ประวัติ 4 รมต. รวมไทยสร้างชาติ “พีระพันธุ์-พิมพ์ภัทรา-กฤษฎา-อนุชา”

ส่องโฉมหน้า และประวัติ 4 รัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล-กฤษฎา จีนะวิจารณะ-อนุชา นาคาศัย” ร่วมคณะรัฐมนตรีเศรษฐา

พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย จนล่าสุดมีการฟอร์มคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ซึ่งเมื่อมีการจับมือกันแล้วได้แบ่งโควตารัฐมนตรีจนลงตัว ซึ่งในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 36 คน ได้ 2 รัฐมนตรีว่าการ และ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ 

กระทั่งวันที่ 2 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลเศรษฐา แล้ว รัฐมนตรีในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประวัติ 4 รัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ

...

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สำหรับประวัติของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เป็นบุตรของ พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร เป็นหลานของ พระยาสาลีรัฐวิภาค (สงวน ไนคีตะเสน) นายพีระพันธุ์ สมรสกับ นางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน 

ประวัติการศึกษา นายพีระพันธุ์ เรียบจบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล พ.ศ. 2508-2519 ต่อด้วย นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2520-2524) เนติบัณฑิตไทย รุ่นที่ 34 พ.ศ. 2525 นิติศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายเปรียบเทียบ พ.ศ. 2526 และนิติศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายอเมริกันทั่วไป พ.ศ. 2527 Tulane University, New Orleans, Louisiana, USA.

นายพีระพันธุ์ ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยพิพากษา รุ่นที่ 26 เมื่อ พ.ศ. 2529-2530 ก่อจะเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง พ.ศ. 2530-2531 โดยงานสุดท้ายเป็นผู้พิพากษาศาลประจำกระทรวง ทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง พ.ศ. 2535-กันยายน 2535 ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. ถึง 7 สมัย โดยล่าสุดเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนที่จะประกาศลาออก สส. ให้ลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาทำหน้าที่ แต่ยังคงเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และยังเป็นบุคคลสำคัญที่คอยอยู่เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ซึ่งเมื่อไม่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงอันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จึงประกาศวางมือทางการเมือง

ส่วนตำแหน่งทางการเมือง 

  • พ.ศ. 2540-2544 เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
  • พ.ศ. 2544-2548 เป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร
  • พ.ศ. 2548-2549 เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร
  • พ.ศ. 2551-2554 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • พ.ศ. 2562-2565 เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์
  • พ.ศ. 2565-2566 เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์
  • พ.ศ. 2566 เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ส่วนหนึ่งของผลงาน นายพีระพันธุ์ เคยผลักดันให้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540, ผลักดันให้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล, เสนอร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต, ตรวจสอบการทุจริตกรณีค่าโง่ทางด่วน, ตรวจสอบและรื้อฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์, รื้อฟื้น กองทุนยุติธรรม, อำนวยความเป็นธรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี มาคราวนี้ คงจะได้พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในตำแหน่งที่สำคัญขึ้นทั้ง 2 เก้าอี้

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

มาต่อที่ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเจ้าตัวเคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าอีกบุคคลที่น่าจับตา เพราะถือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมผู้หญิงคนแรก เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2522 เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบธุรกิจบริษัท วอเตอร์เทสท์ จำกัด

ต่อมาเข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช ในการเลือกตั้งปี 2550 แทนบิดา นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็น สส. สมัยแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ และยังได้รับการเลือกตั้งอีก 2 สมัย ปี 2554 และปี 2562 อีกทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 

กระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้เปิดตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และลงสมัครรับเลือกตั้ง 2566 จนกลายเป็น สส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพียงคนเดียวใน จ.นครศรีธรรมราช และได้เป็นหนึ่งใน ครม.เศรษฐา 1 ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยเจ้าตัวมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ และลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ก่อนจะได้รับการโปรดเกล้าฯ 

ทางด้านเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 กันยายน 2566 เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตำแหน่ง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีเนื้อหาว่า ด้วยกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งอนุญาตให้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2566 เพื่อไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2506 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท MBA จาก มหาวิทยาลัยนิวเฮเวน เคยสมรสกับ นางศิริมงคล โชติกเสถียร แต่ปัจจุบันหย่าขาดแล้ว เมื่อจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา นายกฤษฎา เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง จนกระทั่งได้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน (นายเศรษฐกร ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ นายกฤษฎา ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แทนนายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร เมื่อปี 2557 จากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายกฤษฎา ให้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต แทนนายสมชาย พูลสวัสดิ์ ที่เกษียณอายุราชการ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายกฤษฎา ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร แทนนายกุลิศ สมบัติศิริ ที่โอนไปรับราชการในตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพลังงาน ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมมีมติให้ นายกฤษฎา ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ต่อจาก นายประสงค์ พูนธเนศ ที่เกษียณอายุราชการ

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

มาถึง นายอนุชา นาคาศัย หลายคนคุ้นหน้าค่าตา เพราะเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จนเมื่อมาถึงการเลือกตั้ง 2566 ได้รับเลือกเป็น สส. ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ 

ประวัติของ นายอนุชา เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2503 เป็นชาวชัยนาท จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับ นางพรทิวา นาคาศัย สส.ชัยนาท อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มีบุตร-ธิดา 2 คน แต่ปัจจุบันหย่ากับภรรยา

เส้นทางการเมือง นายอนุชา เริ่มจากเป็น สส. ชัยนาท พรรคไทยรักไทย และต่อมาในปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรค และนายอนุชา ยังเคยให้การสนับสนุนทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีอดีตภรรยาของตนเป็นเลขาธิการพรรคอีกด้วย กระทั่งในปี 2561 นายอนุชา ย้ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน นายอนุชา ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและ สส. ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ได้เห็นโฉมหน้า 4 รัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติกันไปแล้ว ขั้นตอนหลังจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จะต้องนำรัฐมนตรีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และเดินหน้าทำงานในฐานะรัฐบาลใหม่ทันที.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...