‘สังคมไร้เงินสด’ สะดวกคนจีน ลำบากชาวต่างชาติ

สังคมไร้เงินสด นอกจากสร้างความสะดวกสบายในการใช้จ่ายให้กับผู้คนในสังคมแล้ว แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจสร้างความยากลำบากให้กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต กลุ่มคนที่ยังตามเทรนด์เทคฯไม่ทัน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และอาจเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมไร้เงินสดมีกฎเกณฑ์การเข้าถึงแอปพลิเคชันชำระเงินออนไลน์เข้มงวดอย่างประเทศจีน

ผู้เขียนเชื่อว่าใครหลายคนที่ต้องไปจีนครั้งแรกต่างกังวลเกี่ยวกับการชำระเงิน ลังเลว่าจะแลกเงินสดเพียงอย่างเดียว หรือจะดาวน์โหลดแอปฯชำระเงินออนไลน์อย่างอาลีเพย์และวีแชทด้วย ซึ่งการเดินทางไปจีนในเดือน ส.ค. ปีก่อน ผู้เขียนเลือกดาวโหลดแอปฯเหล่านั้น และผูกการใช้จ่ายกับบัตรเครดิต 

แม้การลงทะเบียนและการใช้งานราบรื่นดี แต่ตลอดเวลาที่อยู่จีนยังคงกังวลว่าบัญชีอาจถูกบล็อกเหมือนกับบัญชีวีแชทของผู้เขียนที่ถูกบล็อกโดยไม่ทราบสาเหตุ เตือนใจตนเองว่าหากไปจีนอีกครั้งคงต้องพกทั้งเงินสด บัตรเครดิต และแอปฯชำระเงินกันเหนียวแบบสุดๆ

ขณะที่ร้านค้าและร้านอาหารส่วนใหญ่รับทั้งเงินสดและการโอนชำระ แต่บางร้านไม่รับเงินสดเลย ผู้เขียนคิดว่าหากนักท่องเที่ยวพกแค่เงินสดอาจจะอดชอปปิงและทานอาหารบางร้านที่ชื่นชอบได้

สำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ รายงานว่า ความสะดวกในการชำระเงินหรือการขาดช่องทางชำระเงินดังกล่าว เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชาวต่างชาติหลีกเลี่ยงเดินทางไปจีน นอกเหนือจากประเด็นที่น่ากังวลอื่น ๆ เช่น ความกังวลด้านความมั่นคงของปักกิ่งและการปราบปรามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ความสะดวกหรืออุปสรรค?

วีแชทเพย์และอาลีเพย์” ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของจีน เปิดให้ชาวต่างชาติเชื่อมต่อบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ทั้งของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด หรือผู้ให้บริการข้ามชาติรายใหญ่อื่น ๆ ใช้งานแอปฯได้ในเดือน ก.ค. 2566 หลังจากจำกัดการใช้งานบัตรเครดิตธนาคารต่างชาติมาหลายปี เพราะปักกิ่งมีมาตรการควบคุมบริการทางการเงินและข้อมูลที่เข้มงวด 

ข้อมูลจากธนาคารกลางจีนแสดงให้เห็นว่า ชาวจีนมากกว่า 95% มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง และอัตราการผูกบัญชีกับระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแตะระดับ 86% ซึ่งเป็นอัตราการใช้งานที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และข้อมูลยังสะท้อนให้เห็นว่า บริการทางการเงินที่ทันสมัยนั้น สร้างความสะดวกรวดเร็วต่อการใช้จ่ายของคนในเมืองและพื้นที่ชนบทอย่างมาก แต่สำหรับชาวต่างชาติและผู้เข้าไม่ถึงโทรศัพท์มือถือไม่อาจสะดวกสบายเช่นนั้น

แอปฯชำระเงิน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่มีบัญชีธนาคารจีน สามารถชำระเงินผ่านวีแชทเพย์และอาลีเพย์ได้เหมือนคนในท้องถิ่น รวมถึงสามารถลงทะเบียนด้วยชื่อจริงได้ แต่ชาวต่างชาติที่เชื่อมบัตรข้ามชาติกับแอปฯชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือของจีน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 3% สำหรับการโอนเงินมากกว่า 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท และไม่สามารถโอนเงินในครั้งเดียวได้มากกว่า 6,000 หยวน หรือราว 30,000 บาท

 

ชาร์ลี เฉิน เจ้าหน้าที่อาวุโสจากบริษัทอีซี ทัวร์ ไชนา เผยว่า ชาวต่างชาติไม่ยอมรับการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากยุโรปและสหรัฐ ไม่เต็มใจเผยข้อมูลกับแอปฯชำระเงิน เนื่องจากมีความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มใช้การชำระเงินผ่านมือถือในจีนมากกว่า

นอกจากนี้ การชำระเงินดิจิทัลยังเป็นอุปสรรคต่อผู้สูงอายุในจีนในยุคที่สังคมยอมรับการทำธุรกรรมไร้เงินสดอย่างกว้างขวาง โดยข้อมูลจากแบงก์ชาติ ระบุว่า ผู้สูงอายุมากกว่า 75% ในจีนมักใช้เงินสด และคนกลุ่มนี้ในชนบทมีสัดส่วนการใช้เงินสดอยู่ที่ 80.4% 

เงินสดหาแลกยากในจีน

บัตรต่าง ๆ ของบริษัทข้ามชาติ อาทิ วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด สามารถใช้งานได้ในเขตธุรกิจ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และศูนย์กลางการขนส่งที่นักท่องเที่ยวมักใช้จ่ายหรือชอปปิงภายในเมืองใหญ่ ๆ ของจีน เช่น กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ แต่เฉิน จากอีซี ทัวร์ ไชนา เสริมว่า ขณะนี้ร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงโรงแรมระดับ 3 ดาว และ 4 ดาว รับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตต่างชาติน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

ขณะที่สถานที่แลกเปลี่ยนเงินตราขั้นต้นสำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติมักอยู่ในสนามบินและตามธนาคารต่าง ๆ และนักเดินทางหลายคนเผชิญกับอุปสรรคด้านชั่วโมงการให้บริการที่จำกัดของธนาคาร การใช้เอกสารมากเกินไป และจำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่ไม่คาดคิด

เฉินเสริมอีกว่า การถอนเงินจากตู้กดเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) กลายเป็นความท้าทายสำหรับชาวต่างชาติมากขึ้นเช่นกัน

การถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศจีนตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งตัวเลขจากธนาคารกลางแสดงให้เห็นว่า การถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มลดลงต่ำกว่า 1 ล้านครั้งเป็นครั้งแรกในปี 2564 และในปี 2565 ก็ลดลงน้อยกว่า 900,000 ครั้ง ขณะที่ในแต่ละไตรมาสของปี 2566 มีการยกเลิกตู้เอทีเอ็มแล้วหลายพันตู้

ในการประชุมการทำงานประจำปีช่วงต้นเดือน ม.ค. ตัวแทนจากธนาคารประชาชนจีนให้คำมั่นเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้ชาวต่างชาติด้วยการจัดหาบริการชำระเงินที่สะดวกมากขึ้น และขยายการรับบัตรเครดิตต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดหรือระยะเวลาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพิ่มเติม

อ้างอิง: South China Morning Post

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...