ถอดรหัส‘ยิ่งลักษณ์’กลับไทย ‘ลุ้นดีล-คดีจำนำข้าว’เดิมพัน

สัญญาณเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มเห็นเค้าลางที่ใกล้ความจริง หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มี.ค.“ยกฟ้อง”ยิ่งลักษณ์ พร้อมพวก ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม 

กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท พร้อมมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” อีกด้วย

ผลจากคำพิพากษาคดีดังกล่าว ถือเป็นคดีที่ 2 ในรอบ 3 เดือนที่ศาล“ยกฟ้อง” โดยก่อนหน้านี้มีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องอดีตนายกฯ ปมโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(เลขาฯสมช.)โดยมิชอบ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566

คดีดังกล่าว แม้ล่าสุด “ถวิล” ที่เวลานี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.) จะทำจดหมายด่วนที่สุดถึงอัยการสูงสุด ลงวันที่ 23 ม.ค. 2567 เพื่อขอให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คดี ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดยื่นขออุทธรณ์ในคดีดังกล่าว

"คดีจำนำข้าว" เดิมพันกลับไทย

เท่ากับว่า จนถึงเวลานี้ “อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง” ผู้นี้ จะเหลือเพียงคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 5 ปี ไปเมื่อ 27ก.ย.2560   

ซึ่งในส่วนของ“คดีอาญา” นั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะ “ไม่นับอายุความ” กรณีจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ เท่ากับว่ากระบวนการจะเริ่มนับหนึ่งก็ต่อเมื่อเจ้าตัวกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

ฉะนั้น ท่ามกลางสัญญาณเดินทางกลับประเทศไทยตามรอย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีพี่ชายของ“ยิ่งลักษณ์” จึงต้องไปลุ้นในคดีดังกล่าว 

เทียบเคียงกับคดี“ทักษิณ” ที่ต้องโทษ 3 คดีจำคุกราว 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 1 ก.ย.เหลือโทษจำคุก 1 ปีเศษ กระทั่งถูกเสนอพักโทษโดยกรมราชทัณฑ์ อ้างถึงเกณฑ์พักโทษตามระเบียบราชทัณฑ์ที่ระบุว่า  “เป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับว่าอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า”

มีการประเมินว่า การกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” อาจใช้วิธียื่นถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ-ลดโทษคดีจำนำข้าว โดยหยิบยกเหตุผลเป็นเพียงความผิดในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ทุจริตเหมือนกรณีพี่ชาย  

สอดรับกับท่าทีของ“เสนาบดีตราชั่ง” ทวี สอดส่อง ที่ระบุว่า หากยิ่งลักษณ์ จะเดินกลับมายังประเทศไทย และประสงค์ “ขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล” ก็สามารถยื่นเรื่องโดยตรงกับกระทรวงยุติธรรมได้

“กฎหมายขังนอกคุก” ทางรอด-ทางลอด(ช่อง)?

ทว่า กรณีของ“ยิ่งลักษณ์” แม้ที่สุดจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่ยังมีคดีความติดตัวในวันที่เดินทางกลับไทยไม่ว่าจะเป็นกี่ปีหรือกี่เดือน อดีตนายกฯอาจไม่เข้าเงื่อนไขในการขอ “พักโทษ”ดังเช่นพี่ชายที่เข้าเกณฑ์  “อายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ”

เว้นเสียแต่จะมี “ทางลอด(ช่อง)”โดยเฉพาะการใช้พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560, กฎกระทรวงยุติธรรม และระเบียบที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค. 2566 คือระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายขังนอกคุก” ก็อาจทำให้อดีตนายกหญิงผู้นี้ “คืนอิสรภาพ” ตามรอยพี่ชายเร็วกว่ากำหนด

อันที่จริงสัญญาณการเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็สะท้อนออกมาเป็นระยะ ทั้งการ“ผนึกขั้วอำนาจ” โดดเดี่ยวก้าวไกล ในประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 หรือการกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีดังกล่าว

เสมือนเป็นการเคลียร์ทางสะดวกให้อดีตนายกฯหญิงผู้นี้

หรือเมื่อเร็วๆ นี้ คือในช่วงที่ “พรรคเพื่อไทย” ยื่นร่างกฎหมาย 2 ฉบับต่อสภา นั่นคือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ฉากหน้าบรรดา “คีย์แมนพรรคเพื่อไทย” พยายามอธิบายว่า  เป็นการเปิดทางให้ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยการฟ้องคดีเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรมได้

แต่หากอ่านชื่อกฎหมายดูแล้ว ย่อมถูกจับตาถึง “วาระแอบแฝง” ภายใต้คำถามที่ว่า จะเกี่ยวโยงกับบรรดาคดีความของ “นักเลือกตั้ง” หรือ “บิ๊กเนมการเมือง” ที่ค้างคาอยู่ในกระบวนการหรือไม่ อย่างไร

ทว่าเมื่อกฎหมายถูกบรรจุวาระพิจารณาของรัฐสภา ในเวลาต่อมากลับมีสัญญาณ “ใส่เกียร์ถอย” มาจากพรรคต้นเรื่อง ถอนร่างดังกล่าวออกจากสภาฯ เมื่อวันที่15 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผล ถูกแตะเบรกจาก “องค์กรอิสระ” ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่มีความสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

น่าสนใจว่า การส่งสัญญาณถอยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีการถอยแบบปัจจุบันทันด่วน ก่อนวันประชุมร่วมรัฐสภาเพียง 1-2 วัน อาจมาจากสัญญาณหลายทิศทาง 

ปัจจัยแรก ว่ากันว่า มีสัญญาณจากผู้มีอำนาจฝั่ง“ขั้วอำนาจเก่า” ที่ไม่แฮปปี้กับการเสนอกฎหมายดังกล่าว ส่งสัญญาณไปยังพรรคเพื่อไทยใส่เกียร์ถอย ภายใต้เงื่อนไขบางประการ 

ปัจจัยที่สอง แม้พรรคเพื่อไทยจะพยายามอธิบายว่า การเสนอกฎหมายดังกล่าว เป็นไปเพื่อเปิดทางให้ผู้เสียหายใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม  

แต่การเสนอกฎหมายในช่วงที่มีสัญญาณการเดินทางกลับไทยของ “นายหญิงผู้น้อง” กระแสย่อมพุ่งเป้าไปยังค่ายชินฯ แบบเต็มๆ ซ้ำร้ายอาจกระทบไปถึงข้อตกลง รวมถึง “เงื่อนไขบางประการ” ที่จะทำให้การกลับไทยของอดีตนายกฯ เป็นอันต้องสะดุดหยุดลง หากยังดันทุรังดันกฎหมายเข้าสภา 

ฉะนั้นจึงต้องจับตาสัญญาณการเดินทางกลับไทยของ “อดีตนายกฯหญิง” เวลานี้นายใหญ่-นายหญิง อาจต้องไล่เช็กสัญญาณภายใต้เงื่อนไข-ข้อตกลงบางประการเพื่อความชัวร์

ท่ามกลางทุกสายตาที่กำลังจับจ้องอยู่ในเวลานี้ว่าท้ายที่สุด หาก “ยิ่งลักษณ์” เดินทางกลับไทยนายกรัฐมนตรีจะยังชื่อ“เศรษฐา ทวีสิน” อยู่หรือไม่? 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...