'วงการแฟชั่น' ปรับตัวอย่างไร ในวันที่โลกมองหาความยั่งยืน

ความนิยมของอุตสาหกรรมแฟชั่น ส่งผลให้เกิดการผลิตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตมีการใช้น้ำและทรัพยากรมหาศาล โดยเฉพาะ Fast Fashion ที่นอกจากจะผลิตออกมาเกินความต้องการแล้ว ยังสร้างขยะเสื้อผ้าให้กับโลก เช่น ใน “กานา” ที่มีการนำเข้าเสื้อผ้ามือสองประมาณ 15 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ ในปี 2021 กานานำเข้าเสื้อผ้ามือสอง รวมทั้งหมดมูลค่า 214 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7,832,614,000 บาท ทำให้กานากลายเป็นตลาดเสื้อผ้ามือสองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

กองขยะเสื้อผ้าขนาดใหญ่ใน “กานา” เป็นผลพวงจาก “Fast Fashion” ที่ แม้ว่าส่วนหนึ่งชาวบ้านจะนำไปขายต่อเป็นสินค้ามือสอง แต่ก็ใช่ว่าสินค้าทุกอย่างจะสามารถขายต่อได้ นอกจากนี้ กานายังได้รับบริจาคเสื้อผ้ามาจากประเทศต่างๆ เพิ่มอีกด้วย เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และจีน

 

สิ่งทอ ก่อคาร์บอน 1.2 พันล้านตัน

ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงราว 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน นอกเหนือจากผลกระทบการผลิตสิ่งทอแล้ว ยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ คือ การซักเสื้อผ้าและวิธีการทิ้งเสื้อผ้า ซึ่งก็คือมีการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในทุกๆ ปี หรือเท่ากับร้อยละ 8 ของการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • Fast Fashion ที่ว่าเร็ว กำลังถูกดิสรัป!! Ultra-Fast Fashion มาแรงและเร็วกว่า
  • ขยะ ‘Fast Fashion’ ถล่มโลก สร้างมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ ‘กานา’ โดนหนักสุด
  • Fast Fashion กับคำถาม ความคุ้มค่าการใช้ทรัพยากร

 

สหราชอาณาจักร เป็นศูนย์กลาง Fast Fashion ในยุโรป ทุกๆ ปี ประชากรแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าประมาณ 26.7 กิโลกรัม สัดส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ในเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2543 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี 2562

 

เส้นใยเหล่านี้ผลิตจากน้ำมัน เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 5.5 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.1 กิโลกรัม

 

หากความต้องการยังคงเติบโตต่อเนื่องปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรวมของเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,978 ล้านตันภายในปี 2593 นั่นหมายความว่าภายในปี 2593 อุตสาหกรรมนี้จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งถึง 2 องศาเซลเซียส ถึงร้อยละ 26 จากทั้งหมด

 

ความท้าทาย โลกแฟชั่น หลังวิกฤติโรคระบาด

  • เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทำงานจากที่บ้านมากขึ้น และทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น
  • เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) คนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพกายและใจมากขึ้น
  • เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

 

แบรนด์ชั้นนำปรับตัว

Zara ผลิตสินค้าจากเส้นใยธรรมชาติ

แต่กลยุทธ์ใหม่ของแบรนด์เน้นไปที่การบริโภคอย่างยั่งยืน โดยจะผลิตคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่มาจากเส้นใยธรรมชาติ (Sustainable Fabrics) และเส้นใยผ้าที่ทำจากขยะรีไซเคิล ไม่เฉพาะเสื้อผ้าเท่านั้น Zara ยังวางแผนจะผลิตอุปกรณ์ใช้งานภายในร้านที่ทำจากขยะรีไซเคิล โดยมีแนวทางเลิกมอบถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เปลี่ยนเป็นกล่องกระดาษรีไซเคิลในการแพ็กสินค้าและขนส่ง รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนในองค์กร และร้านค้าแต่ละสาขา โดยคาดว่าจะทำสำเร็จภายในปี 2025 เพื่อครอบคลุมเป้าหมายของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ที่ไม่ได้จำกัดแค่สินค้าแฟชั่นอย่างเดียว

