ปชป.ย้ำนิรโทษกรรมไม่เอาคดีโกง-ม.112 อย่าใช้ 'ทักษิณโมเดล' พา 'ปู' กลับไทย

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2567 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะมีนิรโทษกรรมโดยการนับเวลาจากช่วงเหตุการณ์โดยเริ่มนับจากวันที่ 1 ม.ค. 2548 และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อที่จะเก็บสถิติคดีที่เกิดขึ้น ที่เกี่ยวกับแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในชั้นตำรวจ คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรม และองค์กรอื่น และในส่วนของมาตรา 112 นั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการนับช่วงเวลาของ กมธ.แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหา คือความไม่ชัดเจนของ กมธ.ในเรื่องคดีทุจริต ที่กมธ.วิสามัญฯจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาแล้วจะพิจารณาไปในแนวทางใด

“ผมไม่ได้ก้าวล่วง แต่มีความเป็นห่วง เพราะถ้ารวมคดีทุจริตไปด้วยพรรคฯไม่เห็นด้วยแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาองคาพยพของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยมีความพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม คดีทุจริต ทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้ว และคดีที่ยังไม่แล้วเสร็จอาจจะทำให้หลุดไปด้วย รวมถึงคดีความผิดมาตรา 112 พรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นว่าไม่ควรที่จะมีการนิรโทษกรรม เพราะทั้งคดีทุจริตและคดีมาตรา112 ไม่ได้มีเหตุแรงจูงใจจากทางการเมืองที่จะต้องให้เกิดกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว” นายราเมศ กล่าว

นายราเมศ กล่าวอีกว่า ฉะนั้น 2 เรื่องนี้ เป็น 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดที่พรรคฯ ติดตามและแสดงจุดยืน ว่าไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการนิรโทษกรรมในคดีทุจริตและคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ส่วนคดีอื่นๆ ที่กมธ.จะพิจารณาก็ต้องติดตามดูว่ามีองค์ความผิด ฐานความผิดใดบ้างที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจาณา และเห็นว่ากมธ.ฯทำถูกต้องแล้วที่ไม่เอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะได้รับการนิรโทษกรรมจากกฎหมายดังกล่าว นายราเมศ กล่าวยอมรับว่ากังวล เพราะที่ผ่านมามีการให้สัมภาษณ์ของบุคคลในรัฐบาลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองจนเกิดเป็นคดีทุจริตรับจำนำข้าว ซึ่งนี่เป็นอีกกรณีที่เขาอ้างว่าตั้งต้นมาจากปฏิวัติรัฐประหาร แล้วนำมาสู่การดำเนินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ความเป็นจริงแล้วในส่วนของคดีจำนำข้าว เกิดขึ้นด้วยระบอบประชาธิปไตย มีการตรวจสอบภายใต้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วมีการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดี ซึ่งไม่ได้เป็นกระบวนการที่เกิดจากการกลั่นแกล้ง ในที่สุดคดีก็ขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็หนีคดีออกนอกประเทศ

“ถามว่าคดีนี้เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ ก็ต้องกลับไปอ่านมาตรา 157 การที่จะมีความผิดก็ต้องตั้งต้นมาจากเจตนาคำว่ามีความผิดแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น คำพิพากษาศาลฎีการะบุไว้ชัดเจน เชื่อว่ากมธ.ฯ ถ้ามีการนำคดีทุจริตของน.ส.ยิ่งลักษณ์มาพิจารณาด้วย เราก็ไม่เห็นด้วย” นายราเมศ กล่าว

เมื่อถามว่า หากในที่สุด กมธ.รวมคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าไปด้วย ประเมินหรือไม่สถานการณ์การเมืองตอนนั้นจะเป็นอย่างไร นายราเมศ กล่าวว่า ตนคิดว่า ขณะนี้รัฐบาลเดินมาเส้นทางนั้นอยู่แล้ว รัฐบาลประกาศว่ายึดหลักยุติธรรม หลักกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ขณะนี้แนวทางของรัฐบาล ทำตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง หลักนิติธรรมที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่รัฐบาลนี้เหยียบย่ำคำว่าหลักนิติธรรมอย่างไม่มีชิ้นดี และวันที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลแถลงเรื่องยึดหลักนิติธรรม ไว้เป็นประเด็นแรกๆ แต่กลับทำตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางเข้าประเทศ นายราเมศ กล่าวว่า ไม่มีใครห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคนไทย สามารถกลับเข้าสู่ประเทศได้ แต่เมื่อกลับประเทศแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ต้องจับตาดูว่า จะใช้กรณีทักษิณโมเดล หรือโล่ทักษิณ เป็นแนวทางในการที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหลักการหรือไม่

"เบื้องต้นคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องชี้แจง ส่วนที่ว่าอาจะใช้ระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำนั้น ตนไม่อยากให้ใช้ ซึ่งเป็นระเบียบใหม่ ซึ่งพรรคฯจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะ ไม่แน่ใจว่าจะใช้กระบวนการใด แต่หากใช้ทักษิณโมเดลอีก ตนเชื่อว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองก็จะมากขึ้น พี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็จะมากขึ้น" โฆษก ปชป.กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...