ส่องผลกระทบทั้งบวกและลบ 'หลังม่านแฟชั่นวีค'

ช่วง ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี เมืองสำคัญต่าง ๆ ทั้งปารีส มิลาน และนิวยอร์ก กำลังเริ่มต้นสัปดาห์แฟชั่นของตน เป็นเวทีสำคัญสำหรับการเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ ดึงดูดนักออกแบบ นางแบบ และแฟชั่นนิสต้าทั่วโลกเข้าร่วม ไม่เพียงแต่เป็นการนำเสนอเทรนด์ล่าสุด แต่แฟชั่นวีคยังสร้างความคึกคักและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเมืองจากการค้า ท่องเที่ยว บริการ และสื่อ
 

แฟชั่นวีคมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของเมืองเจ้าภาพ ตัวอย่างเช่นงาน New York Fashion Week (NYFW) รายงานจาก Zoe Report พบว่าแฟชั่นวีคประจำปี สามารถสร้างรายได้เข้าสู่เมืองถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าการจัดการแข่งขันเทนนิส U.S. Open หรือ Super Bowlโดย NYFW สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้กว่า 232,000 คน สร้างการจ้างงานราว 180,000 ตำแหน่ง ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่ออแกไนเซอร์ ช่างแต่งหน้า ไปจนถึงคนจัดเลี้ยงและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ผลในเชิงบวกจาก NYFW ไม่ได้มีเฉพาะในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของเมือง เกิดการลงทุนและกระตุ้นการบริโภคในท้องถิ่น โรงแรมมักถูกจองจนเต็ม และธุรกิจในท้องถิ่น เช่น ร้านอาหาร ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการจัดงาน

นอกจากนี้ การปรากฏตัวของเหล่า “อินฟลูเอนเซอร์” ในงานแฟชั่นวีคแต่ละครั้ง สร้างมูลค่าเพิ่มและนำมาซึ่งยอดซื้อจากเหล่าแฟนคลับได้มหาศาล ตัวอย่างจากงานล่าสุด “Paris Haute Couture Week 2024” นักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ Han So-hee ซึ่งโด่งดังจากซีรีย์เรื่อง “Gyeongseong Creature” ได้ปรากฏตัวที่โชว์ของ Dior ในฐานะ House ambassador ของแบรนด์

รายงานจาก Lefty เว็บไซต์จัดเก็บข้อมูลด้านแฟชั่น ได้ทำการคำนวณมูลค่าทางสื่อ (Earned Media Value: EMV) จากโพสต์ที่เธอร่วมชมโชว์คอลเล็กชันล่าสุดบนอินสตาแกรม ตีมูลค่าได้สูงถึง 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 220 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์และผู้ติดตามเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อตลาดสินค้าแฟชั่นทั่วโลก ดันกระแสบริโภคนิยมให้เติบโตต่อเนื่องสวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะความตึงเครียดระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้แฟชั่นวีคจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลแต่ก็สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากเช่นเดียวกัน

นักเคลื่อนไหวหลายคนชี้ให้เห็นว่าการแสดงโชว์แต่ละครั้งก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาล ใช้พลังงานสูง และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจากการขนส่งและการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน รวมไปถึงส่งเสริมวัฒนธรรมฟาสต์แฟชั่นและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน โดยปลูกฝังเทรนด์ที่ฉาบฉวยและส่งสัญญาณว่าเสื้อผ้าของฤดูกาลที่แล้วล้าสมัย

ปรัชญานี้ไหลลงมาสู่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เร่งผลิตเสื้อผ้าใหม่ออกมาวางขายอย่างรวดเร็ว เพื่อทันให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ใส่เสื้อผ้าที่มีอินสไปซ์มาจากรันเวย์หลังจบโชว์ รวม ๆ แล้วแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นในแต่ละปีผลิตเสื้อผ้าใหม่ราว 150 พันล้านชิ้นต่อปี

การสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องคิดใหม่ เพื่อผลิตผลงานและโชว์ที่สอดคล้องกับกระแสความยั่งยืน เช่น ลดจำนวนวันจัดงาน ลดจำนวนแขก หรือ ลดความอลังการของฉากประกอบโชว์

สำหรับประเทศไทย ด้วยทรัพยากรที่จำกัดอาจต้องกลับมาทบทวนการจัดแฟชั่นวีคของเรา จะเลือกเดินไปสุดทางปั่นกระแสบริโภคนิยมเพื่อเป็นหนึ่งในเมืองแฟชั่นโลก หรือเลือกที่จะชูเรื่องความยั่งยืนเป็นแกน พร้อมพัฒนาสู่งานต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นในอาเซียนได้เดินตาม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...