การเมือง (ไม่) ฉันทามติ | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเจรจาตกลงทางการเมืองอยู่ระยะเวลาหนึ่ง พรรคเพื่อไทยได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับขั้วรัฐบาลเดิม ในขณะที่พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม กลายมาเป็นฝ่ายค้าน

สถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นนำมาสู่คำถามมากมาย เช่น ทำไมก้าวไกลได้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก? ขั้วคู่ขัดแย้งทางการเมืองหลักในปัจจุบันคือใคร? และ ทิศทางการเมืองในอนาคตของไทยจะเป็นอย่างไร? 

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์ใกล้ชิด จะขอนำเนื้อหาบางส่วนจากงานสัมมนา “สำรวจภูมิทัศน์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม : ตอนที่ 1 ฉันทามติใหม่การเมืองไทย” (จัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567) มาช่วยทำให้ผู้อ่านเห็นภาพสถานการณ์ของทิศทางการเมืองไทยชัดเจนขึ้น

ภายใต้กรอบทิศทางการเมืองในระยะสั้น รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนจากการเมือง 2 ขั้ว คือขั้วเสื้อเหลืองและขั้วเสื้อแดง กลายเป็นการเมือง 3 ขั้ว ประกอบไปด้วย

ขั้วแรกกลุ่ม Royal Military Network (โดยมีพื้นฐานมาจากกลุ่มคนเสื้อเหลือง) ขั้วที่สองกลุ่มทักษิณและพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพลังทางการเมืองแบบใหม่ในยุคก่อน (โดยมีพื้นฐานมาจากกลุ่มคนเสื้อแดง)

และขั้วที่สามกลุ่มก้าวไกล ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ในทางการเมือง และขยายตัวจากการดึงมวลชนของ 2 กลุ่มแรก (โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดง) โดยการเติบโตของกลุ่มนี้เองที่กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยไปสู่สถานการณ์แบบใหม่

ทั้งนี้ รศ.ดร.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ได้สร้างคำอธิบายการเติบโตของมวลชนกลุ่มก้าวไกลได้อย่างน่าสนใจ ปกติในการเลือกตั้งความสัมพันธ์ของนักการเมืองพื้นที่กับประชาชนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเลือกตั้ง

กล่าวคือ นักการเมืองในระดับพื้นที่ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาก ซึ่งระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต้องสร้างรากฐานให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนในพื้นที่เข้มแข็ง 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร กลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจพยายามทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและประชาชนในท้องที่ เช่น ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ดำเนินคดีนักการเมืองท้องถิ่น และพยายามแทนที่สายสัมพันธ์นี้ด้วยกลไกราชการ (ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน)

น้ำหนักในการเลือกตั้งด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมืองในระดับท้องถิ่นจึงลดลง ประชาชนจึงหันไปเลือกตั้งด้วยเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ (ต่อต้านชนชั้นนำ) มากขึ้น ประกอบกับกระแสโซเชียลมีเดียส่งผลให้การเมืองเชิงอุดมการณ์แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น

มวลชนของพรรคก้าวไกลจึงขยายตัวขึ้น เนื่องจากพรรคก้าวไกลเด่นในเรื่องอุดมการณ์มากกว่าพรรคอื่น (ในขณะที่อาจจะไม่เด่นเรื่องนักการเมืองในท้องถิ่นมากนักเมื่อเทียบกับพรรคอื่น) 

ทั้งนี้หากมองทิศทางการเมืองในระยะยาว รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย เสนอว่า การเมืองไทยกำลังเคลื่อนไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน โดยผลการเลือกตั้งในปี 2566 รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วสะท้อนให้เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่าง ชนชั้นนำกลุ่มเล็ก กับ มวลชนที่ต่อต้านผู้มีอำนาจ กำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งหลักในทางการเมืองของไทย

กล่าวคือภาพในระยะยาวความขัดแย้งทางการเมืองของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจาก "ความขัดแย้งในแนวนอน" (ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนแต่ละขั้วการเมือง) กลายเป็น "ความขัดแย้งในแนวตั้ง" (ความขัดแย้งทางชนชั้น)

โดยความขัดแย้งในแนวตั้งเติบโตขึ้นจากการที่เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างภาครัฐและกลุ่มทุนรวบอำนาจมากขึ้น โดยเครือข่ายอุปถัมภ์รัฐและทุนเริ่มรวบอำนาจตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย และภาพการรวบอำนาจผูกขาดเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในรัฐบาลหลังรัฐประหาร

ซึ่งความร่ำรวยเริ่มกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนครอบครัวในเครือข่ายประชารัฐที่ใกล้ชิดกับผู้นำทางการเมือง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงขึ้น อันนำมาสู่ความขัดแย้งทางชนชั้นมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ประจักษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นการกระจุกตัวของทุนชั้นนำว่า ตั้งแต่หลังการรัฐประหารมา ทุนที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายใกล้ชิดชนชั้นนำนั้นอาจจะเข้ามาผ่านช่องทางสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล เนื่องจากไม่มีเกณฑ์หรือระเบียบที่ชัดเจนในการจะกำหนดว่าทุนกลุ่มไหนจะเข้ามาได้

(แตกต่างจากในสมัยรัฐบาลทหารก่อนปี 2516 ที่กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐมักเป็นกลุ่มทุนภาคธนาคาร เนื่องจากธนาคารไทยมีบทบาทสำคัญในการกระจายเงินทุนให้กับภาคธุรกิจสาขาต่าง ๆ ภาครัฐจึงสร้างสัมพันธ์เพื่อให้กลุ่มทุนธนาคารรับบทเป็นแกนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย)

การที่ในปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัดอาจสะท้อนถึงอำนาจของกลุ่มทุนที่เหนือกว่าผู้มีอำนาจรัฐ (หากรัฐมีอำนาจเหนือกว่าทุน รัฐจะสามารถกำหนดเกณฑ์ที่แน่ชัด เพื่อดึงกลุ่มทุนเป้าหมายมามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ) และกลุ่มทุนอาจมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วตัวจริง

การคงอยู่ของระบบอำนาจทหารเดิม การตัดอำนาจการเมืองท้องถิ่น และการเติบโตขึ้นของเครือข่ายอุปถัมภ์ชนชั้นนำ ตามที่ทั้ง 3 นักวิชาการชั้นนำได้วิเคราะห์มานั้น อาจนำมาสู่หนึ่งในปัญหาต้นตอสำคัญของการเมืองไทย ที่ชนชั้นนำทางการเมืองสามารถยึดครองอำนาจรัฐด้วยแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น การแสวงหาฉันทามติของสังคมภายใต้ความขัดแย้งใหม่ เพื่อตั้งมั่นระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้. 
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...