‘ก้าวไกล’ ส่อซ้ำรอย ‘ทษช.’ พลิกเกมรุก ‘ส้มทั้งแผ่นดิน’

คำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสมาชิกพรรคและฐานเสียงของ “พรรคก้าวไกล” ไม่น้อย

ต้องยอมรับว่า ผลการเลือกตั้ง สส.เมื่อ 14 พ.ค. 2566 “พรรคก้าวไกล” กวาดคะแนนแบบ “ส้ม”เกือบทั้งแผ่นดิน 

ชัยชนะมาเป็นที่หนึ่งนั้น เป็นคะแนนที่เกิดจาก “พลังกระแส” ล้วนๆ ที่พุ่งขึ้นแบบติดลมบน แม้แต่แกนนำพรรคก็ไม่คาดคิดว่าจะปาดหน้า“เพื่อไทย” แซงอันดับขึ้นมาแบบเหนือความคาดหมาย

ผลการเลือกตั้ง สส.แบ่งเขต “ก้าวไกล” มาเป็นที่หนึ่ง กวาด สส. 112 คน หรือคิดเป็น 9,665,433 คะแนน พ่วงคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 39 คน หรือ 14,438,851 คะแนน ทิ้งห่าง “พรรคเพื่อไทย”ที่กวาด สส.บัญชีรายชื่อ 29 คน หรือ 10,962,522 คะแนน

พลพรรค “ก้าวไกล” ที่มี สส.ในปัจจุบันเหลือ 149 คน (ขับ 2 สส. วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส. ปราจีนบุรี และไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม. พ้นพรรค) กำลังเผชิญข้อกล่าวหาที่รุนแรงโทษถึงขั้นยุบพรรค และตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี 

โดยคำร้องต่อ “กกต.” อ้างถึงหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล 1.กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คดีดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง “ดาบสอง” หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อ 31 มี.ค. 2567 ว่า การที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคในขณะนั้น และ “พรรคก้าวไกล” เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ.เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นชี้ว่า คดียุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึง รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีพรรคการเมืองถูกร้องให้ยุบพรรคด้วยข้อกล่าวหา “กระทำการล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อหาตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

อาจซ้ำรอยพรรคการเมืองก่อนหน้านี้ ที่ถูกยุบตามข้อกล่าวหามาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นคือ “พรรคไทยรักษาชาติ” (ทษช.) ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวกันกับ “พรรคก้าวไกล” ในตอนนี้

ครั้งนั้น ทษช.ถูกยุบพรรคเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 เนื่องจากได้นำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรค ทษช. พร้อมตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ของกรรมการบริหารพรรค 13 คน เป็นเวลา 10 ปี

ล่าสุด คดีของพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมในวันที่ 20 มี.ค. 2567 และแจ้งไปยัง กกต.ให้ส่งเอกสารที่ชัดเจนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในกำหนดระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

แนวโน้มคดีนี้ “กูรูด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเชี่ยวชาญคดียุบพรรคการเมือง อ่านเกมว่า ศาลรัฐธรรมนญย่อมรับคำร้องไว้พิจารณา ถ้ายึดบรรทัดฐานการตีความตามกฎหมาย และแนวทางของศาลฯ ตามแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงปี 2560 ที่เคยยุบพรรคในอดีต 

ฉะนั้น “พรรคก้าวไกล” ยากที่จะรอดพ้นข้อกล่าวหา และโทษหนักดังกล่าวได้

ในทางกลับกัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยยึดหลักกฎหมายสากล กรณีของ“พรรคก้าวไกล” ก็ไม่ควรเข้าข่ายถึงขั้นกระทำการ “ล้มล้างการปกครอง”

เมื่อย้อนดูคดียุบพรรคการเมืองที่มี สส.ในอดีตนับแต่รัฐธรรมนูญปี 2540

พรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลถึง 2 สมัย ถูกยุบพรรคด้วยเหตุกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นโทษยุบพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ซึ่งพรรคไทยรักไทยถูกยุบพร้อมกับ พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถูกยุบพรรคด้วยข้อกล่าวหากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นโทษตามรัฐธรรมนูญ ปี2550 และมาตรา 103 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.พ.ศ. 2550

คดียุบพรรคการเมืองที่มี สส.ในอดีต โดยเฉพาะการยุบ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วเมื่อปี 2551

หากย้อนดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2567 ที่วินิจฉัยให้ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 (พิธาและพรรคก้าวไกล) ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง และสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ แสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112

อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ 49 และ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74

สำหรับทางรอดที่พอจะมีทางให้ “พรรคก้าวไกล” พ้นจากโทษยุบพรรคได้นั้น “กูรูด้านกฎหมายมหาชน” มองว่า “ก้าวไกล” ต้องประกาศต่อสาธารณะว่า จะไม่กระทำการเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ในทางปฏิบัติ คงไม่มีทางที่จะประกาศว่า ไม่แก้ไขมาตรา 112 เพราะถ้าทำเช่นนั้น ก็เท่ากับต้องสูญเสียคะแนนนิยมจากมวลชนสีส้มที่สนับสนุน

เกมของ “พรรคก้าวไกล” ในตอนนี้ จึงไม่หวั่นไหวต่อคำวินิจฉัย และพร้อมทุกสถานการณ์ แม้จะมีผลทางลบถึงโทษยุบพรรค ตัดสิทธิแกนนำปัจจุบัน เพราะเชื่อมั่นว่ายิ่งยุบ ยิ่งขยาย เข้าทางเกมรุก ส้มทั้งแผ่นดิน  

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...