สัญญาณรัฐบาลใหม่ 'อินโดฯ' น่าห่วง ต่างชาติเทขายไม่หยุด ฉุดค่าเงินต่ำสุด 4 ปี

ธนาคารอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงในตลาดเงินตราเพื่อพยุงค่าเงิน”รูเปียห์” หลังจากที่อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์ และนักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก

ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงเกือบ 0.5% ในการซื้อขายช่วงเช้า แตะระดับ 15,963 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ขณะเดียวกันกองทุนทั่วโลกเทขายพันธบัตรอินโดนีเซียออกไปประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก เป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565

เอดี ซูซานโต ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินทรัพย์ทางการเงินและความมั่นคงธนาคารอินโดนีเซีย เผยว่า สาเหตุหลักที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงมาอย่างหนัก มาจากความต้องการดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง จากบริษัทต่างๆ ในอินโดนีเซียต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจ่ายปันผลให้นักลงทุนต่างประเทศ และเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตร ประกอบกับข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมีนาคมที่สูงกว่าคาดการณ์

นักลงทุนกังวลนโยบาย’ประชานิยม’รัฐบาลใหม่

รวมทั้งนักลงทุนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายอันมหาศาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ที่อาจเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ ในการทำโครงการอาหารกลางวันและนมฟรีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การขาดดุลงบประมาณของอินโดนีเซียขยายตัว และเป็นอันตรายต่อระดับการลงทุนด้วย

จอน แฮร์ริสัน กรรมการผู้จัดการบริษัทโกลบอลดาต้า ทีเอส ลอมบาร์ด ระบุว่าการใช้งบจำนวนมากทำให้รัฐบาลจะต้องกลับมาใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (fiscal consolidation) ในที่สุด ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรสกุลเงินรูเปียห์พุ่งขึ้น หรือหมายถึงต้นทุนกู้ยืมพุ่งในประเทศจะพุ่งขึ้นตาม กระทบต่อภาระหนี้ทั้งของรัฐบาลและภาคเอกชน

มิตุล โกเตชะ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาค FX และ EM ประจำเอเชียของธนาคารบาร์คลีส์ เห็นถึงแรงกดดันระยะสั้นอันเกิดจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ตลาดตราสารหนี้ของอินโดนีเซียที่ซบเซา และความต้องการเงินดอลลาร์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง

ดังนั้นนักลงทุนจะต้องจับตาดู "ดุลบัญชีเดินสะพัด” (current account deficit) ไตรมาสแรกของอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ขาดทุนเพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว  ขณะที่ "เกินดุลการค้า”ของอินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือเพียง 867 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ท่ามกลางภาวะการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรุดตัวลง

‘เฟด’กดดันสกุลเงินเอเชีย

สกุลเงินเอเชียเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักในเดือนมีนาคม ดัชนีชี้วัดค่าเงินเอเชียของบลูมเบิร์กแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน สาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากการเดิมพันว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไปและจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้

โดยส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินเอเชีย รวมถึงค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อ่อนแรงลงในเดือนมีนาคม สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด

อลัน เลา นักยุทธศาสตร์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากธนาคารเมย์แบงก์ สิงคโปร์ อธิบายว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง กระตุ้นให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจชะลอ การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ลงในปีนี้ ส่งผลต่อ ความเชื่อมั่น ของนักลงทุนต่อสกุลเงินเอเชีย

อย่างไรก็ตาม เลา ยังชี้ว่าค่าเงินดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นและ ความเป็นไปได้ที่เฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

รวมไปถึงตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดัชนี Jakarta Composite Index ของอินโดนีเซีย ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม สะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อ เศรษฐกิจโลก และ นโยบายการเงิน ของธนาคารกลางต่างๆ

ด้านซูซานโต จากธนาคารอินโดนีเซียแสดงความมั่นใจว่าแรงกดดันต่อค่าเงินรูเปียห์ ยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้และเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงส่งเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ตลาดมากพอที่ทำให้มั่นใจว่ามีสภาพคล่องในระบบเพียงพอ ซึ่งธนาคารกลางเตรียมพร้อมที่จะ”แทรกแซงตลาดตราสารหนี้”หากจำเป็น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

แบงก์ชาติในเอเชียเข้าแทรกแซงพยุงค่าเงิน

ขณะนี้หลายประเทศในเอเชียกำลังประสบปัญหาค่าเงินอ่อนค่าลง  ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้จึงเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงิน เช่นเดียวกับธนาคารกลางของอินโดนีเซีย กำลังให้การสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์ เช่นเดียวกับธนาคารกลางของญี่ปุ่นและจีน ที่กำลังดำเนินการเพื่อพยุงค่าเงินเยนและหยวนตามลำดับ

ธนาคารอินโดนีเซีย สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเมื่อเดือนตุลาคม 2566  โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักเพื่อหยุดยั้งค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่า

อย่างไรก็ตาม  ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย  เพอร์รี วาร์จิโย  ยืนกรานว่า อัตราดอกเบี้ยจะคงที่ในระดับปัจจุบัน  ธนาคารกลางจะใช้วิธีการแทรกแซงตลาดและขายพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินรูเปียห์แทน

ซาเตรีย ซัมบิญจันโตโร นักเศรษฐศาสตร์จาก PT Bahana Sekuritas คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจจะต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์อย่างหนักอีกครั้ง เนื่องจากกำลังเข้าใกล้ช่วงที่สกุลเงินรูเปียห์อ่อนค่า ซึ่งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแทรกแซง

อ้างอิง bloomberg

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...