 

Prada ผลิตกระเป๋าไนลอน

Prada ผลิตกระเป๋าจากวัสดุไนลอน เรียกได้ว่าเป็น Signature ของแบรนด์ เพื่อช่วยลดขยะและมลภาวะทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าคาดเอว, กระเป๋าหิ้วใบใหญ่, กระเป๋าดัฟเฟิล กระเป๋าสะพายไหล่ และกระเป๋าเป้สะพายหลัง 2 แบบ ทั้งหมดนี้ผลิตจากวัสดุไนลอนรีไซเคิลที่เรียกว่า Econyl ที่มาจากเศษขยะพลาสติกก้นทะเล เช่น ตะข่ายจับปลา และขยะเส้นใยสิ่งทอ นอกจากนี้รายได้ส่วนหนึ่งจากยอดขายคอลเล็กชั่น Re-Nylon จะบริจาคให้กับแคมเปญพัฒนาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

UNIQLO มุ่งสู่ความยั่งยืนในปี 2030

สำหรับ ยูนิโคล่ (UNIQLO) สานต่อแผนปฏิบัติการสำหรับความยั่งยืนภายในปีงบประมาณ 2030 ของ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ผ่านแนวคิดไลฟ์แวร์ (LifeWear) เพื่อเป้าหมายการเป็นเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยความคิดริเริ่มสำคัญ 2 ประการ

 

ผลิตเสื้อผ้าที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ได้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่นำสมัย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลก

 

ผลิตเสื้อผ้าที่ดีสำหรับผู้คนและสังคม ส่งเสริมการจัดตั้งสภาพแวดล้อมการทำงานที่สามารถปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชน รวมถึงพนักงานของบริษัทและผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมด ตลอดจนดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ทั้งในระดับสากลและระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นร่วมกับลูกค้า

 

ญี่ปุ่น รับมือเสื้อผ้ามหาศาล

ที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่น อยู่ในสถานภาพซึ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นกำลังสร้างภาระหนักให้กับสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลจาก Japan Research Institute พบว่า มีเสื้อผ้ากว่า 51.0 หมื่นตันถูกทำลายทิ้ง ในขณะที่เพียงร้อยละ 15.6 หรือ 12.3 หมื่นตัน ถูกนำไปรีไซเคิล และร้อยละ 19.6 หรือ 15.4 หมื่นตัน ถูกนำไปใช้ซ้ำ (Reuse)

 

ในปี 2021 ภาครัฐ ได้มีการกำหนดนโยบายและการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนประกอบด้วย 3 กระทรวง คือ กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม และทบวงผู้บริโภค

 

ทำหน้าที่ประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมและผู้บริโภค เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะศึกษา ‘Study Group on Future of Fashion’ ซึ่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัทผู้ผลิต ดีไซน์เนอร์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการดำเนินการไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม เสื้อผ้าแฟชั่นซึ่งสามารถสร้างมูลค่าที่มีความยั่งยืน

 

Sustainable Fashion

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ข้อผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงเรื่อง Sustainable Fashion โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการ ทั้งในฝ่ายผู้บริโภคและผู้ผลิต ดังนี้

 

1. ถนอมเสื้อผ้าที่ใช้อยู่ให้ใช้ได้ยาวนาน

โดยผู้บริโภคควรใช้เสื้อผ้าให้นาน หรือนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาดัดแปลง ปรับเปลี่ยนเป็นแบบอื่นเพื่อใส่ใหม่ ในขณะที่ผู้ผลิตควรผลิตเสื้อผ้าที่มีการอายุการใช้งานได้นานและควรมีแผนก บริการรับแก้ไขซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ผลิตจำหน่ายของบริษัทตน

 

