ถึงเวลาต้องเลือก ‘อิหร่าน’ โต้กลับ หรือเลี่ยงความรุนแรง ‘อิสราเอล’

เหตุการณ์อิสราเอล โจมตีอิหร่าน ทำให้สงครามตะวันออกกลางรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่ง "การหลีกเลี่ยง หรือจะเสี่ยงโจมตีกลับ  อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง นี่เป็นสองทางเลือกหลักที่ผู้นำอิหร่านต้องตัดสินใจ" ที่ปรึกษาคนสำคัญของอายะตุลลอฮ์ อะลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านกล่าว 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อิหร่านจะตัดสินใจเลือกหนทางเลวร้ายน้อยที่สุดในบรรดาทางเลือกที่ยากลำบากมากมาย แม้อีกด้านหนึ่ง อิสราเอลขู่กำลังจะใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีอีกระลอก

ตอนนี้อิหร่านดูอ่อนแอ ถูกกองทัพอิสราเอลข่มขู่และโดนขัดขวางอำนาจ โดยมีสหรัฐให้การสนับสนุนอยู่ข้างหลัง

ท้ายที่สุดแล้ว มีแนวโน้มว่า ผู้นำสูงสุดอิหร่านจะตัดสินใจสิ่งที่เห็นว่า จะสร้างความเสียหายต่อหนทางอยู่รอดของระบอบการปกครองอิสลามของอิหร่านให้น้อยที่สุด 

คุกคามอย่างไร้เหตุผล

สื่อทางการอิหร่านเผยแพร่แถลงการณ์หลายชั่วโมงก่อน หลังเหตุการณ์อิสราเอลโจมตี หากมองเผินๆ ดูเหมือนว่า อิหร่านได้ตัดสินใจตอบโต้ไปแล้ว ซึ่งอิหร่านเองก็อ้างความชอบธรรมเหมือนอิสราเอล เกี่ยวกับสิทธิในการปกป้องประเทศจากการโจมตี หากแต่ความเป็นจริง ผลลัพธ์จะสร้างความเสียหายสูงตามมา ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้อิหร่านตัดสินใจถอนคำขู่ที่ออกไป

แถลงการณ์อิหร่านสอดคล้องเหตุการณ์ที่อิหร่านยิงขีปนาวุธพิสัยไกลใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อับบาส อารากชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NTV ของตุรกีว่า “ การโจมตีใดๆก็ตาม จะถือว่าเป็นการข้ามเส้นแดงของเรา และเหตุการณ์โจมตีดังกล่าวจะไม่ถูกปล่อยผ่านแน่นอน”

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่อิสราเอลจะโจมตีอิหร่าน เอสมาอิล บาเช โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวว่า เหตุการณ์รุกรานอิหร่านใดๆก็ตาม จะได้รับการตอบโต้อย่างสุดกำลัง ซึ่งการที่อิสราเอลกล่าวอ้างว่า อิหร่านจะไม่ตอบโต้การโจมตีนั้น เป็นการเข้าใจผิดและไร้เหตุผล

ในวานนี้ ระหว่างที่เครื่องบินอิสราเอลมุ่งหน้ากลับฐานทัพ กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้ออกแถลงการณ์อ้างถึงสิทธิการป้องกันประเทศ “ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ” ว่า อิหร่านเชื่อมั่นประเทศตนเองมีสิทธิ และภาระผูกพันที่จะตอบโต้การรุกรานจากต่างประเทศ

แลกเปลี่ยนเหตุนองเลือด

อิสราเอลเพิ่มสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา เพราะมองว่าอิหร่านเป็นผู้ให้การสนับสนุนสำคัญในเหตุกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 1,200 คน ในจำนวนนั้นมีชาวอิสราเอลและต่างชาติมากกว่า 70 คน ขณะที่อิหร่านเกรงอิสราเอลกำลังมองหาช่วงจังหวะโจมตีอิหร่าน จึงพยายามส่งสัญญาณอยู่หลายครั้งว่า ไม่ต้องการทำสงครามเต็มรูปแบบกับอิสราเอล

ขณะที่ผู้คนในเตหะรานกลับคิดว่า ทางการอิหร่านมีแนวคิดทำสงครามเต็มรูปแบบ เหตุเพราะอิหร่านใช้พันธมิตรและกลุ่มกองกำลังเพื่อทำหน้าที่เป็นแกนหลักต่อต้านและโจมตีอิสราเอล เช่นเหตุการณ์กลุ่มฮูตีในเยเมนปิดเส้นทางและโจมตีการเดินเรือในทะเลแดง กลุ่มอิซบอลเลาะห์ยิงจรวดจากเลบานอนเข้าใส่ประชาชนอิสราเอล เป็นผลให้ผู้คนอย่าง 60,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านไปยังพื้นที่ปลอดภัย

พันธมิตรอิหร่านเสื่อมกำลังลง

นับตั้งแต่ฤดูร้อนเป็นต้นมา อิสราเอลยกระดับสงครามกับอิหร่านและพันธมิตร ซึ่งการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปฏิบัติการเชิงรุกต่อกลุ่มอิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของอิหร่านในเลบานอน

กลุ่มอิซบอลเลาะห์ยังคงต่อสู้ และสังหารทหารอิสราเอลในเลบานอน ทั้งยังยิงจรวดเข้าใส่อีกจำนวนมาก แต่ตอนนี้กลุ่มอิซบอลเลาะห์ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ หลังสูญเสียผู้นำและคลังอาวุธโดนทำลายเป็นจำนวนมาก

