‘แรงงานเมียนมา’ ป้อมปราการใหญ่ ‘มินอ่องลาย’ ถามจุดยืน ‘รัฐบาลไทย’

ไทย”ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการสู้รบในเมียนมา ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดน 500 กิโลเมตรเท่านั้น ใน กทม.และปริมณฑล และอีกหลายจังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมแรงงานเมียนมาก้อนมหึมาที่ “หน่วยงานความมั่นคง” เฝ้าจับตา

หลังพบความพยายามต่อเนื่องของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาออกมาเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต งานแต่งงาน หรือประเพณีอื่นๆ โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ แต่ฉากหลังเป็นการระดมทุน สนับสนุนการสู้รบในเมียนมา

โดยปลายปีที่แล้ว มีการจัดงานแสดงคอนเสิร์ตศิลปินเมียนมา ภายใต้ชื่อ “เทศกาลดนตรีมหาชัยพม่า” ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อ 8 ตุลาคม 2566 มีการจำหน่ายบัตร แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองสั่งยุติเสียก่อน โดยอ้างผู้จัดงานยื่นเอกสารไม่ครบ เกรงจะมีปัญหาตามมา

แต่ที่ชัดเจนสุดเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับฝ่ายปกครอง เข้าไปยุติการจัดกิจกรรม “กลุ่มชาติพันธุ์” จ.สมุทรปราการ ภายในงานมีการจำหน่ายบัตร และแสดงสัญลักษณ์การสู้รบ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การขออนุญาตใช้พื้นที่ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังเข้าข่ายภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยหน่วยงานความมั่นคง ได้ประสานไปยังนายจ้าง ผู้ประกอบทุกจังหวัด ขอความร่วมมือสอดส่อง ติดตามความเคลื่อนไหวแรงงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ หากสุ่มเสี่ยงจะมีการรวมตัวขอใช้พื้นที่จัดกิจกรรม ตลอดถึงการชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทันท่วงที

ขณะที่ รัฐบาลเมียนมา ภายใต้การปกครองของ “พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย” สอบถามจุดยืนของ “รัฐบาลไทย” เรื่องให้ความร่วมมือในการ สกัดกั้นไม่ให้กลุ่มต่อต้านใช้ประเทศไทยเป็นฐานเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา
 
ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายภายใต้มาตรา 59 (ทั้งแบบทั่วไป และนำเข้าแรงงานตาม MOU) มาตรา 62 (ส่งเสริมการลงทุน) มาตรา 63/1 (ชนกลุ่มน้อย) มาตรา 63/2 (ตามมติ ครม. 7 กุมภาพันธ์ และ มติ ครม. 3 ตุลาคม 2566) และแรงงานต่างด้าวทำงานแบบไปกลับตามมาตรา 64 ตามพระราชบัญญัติการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

มีตัวเลขในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 3.145 ล้านคน ในจำนวนแรงงานต่างด้าวนี้เป็นชาวเมียนมามากกว่า 1.4 ล้านคน คิดเป็น 44% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาววัยประมาณ 20-35 ปี

โดยแรงงานเมียนมาก้อนนี้ เสี่ยงจะถูกเรียกเกณฑ์ทหารตามกฎหมายรัฐบาลเมียนมา ที่กำหนดให้ชายมีอายุระหว่าง 18-35 ปี ผู้หญิง อายุระหว่าง 18-27 ปี เข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี บุคคลที่ไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก อาจถูกลงโทษจำคุก เท่ากับจำนวนปีที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
 
“ไพโรจน์ โชติกเสถียร” ปลัดกระทรวงกระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานเมียนมาอยู่ประเทศไทย ทำงานตามเอ็มโอยูที่ขึ้นทะเบียนตามมติ ครม. คงต้องรอให้ทางการเมียนมาทำหนังสือผ่านช่องทางการทูตมาก่อนว่า ขอความร่วมมือให้แรงงานเมียนมากลับไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นสิทธิที่ต้องไปดำเนินการตามกรอบกฎหมายของประเทศเขา แต่ปัจจุบันนี้ทางการเมียนมายังไม่ได้แจ้ง หรือประสานอะไรมา จึงยังไม่กระทบต่อภาคแรงงานในประเทศไทยที่จะขาดแคลน พร้อมทั้งเชื่อว่า รัฐบาลเมียนมาจะเกณฑ์คนที่อยู่ในประเทศก่อน

“เป็นข้อตกลงระหว่างไทย-เมียนมา ถ้ารัฐบาลเมียนมาจะให้แรงงานซึ่งทำงานตามขั้นตอนเอ็มโอยูต้องไปเกณฑ์ทหาร ก็ต้องยกเลิกเอ็มโอยูด้วย แต่ผมเชื่อว่า ไม่ใช่แน่นอน” ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุ
 
ส่วนหน่วยงานความมั่นคงประเมินว่า การเรียกเกณฑ์ทหารของเมียนมา จะส่งผลกระทบต่อแรงงานภายในประเทศ แต่ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมามีปัญหาการตกสำรวจประชากร ไม่รู้ว่า ทำได้ดีมากน้อยเพียงใด อีกทั้งผู้นำรัฐบาลเมียนมามีความคิดซับซ้อน ไม่ชัดว่าการประกาศเกณฑ์ทหารในช่วงนี้ ต้องการชี้วัด หรือเช็คกระแสอะไรหรือไม่

“แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวแรงงานเมียนมาในประเทศไทย โดยมีกลุ่มต่อต้านหนุนหลัง เราไม่อยากให้เกิดปัญหา เพราะเป็นแรงงานที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก หากเกิดความเคลื่อนไหวในประเทศไทย จะส่งผลกระทบในทางลบค่อนข้างมาก” หน่วยงานความมั่นคง ระบุ

สถานการณ์ต่อจากนี้ คงต้องจับตา หากรัฐบาลเมียนมา ขอความร่วมมือส่งแรงงานกลับไปเกณฑ์ทหาร ช่วงเมษายนนี้ รัฐบาลไทยจะเตรียมแผนรับมืออย่างไร เพราะปัจจุบันชาวเมียนมาในประเทศยังหลั่งไหลเข้าไทยหนีการเกณฑ์ทหารเช่นกัน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แหล่งข่าวเผย อิสราเอลแจ้งสหรัฐจะทำอะไรบางอย่างในเลบานอน!

เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนแถลงว่า วิทยุมือถือ (ว.) ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ ได้ระเ...

ว.ฮิซบอลเลาะห์ระเบิด แปะฉลาก ‘เมด อิน เจแปน’

ภาพถ่าย ว.ฮิซบอลเลาะห์ที่ระเบิดเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) พบฉลาก “ICOM” และ “เมด อิน เจแปน” สำนักข่าวรอยเ...

'บิลลี ไอลิช-โจ โรแกน' เชียร์'คามาลา แฮร์ริส'

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน ป็อปสตาร์ “บิลลี ไอลิช” โพสต์คลิปเคียงข้างพี่ชายบนอินสตาแกรม กระตุ้นให้ผู้ต...

‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ได้เห็นการเชื่อมต่อด้วยระบบรางระหว่างกรุงเทพกับลาวแล้วก็อดคิดถึงรถไฟต่างประเทศไม่ได้ เพราะรถไฟไทยเรา...