‘มังงะ’ สินค้าวัฒนธรรม เสริมพาวเวอร์ให้ญี่ปุ่น

มังงะ (Manga) ซึ่งเป็นคำเรียก “การ์ตูนช่อง” ของญี่ปุ่น มีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนานเกือบ 100 ปี โดยเป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่ผสมผสานตำนาน นิทานพื้นบ้าน และวัฒนธรรมป๊อปเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ส่งเสริมให้มังงะกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์สำคัญของญี่ปุ่น เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นตลาดมังงะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท (ปี 2021) นอกจากในประเทศแล้ว มังงะยังครองใจผู้อ่านทั่วโลก สร้างความสนใจใคร่รู้ในวัฒนธรรม ปรัชญา แนวคิด และวิถีความเป็นญี่ปุ่นผ่านลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์
 

เราสามารถแบ่งประเภทของมังงะได้จากเพศและอายุของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งมังงะสำหรับเด็กผู้ชาย (โชเน็น) และสำหรับเด็กผู้หญิง (โชโจะ) ส่วนมังงะที่ตอบโจทย์กลุ่มเพศทางเลือกก็มีเช่นเดียวกัน มีหลายคำเรียก ตัวอย่างเช่น โชเน็น-ไอ (Shounen-ai) หรือ Boys Love (BL) ในกลุ่มเนื้อหานี้กำลังเป็นที่นิยมในไทย รับรู้ได้จากความนิยมที่ถูกค้นใน Google Trends ความหลากหลายนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของมังงะญี่ปุ่น ด้วยโลกที่เปิดกว้างขึ้นศิลปินและสำนักพิมพ์ต่างพยายามนำเสนอตัวละครและธีม LGBTQ+ ในมังงะกระแสหลักเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายในสื่อญี่ปุ่น

เนื้อเรื่องในมังงะญี่ปุ่น หลายเรื่องดึงเอาตำนาน นิทานพื้นบ้าน และวรรณกรรมคลาสสิกมาเป็นแกน โดยตีความและเล่าเรื่องใหม่ให้ป๊อปขึ้น เช่น เรื่อง “Kamisama Kiss” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่กลายมาเป็นเทพประจำท้องถิ่นและทำงานร่วมกับปีศาจจิ้งจอกเพื่อทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของเธอ เป็นการผสมผสานระหว่างความโรแมนติกและเรื่องเหนือธรรมชาติ เน้นหนักไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ ตามความเชื่อของศาสนาชินโต

ไทยเองก็มีความเชื่อ เรื่องเล่า และตำนานพื้นบ้านมากมายไม่แพ้ญี่ปุ่น ทำอย่างไรจะเล่าให้ร่วมสมัยและตอบโจทย์จริตผู้อ่านรุ่นใหม่

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ของ CEA ได้จัดโครงการ Creative & Design Showcase ภายใต้หัวข้อ “Thai Manga Spotlight” จัดแสดงผลงานมังงะจากศิลปินไทย 24 รายให้เห็นถึงศักยภาพของศิลปินมังงะไทยให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการออกแบบและการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์การ์ตูนไทยสู่ระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา ไทยเองก็มีศิลปินมังงะที่ได้รับรางวัลจากเวทีโลกอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในงาน “The Japan Inter national MANGA Award” ยกตัวอย่างผลงาน“Before Becoming the Buddha” โดย ADISAK DAS PONGSAMPAN ได้รับรางวัลชมเชย (Bronze Award) ในปี 2023 ที่นำเรื่องราวพุทธประวัติมาเขียนในรูปแบบมังงะ โดยลายเส้นและการออกแบบตัวละครได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปยุคคันธาระ

กลยุทธ์ที่ช่วยให้ศิลปินมังงะไทยสามารถขยายผลงานสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น อาจเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ความชอบและพฤติกรรมของผู้อ่านทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์และโดนใจกลุ่มเป้าหมาย การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเผยแพร่ผลงาน สร้างการเข้าถึงผู้ชมอย่างทั่วถึง ลงทุนในการแปลภาษาของผลงานทำให้ผู้ชมจากทั่วโลกสามารถเข้าใจผลงานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างและรักษาฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นผ่านโซเชียลมีเดีย การจัดกิจกรรม และสินค้าที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมและผูกพันกับผลงาน สุดท้ายการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้งานถูกละเมิดและสร้างความมั่นใจให้กับศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป (CEA เชิญชวนรักษาสิทธิในผลงาน ผ่านการทำ Timestamp ใช้บริการฟรี ได้ที่ https://cap.cea.or.th/)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...