เมื่อยุทธศาสตร์ล้มเหลว ทำให้อิหร่านจำเป็นต้องตอบโต้ เพราะการปล่อยให้พันธมิตรต่อสู้และเสียชีวิตโดยไม่ตอบโต้ใดๆ จะยิ่งทำลายสถานะผู้นำของกลุ่มกองกำลังต่อต้านอิสราเอล และชาติตะวันตก นั่นก็คือคำตอบตามที่เกิดเหตุการณ์อิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วยอาวุธสายไกลในวันที่ 1 ตุลาคม 2567

ส่วนการโจมตีทางอากาศในวันวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการตอบโต้จากอิสราเอล ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้  ปัจจัยหนึ่งมาจากแผนการอิสราเอลรั่วไหลออกไป

ดึงความสนใจ ไปจากฉนวนกาซา

ช่วงเวลานั้น อิสราเอลยังได้เปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ในฉนวนกาซาตอนเหนือ โวลเกอร์ เติร์ก เลขาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ถือเป็นช่วงเวลามืดมนที่สุดของสงครามฉนวนกาซา เพราะกองทัพอิสราเอลได้ทำให้ประชากรทั้งประเทศตกอยู่ภายใต้การปิดล้อม ทิ้งระเบิด และเสี่ยงอดอาหาร

เป็นไปไม่ได้คนนอกจะรู้ว่าช่วงเวลาที่อิสราเอลโจมตีอิหร่านนั้น ก็เพื่อดึงความสนใจของนานาชาติไปจากฉนวนกาซาตอนเหนือ แต่นั้นก็เป็นเพียงประมาณการณ์เท่านั้น

หยุดยั้งวงจรอุบาทว์ลุกลาม

การหยุดโจมตีและตอบโต้กลับเป็นเรื่องยาก หากประเทศนั้นๆเชื่อว่า การไม่ทำอะไรเลย จะถูกมองว่า อ่อนแอ และท้อถอย นั่นคือวิถีแห่งสงครามดำเนินไปต่อเนื่องอย่างควบคุมไม่ได้

อิหร่านจะยอมให้อิสราเอลมีอำนาจต่อการตัดสินใจครั้งสุดท้ายหรือไม่ โดยเฉพาะสงครามครั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ก็เป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลตัดสินใจโต้กลับจากเหตุการณ์วันที่ 1 ตุลาคม และยังบอกอิสราเอลอย่าทิ้งระเบิดทำลายแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน นั่นคือโรงงานนิวเคลียร์ แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้สหรัฐยังเสริมแนวกำลังป้องกัน ด้วยการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD ให้อิสราเอล จากนั้นนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ก็ตัดสินใจทำตามคำแนะนำของไบเดน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายน เป็นส่วนหนึ่งต่อเหตุการณ์หลังจากนี้ที่จะเกิดขึ้นกับอิสราเอลและอิหร่าน ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง หากเกิดเหตุการณ์ตอบโต้อิหร่าน ทรัมป์อาจกังวลน้อยกว่าไบเดนว่า โรงงานนิวเคลียร์ แหล่งน้ำมันและก๊าซจะถูกโจมตีหรือไม่

การที่อิสราเอลตัดสินใจจะไม่โจมตีขุมทรัพย์ของอิหร่าน อาจทำให้เตหะรานเลื่อนขยายการตอบโต้อย่างน้อยก็นานพอที่นักการทูตอิหร่านจะได้ทำหน้าที่ของตนเอง โดยในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ผ่านมา ผู้แทนอิหร่านกล่าวว่าพร้อมเปิดใจต่อการเจรจานิวเคลียร์รอบใหม่

ทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกประเทศทั่วโลก เพราะอิหร่านปฏิเสธมาเสมอว่า ไม่ต้องการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ แต่ความเชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์และการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมทำให้สามารถผลิตอาวุธชนิดนี้ได้ ดังนั้นผู้นำอิหร่านคงต้องมองหาวิธีใหม่ในการข่มขวัญศัตรู โดยเฉพาะแผนการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้กับขีปนาวุธพิสัยไกลของอิหร่าน 

อ้างอิง : BBC

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

มาแล้ว รายชื่อ 11 ตัวจริง อาร์เซนอล-ลิเวอร์พูล บิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีกคืนนี้

มาแล้ว รายชื่อ 11 ตัวจริง อาร์เซนอล และ ลิเวอร์พูล ก่อนดวลเดือดศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤศ คืนนี้ เริ่มแข...

ถึงเวลาต้องเลือก ‘อิหร่าน’ โต้กลับ หรือเลี่ยงความรุนแรง ‘อิสราเอล’

เหตุการณ์อิสราเอล โจมตีอิหร่าน ทำให้สงครามตะวันออกกลางรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่ง "การหลีกเลี่ยง หรือจะเสี่ย...

เอ็นเอชเค คาด พรรคแอลดีพีไม่ได้เสียงข้างมากในสภา

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานข่าวด่วน อ้างการคาดการณ์จากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น เบื้องต้นยังไม่ทรา...

เปิดอันดับการรู้หนังสือในทวีป SEA ไทยรั้งท้าย แต่ยังนำเมียนมา และกัมพูชา

ความสามารถในการอ่านออกและเขียนได้ (Literacy) ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดเส้นทางอาชีพของบุค...