เช็คเลย! ป.ป.ช.แพร่ 11 วิธีการกระทำเข้าข่าย 'รับสินบน'

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการ "รับสินบน" ซึ่งพัวพันกับการทุจริตในไทย โดยระบุว่า การทุจริตจากการรับสินบน หรือการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นรูปแบบหนึ่งของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และผิดจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารงานและภาพลักษณ์ขององค์กร ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อมิให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนและเป็นกฎหมายที่ป้องปรามการกระทำความผิดในเรื่องของ “สินบน” และลักษณะที่เข้าข่ายการรับสินบนเป็นอย่างไรบ้าง สรุปได้ดังนี้

1. “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” หมายถึง กินเปล่า หรือเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ มักใช้ในการให้สินบนในวงการการศึกษา เช่น การให้เงินเพื่อฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียนดังหรือได้เข้าเรียนในห้องเก่ง ห้องพิเศษ 

2. “เงินใต้โต๊ะ” หมายถึง เรียกเงินที่แอบให้กันโดยมิชอบ เพื่อจูงใจหรือตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการอนุมัติ อนุญาต หรือการเร่งรัดในการดำเนินงาน เช่น จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อได้รับการอนุญาตก่อสร้างอาคาร จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อรับการอนุมัติงานจ้าง 

3. “ส่วย” เดิม หมายถึง รายได้แผ่นดินประเภทหนึ่ง เรียกเก็บเป็นสิ่งของหรือเงินตราแทนการเข้าเดือนหรือการรับราชการ แต่ปัจจุบัน“ส่วย” เกิดจากการสมัครใจตกลงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือได้รับความคุ้มครองหรือได้รับการอำนวยความสะดวก เช่น การเปิดบ่อนการพนันผิดกฎหมาย การค้าประเวณี หรือการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ เป็นต้น และมีการกำหนดระยะอย่างแน่นอน เช่น เป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน เป็นต้น

4. “สินน้ำใจ” มีความหมายว่า “เงินหรือทรัพย์ที่ให้เป็นรางวัล” คำว่า “สินน้ำใจ” นิยมใช้สำหรับการให้สิ่งของเพื่อเป็นตอบแทนที่บุคคลได้กระทำการให้ แต่ในบางกรณีการให้สินน้ำใจก็อาจเป็นสินบนได้ เช่น ปลัดอำเภอประจำตำบลรับผ้าไว้เป็นสินน้ำใจ ไม่จับกุมผู้กระทำผิดด ฐานมีผ้าผิดบัญชีที่แจ้งปริมาณไว้มีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 137 เพราะเป็นการละเว้นหน้าที่ เพื่อให้คุณแก่ผู้กระทำผิด แม้จำเลยจะมิได้มีหน้าที่ตรวจจำนวนผ้าที่แจ้งปริมาณก็ดี แต่จำเลยมีอำนาจและหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่

5. “ค่าดำเนินการ” หมายถึง การเรียก “สินบน” ในกรณีที่เป็นการทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อให้เจ้าพนักของรัฐดำเนินการในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการเร่งงรัดเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินการในหน้าที่ ส่วนใหญ่มักปรากฏในกรณีเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานรัฐในการขออนุมัติ อนุญาต เพื่อเร่งรัดกระบวนการพิจารณาของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้ดุลพินิจเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงการขอรับการบริการหรือการอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานของรัฐด้วย

6. “ค่าอำนวยความสะดวก” หมายถึง ค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กน้อยที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้เพียงเพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง การได้รับการบริการสาธารณะ เป็นต้น

7. “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เรียกเงินจากประชาชนเกินค่าธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นค่าตอบแทนจากการทำหน้าที่ เช่น คดี “...โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมซ่อมบำรุงและฝ่ายวิศวกรรมระบบทำความเย็น โจทก์เรียกร้องค่าน้ำร้อนน้ำชาเป็นการตอบแทนจากนายอาลี ผู้ประมูลงานก่อสร้างอาคารห้องเย็นของจำเลย แต่นายอาลีไม่จ่ายเงินให้โจทก์ ถือว่าโจทก์ประพฤติตนไม่ซื่อตรงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม...”