2. ใช้เสื้อผ้าซ้ำ หรือ Reuse

ในด้านผู้บริโภคควรมีระบบบริการแลกเปลี่ยนการใช้ (Sharing Services) หรือระบบให้ยืม (Rental Services) รวมทั้งใช้เสื้อผ้ามือสอง ส่วนผู้ผลิตควรสนับสนุนให้เกิดการนำเสื้อผ้ามาใช้ซ้ำ เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง หรือเปิดบริการระบบ Subscription ซึ่งเป็นระบบที่ผู้บริโภคจ่าย ค่าบริการในอัตราที่กำหนดและสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ต้องการไปใส่ได้เรื่อยๆ

 

3. คิดแบบยาวๆ เมื่อซื้อเสื้อผ้า

โดยผู้บริโภคควรเลิกพฤติกรรมซื้อแบบไม่ได้คิด ควรไตร่ตรองก่อนซื้อว่าจำเป็นหรือไม่ และเลือกซื้อเสื้อผ้าคุณภาพดีที่สามารถใช้ไปได้นาน ส่วนผู้ผลิตควรทบทวนการผลิตให้มีปริมาณสต็อกที่เหมาะสม รวมทั้งวางแผนจำหน่ายที่ครอบคลุมถึงการจำหน่ายเสื้อผ้าที่เลยฤดูกาลหรือกระแสนิยมไปแล้ว

 

4. ให้ความใส่ใจและดูให้ถึงแก่น

ผู้บริโภคควรใส่ใจกับรายละเอียดของเสื้อผ้าก่อนจะซื้อ เช่นดูป้าย (Tag) ที่ระบุ ข้อมูลของเสื้อผ้าหรือ QR Code หรือสอบถามผู้ขายเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ และวิธีการผลิตของวัสดุนั้น ทำความเข้าใจถึงคุณค่าของการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลของขวดพลาสติก PET หรือกางเกงยีนส์ที่ผลิตจากเศษเหลือของผ้าจากการตัดเย็บ เป็นต้น ส่วนผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการตรวจ ย้อนกลับของวัสดุที่นำมาใช้ว่าได้มาด้วยวิธีใด และส่งเสริม Upcycle หรือการนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น

 

5. ให้คำนึงว่าเสื้อผ้าก็เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง

โดยผู้บริโภคควรนำเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้หรือที่จะทิ้งลงขยะ ไปให้สถานที่รวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิล ฝ่ายผู้ผลิตจำหน่ายควรมีช่องทางการรวบรวมเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว และค้นคว้าพัฒนาระบบการรีไซเคิลเสื้อผ้าให้มีต้นทุนต่ำ โดยไม่เพียงดำเนินการเป็นแต่ละรายแต่ควรร่วมมือกันดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมโดยรวม

 

ผู้ผลิต ใส่ใจกระบวนการผลิตมากขึ้น

สำหรับในด้านผู้ผลิต คาดว่าจะมีการนำวัสดุธรรมชาติที่ปราศจากการใช้สารเคมีมาใช้มากขึ้น และเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยในการพัฒนาวิธีการรีไซเคิลและอัพไซเคิลเพื่อนำมาใช้ผลิตสินค้า ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อให้ใช้ได้นาน การผลิตและจำหน่ายใน ลักษณะ Fast Fashion คือ ผลิตปริมาณมากและมีวงจรชีวิตสินค้าสั้นอาจจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

ดังนั้น การพึ่งพาแหล่งผลิตในต่างประเทศที่มีความได้เปรียบเพียงเพราะค่าแรงงานต่ำเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่กลยุทธ์ของผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นของญี่ปุ่นอีกต่อไป อีกทั้งหากบริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นส่วนใหญ่สามารถที่จะพัฒนาการผลิตและสินค้าของตนไปสู่การเป็น Sustainable Fashion กันมากขึ้น ภาครัฐของญี่ปุ่นเองก็อาจจะค่อยๆมีการปรับแก้ไขกฎหมายหรือนำมาตรการต่างๆ ที่ควบคุมหรือจำกัดการผลิตที่เป็นภัยหรือภาระต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ต่อไป

 

 

อ้างอิง : Krungsri Plearn Plearn , ธนาคารกรุงเทพ , สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...