'ปานปรีย์' ร่วมงาน OAV Stiftungsfest ตอกย้ำยุคใหม่ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาในงาน OAV Stiftungsfest จัดโดยสมาคมเอเชียตะวันออกนครเบรเมิน (OAV Breman) ที่ศาลาว่าการเมืองเบรเมิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ซึ่งนายปานปรีย์ยังเป็นรัฐมนตรีจากไทยคนแรกในรอบกว่า 15 ปี ที่เข้าร่วมงานดังกล่าวว่า การแลกเปลี่ยนระดับสูงของผู้แทนรัฐบาลและภาคธุรกิจระหว่างไทยและเยอรมนีในปีนี้และกำลังจะมีตามมาอีกมาก ถือเป็นยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนี ซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองทำให้ไทยพร้อมเปิดรับธุรกิจและการลงทุนโดยจะเน้นความร่วมมือกับเยอรมนี 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. ความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อสานต่อคำกล่าวของประธานาธิบดีเยอรมนีในห้วงการเยือนไทยว่า เยอรมนีและไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน 

ในด้านนี้ นายปานปรีย์ย้ำเป้าหมายของไทยที่จะเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของภูมิภาค จากฐานที่แข็งแกร่งของการเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ของโลก มีมาตรการสนันสนุนทั้งด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากรัฐ และเป็นตลาดรถอีวีที่เติบโตสูงที่สุดในเอเชียรองจากจีน โดยปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์อีวีในไทยแล้ว 16 ราย รวมถึงเมอร์เซเดสเบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยู และไทยกำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเยอรมนีเพื่อดึงดูดการลงทุนด้านอีวีให้มากขึ้นต่อไป

2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยมุ่งผลักดันการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (EFTA) ให้สำเร็จภายในปี 2568 ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานทางการค้าและเกิดบรรยากาศสำหรับการลงทุนใหม่ๆ จากประเทศสมาชิกอียู ซึ่งเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนจากเยอรมนีจะช่วยให้เอฟทีเอไทย-อียู บรรลุเป้าหมายได้ตามที่วางแผนเอาไว้ และไทยยังมีการปรับปรุงบรรยากาศด้านการลงทุน เช่น ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing business) และยังมีแผนที่จะยกระดับข้อเสนอจูงใจทั้งภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับหลายอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากอียูและนำไปสู่การพัฒนาเรื่องกระบวนการขอ "วีซ่า" ต่อไป

3. ความร่วมมือเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับภาคธุรกิจเยอรมนีในประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือทั้งด้านการศึกษาและด้านธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ

"นี่เป็นช่วงเวลาอันสมควรสำหรับการกระชับความร่วมมือของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยในปัจจุบัน"

"นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีเศรษฐาเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่า ขณะนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และไม่มีเวลาใดที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้วในการลงทุนในประเทศไทย"

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ยังได้ถือโอกาสเชิญชวนนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการท่าเรือในเบรเมิน ซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่สุดอันดับ 2 ในเยอรมนีและเป็นหนึ่งในเมืองท่าใหญ่สุดในยุโรป ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการ "แลนด์บริดจ์" ที่ประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันอยู่ด้วย 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...