลังงานมากขึ้นอาจนำไปสู่การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

ในอนาคตเราจึงมีโจทย์เรื่องเอไอที่ยั่งยืนหรือเอไอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาด้วย อีกทั้งการต้องทบทวนในเชิงนโยบายว่าการส่งเสริมให้นักลงทุนเทคโนโลยีต่างชาติมาตั้งศูนย์ข้อมูล ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำสูงนั้นคุ้มค่ากับประเทศมากน้อยเพียงใด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

มาแล้ว รายชื่อ 11 ตัวจริง อาร์เซนอล-ลิเวอร์พูล บิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีกคืนนี้

มาแล้ว รายชื่อ 11 ตัวจริง อาร์เซนอล และ ลิเวอร์พูล ก่อนดวลเดือดศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤศ คืนนี้ เริ่มแข...

ถึงเวลาต้องเลือก ‘อิหร่าน’ โต้กลับ หรือเลี่ยงความรุนแรง ‘อิสราเอล’

เหตุการณ์อิสราเอล โจมตีอิหร่าน ทำให้สงครามตะวันออกกลางรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่ง "การหลีกเลี่ยง หรือจะเสี่ย...

จีนเผย ‘ท่าประตูสู่อาเซียน’ ส่งออกชิ้นส่วนรถ NEV พุ่ง 70 เท่าใน 5 ปี

สำนักข่าวซินหัวรายงาน เมื่อนับถึงวันที่ 22 ต.ค. มีตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุชิ้นส่วนยานยนต์พลังงานใหม่ 1...

เอ็นเอชเค คาด พรรคแอลดีพีไม่ได้เสียงข้างมากในสภา

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานข่าวด่วน อ้างการคาดการณ์จากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น เบื้องต้นยังไม่ทรา...