8. “ค่าหัวคิว” หรือ “กินหัวคิว” หมายถึง การเรียกร้องเอาเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ดำเนินกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลในเรื่องนั้น เพื่อแลกกับความสะดวกหรือสิทธิในการดำเนินกิจกรรมก่อนผู้อื่น เช่น คนที่กู้เงินจากกองทุนถูกหักค่าหัวคิวไปคนละ 15 เปอร์เซ็นต์

9. “เงินทอน” มีความหมายว่า เงินส่วนที่เกินราคาสิ่งของที่จ่ายคืนให้แก่ผู้จ่ายเงิน ซึ่งมักจะใช้ในการซื้อขายสินค้า แต่ “เงินทอน” ในด้านของสินบนจะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐเรียกเงินส่วนต่างจากการที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นได้ดำเนินการในการจัดจัดสรรงบประมาณหรือสิทธิประโยชน์จากรัฐให้กับบุคคลใดหรือหน่วยงานใด เมื่อบุคคลใดหรือหน่วยงานใดได้รับงบประมาณจากรัฐไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนหรือเงินสนับสนุนก็จะต้องแบ่งส่วนที่ได้รับให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐที่อนุมัติ อนุญาตหรือดำเนินการให้ซึ่งถือเป็นเงินทอน หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีที่หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ขอรับเอาส่วนแบ่งจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีเช่นนี้ก็จะใช้เรียกเป็น “เงินทอน” หรือที่ปรากฏตามสื่อ เช่น กรณีเงินทอนวัด

10. “กินตามน้ำ” มีความหมายว่า การรับของสมนาคุณที่เขาเอามาให้โดยไม่ได้เรียกร้อง (มักใช้แก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ) “กินตามน้ำ” ในด้านของสินบน เปรียบเปรยการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจ ให้คุณและโทษกับบุคคลอันเป็นการกระทำในลักษณะฉ้อราษฎรบังหลวงหรือคอร์รัปชัน หรือที่เรียกว่า “กินสินบาท คาดสินบน” เช่น เขาได้ทำตามอย่างของผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็น “เจ้านาย” หรือทำตามอย่างของคณะบุคคล ส่วนใหญ่ที่ร่วมงานกัน ก็เรียกว่า “กินตามน้ำ” ทั้งนี้ เชื่อว่าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจาก “เจ้านาย” หรือเพื่อนร่วมงานที่กระทำการฉ้อราษฎรบังหลวงด้วยกัน ในทางตรงข้ามถ้าเขาปฏิเสธไม่ร่วมมือด้วยเขาก็อาจได้รับผลร้ายติดตามมาได้

11. “ค่ารับรองและของขวัญ” เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของนิติบุคคลเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีหรือในบางโอกาสถือเป็นการแสดงออกของมารยาททางสังคม ซึ่งค่ารับรองอาจรวมถึงค่าที่พัก ค่าโดยสารสำหรับการเยี่ยมชมสถานที่ประกอบการ การศึกษา ดูงานหรือค่าอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนของขวัญอาจมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงิน สินค้า บริการ บัตรกำนัล เป็นต้น อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจถือเป็นสินบนหากเป็นการให้เพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และบ่อยครั้งมักถูกปกปิดในทางบัญชี โดยการบันทึกรายการที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดการอบรม ค่าที่ปรึกษา หรือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริมด้านการตลาด เป็นต้น 

ข้อมูลดังกล่าว จะเป็นลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายการรับสินบน หากเจ้าหน้าที่กระทำจะมีความผิดกฎหมายแล้วมีโทษทางอาญา มาตรา 149 ก็ย่อมเป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ถือเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้รับตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ด้วย แล้วคุ้มกันไหมกับโทษที่ตัวเองต้องได้รับ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...