'ปานปรีย์' ถก 'บลิงเคน' ย้ำสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับสหรัฐ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันและความสัมพันธ์ที่ยาวนานกว่า ๑๙๐ ปี เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน 

การหารือครั้งนี้ยังเป็นการสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังการเยือนไทยของนาย "เจค ซัลลิแวน" ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือตามแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ทั้งด้านความมั่นคง โดยจะเข้าร่วมการประชุม Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 28 - 29 ก.พ. นี้ และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถกเรื่อง 'เมียนมา-ตัวประกันชาวไทย'

ในการหารือกับนายบลิงเคน ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคและสถานการณ์ใน "เมียนมา" โดยฝ่ายไทยได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของฝ่ายในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา รวมถึงข้อริเริ่มของไทยด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทของไทยในเรื่องนี้และแสดงท่าทีสนับสนุน 

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ สถานการณ์ในอิสราเอล ยูเครน การให้ความช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในกาซา และฝ่ายไทยได้ใช้โอกาสนี้ในการขอรับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๖๘ - ๒๕๗๐ ด้วย

นอกจากนี้ นายปานปรีย์ได้พบหารือทวิภาคีกับนายคริสโตเฟอร์ แวน ฮอลเลน (Christopher Van Hollen) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ รัฐแมริแลนด์ ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมาธิการด้านเอเชียตะวันออก แปซิฟิก และนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ คณะกรรมการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน 

ระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ และสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ได้ชื่นชมข้อริเริ่มของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา อีกทั้งได้แสดงความเป็นห่วงตัวประกันชาวไทยในกาซา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความยินดีที่มีการจัดตั้ง U.S.-Thai Alliance Caucus ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยนายแวน ฮอลเลนยินดีที่จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในลักษณะเดียวกันในกรอบของวุฒิสภาสหรัฐฯ ต่อไป


ถก รมว.พาณิชย์สหรัฐ กระชับการค้า-การลงทุน

นายปานปรีย์ ยังได้หารือทวิภาคีกับนางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเพื่อหาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงด้านพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการลงทุนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ และการส่งเสริมความเขื่อมโยงในภูมิภาคผ่านโครงการ "แลนด์บริดจ์" ของไทย โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เชิญชวนให้นักธุรกิจสหรัฐฯ มาลงทุนในไทยด้วย 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งไทยมีบทบาทที่แข็งขันในกรอบดังกล่าว


แลกเปลี่ยนความเห็น 'แลนด์บริดจ์'

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ยังได้หารือทวิภาคีกับนายอามอส ฮอชสตีน (Amos Hochstein) ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในด้านพลังงานและการลงทุน ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน

โดยทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ทั้งในมิติเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทาน ด้านดิจิทัล และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป 


พบ สว.ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ 

ในโอกาสการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการครั้งนี้ นายปานปรีย์ยังได้หารือทวิภาคีกับนางลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ รัฐอิลลินอย สมาชิกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน โดยได้ขอบคุณวุฒิสมาชิกชาวอเมริกันเชื้อสายไทยสำหรับมิตรภาพและการสนับสนุนชุมชนไทยในสหรัฐฯ รวมถึงการสนับสนุนร่างข้อมติวุฒิสภาสหรัฐฯ ในโอกาส 190 ปีไทย-สหรัฐฯ 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหม โดยเฉพาะการสนับสนุนเพิ่มจำนวน (โควตา) บุคลากรกองทัพไทยมารับการศึกษาในสถาบันวิชาการทหารในสหรัฐฯ การพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการฝึกอบรมการแพทย์ทหาร

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...