'ณัฐพงษ์' ชี้ข้อมูล ปชช.หน่วยงานรัฐหลุด 20 ล้านชุด ช่องโหว่จ้างเอกชนทำแอป

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีรายงานของบริษัท Resecurity ระบุว่าเฉพาะเดือนมกราคม 2567 มีข้อมูลที่ใช้ระบุตัวบุคคลของคนไทยเกือบ 20 ล้านชุดข้อมูลรั่วไหล และถูกประกาศขายบนฟอรัมซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมาย โดยเป็นข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุมากถึง 19.7 ล้านแถวข้อมูล

โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่หลุดครั้งนี้สะท้อนถึงเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะในกรณีนี้เป็นข้อมูลที่น่ากังวลที่หลุดออกมาจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่าเป็นเรื่องของความบกพร่องในการบริหารจัดการข้อมูลประชาชนของภาครัฐ

จากสถิติในการแฮ็กข้อมูลและระบบ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนในที่แอบขโมยข้อมูลออกไปขายหรือใช้ช่องทางคนในในการเจาะระบบ ซึ่งในส่วนนี้ค่อนข้างป้องกันได้ยาก แต่จากที่ได้ติดตามข่าวข้อมูลรั่วไหลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มีข้อมูลนักท่องเที่ยวหลุด หมายเลขบัตรประชาชนหลุด หรือช่วงสถานการณ์โควิดที่มีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโควิดของประชาชนออกมาขาย เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในทั้งหมด แต่เป็นปัญหาจากระบบที่มีช่องโหว่ และนโยบายในการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐที่ยังไม่ได้วางให้ถูกหลักการเท่าที่ควร

อย่างเช่น แอปพลิเคชันหรือระบบดิจิทัลต่างๆ หลายส่วนในภาครัฐ เวลารัฐจัดทำก็จะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้ผู้รับเหมาดูแลทั้งหมด ทั้งในระดับเซิร์ฟเวอร์ (server) ระดับข้อมูล หรือในระดับแอปพลิเคชัน โดยรัฐไม่เข้าไปแตะเลย วันดีคืนดีเกิดมีคนในของผู้รับเหมาเจ้านั้นแอบเอาข้อมูลออกไปขายหรือเจาะระบบก็ทำได้ง่ายมาก เพราะข้อมูลทุกอย่างของภาครัฐและประชาชนอยู่กับทางผู้รับเหมาหมดเลย

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีการประกาศนโยบาย cloud first policy หรือการทำให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นคลาวด์ให้หมดแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนของการบริหารจัดการที่ต้องวางกรอบในเรื่องของการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ในการให้ภาครัฐเป็นคนควบคุมข้อมูลและรักษาดูแลความปลอดภัยข้อมูลให้ประชาชน ไม่ใช่ให้ผู้รับเหมาควบคุมได้ทุกอย่าง

หากเปรียบแอปพลิเคชันที่ใช้ในการทำงานภาครัฐหรือบริการออนไลน์ที่ให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นเหมือนสำนักงานหนึ่งแห่ง ปัจจุบันเมื่อภาครัฐหน่วยงานหนึ่งจะจัดทำแอปขึ้นมาก็จะจ้างผู้รับเหมาหนึ่งเจ้าไปขึ้นสำนักงานหลังใหม่ สมมติว่ามี 20 กระทรวงที่ทำแอปพลิเคชัน ก็เหมือนมีสำนักงานใหม่ขึ้นมา 20 หลัง โดยที่ภาครัฐจะให้ผู้รับเหมาเป็นคนดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับภาครัฐเลย แต่อย่าลืมว่าในสำนักงานแต่ละหลังผู้รับเหมาที่รับช่วงต่อจากภาครัฐแต่ละเจ้าก็มีวิธีการจัดการคนละแบบ 20 เจ้าก็ 20 แบบ วันดีคืนดีคนในของผู้รับเหมาเจ้านั้นแอบขโมยกุญแจเข้าตึกหลังนั้นแล้วไปขายต่อก็ได้

แต่หากเป็นการใช้ cloud first policy จะเหมือนกับการที่รัฐตั้งตึกหลังใหม่เป็นศูนย์กลางแห่งเดียว แล้วให้บรรดากระทรวงมาเช่าสำนักงานอยู่ในตึกนี้ เอาแอปพลิเคชันทุกชิ้นมากองอยู่ในคลาวด์ของภาครัฐ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเซิร์ฟเวอร์จะต้องอยู่ที่เดียว และไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีผู้ให้บริการคลาวด์เพียงรายเดียวให้กับรัฐ เพียงแต่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการให้ทุกแอปพลิเคชันหรือทุกบริการดิจิทัลภาครัฐที่ให้บริการอยู่บนคลาวด์หลายๆ ที่นั้น มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยแบบเดียวกัน ภาครัฐสามารถจัดการได้อย่างรวมศูนย์ และมีหน้าที่ในการดูแลรักษาและวางมาตรการการรักษาความปลอดภัยได้เองทั้งหมด นี่เป็นสถาปัตยกรรมระบบดิจิทัลของภาครัฐที่ตอนนี้หลายประเทศใช้อยู่

แต่ภาครัฐและภาคราชการไทยมักจะมีวิธีคิดว่าการเอาข้อมูลประชาชนและข้อมูลภาครัฐขึ้นคลาวด์แบบนี้ก็คือการเอาไปฝากไว้กับผู้ให้บริการข้างนอกแล้วรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่จริงแล้วไม่ใช่ นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะการขึ้นคลาวด์ รู้จักการใช้คลาวด์ และรู้จักการตั้งค่ารักษาความปลอดภัยให้เป็น เป็นการรักษาความปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้นมากกว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทำแอปพลิเคชันในปัจจุบันเสียอีก

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ท่าทีที่รัฐบาลแถลงออกมาเรื่องนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศยังค่อนข้างให้น้ำหนักกับการดึงเม็ดเงินจากต่างชาติมาลงทุนในการตั้ง data center ประมาณแสนกว่าล้านบาทเป็นหลัก แต่รัฐควรจะมองให้ครอบคลุมเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย ซึ่งเรายังไม่ได้เห็นการแถลงออกมาจากทางกระทรวงดิจิทัลฯ หรือทางรัฐบาลเองว่าจะมีการลงรายละเอียดในเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องนี้มีความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของประชาชนด้วย เช่น การให้นักลงทุนต่างชาติมาตั้ง data center ในไทยอย่างเดียวไม่พอ เมื่อจะนำบริการดิจิทัลภาครัฐไปขึ้นคลาวด์ที่มาตั้ง data center ในไทยแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือมาตรการในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของประชาชนเป็นอย่างไร 

ซึ่งจากการที่ตนอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ได้เชิญหน่วยงานด้านดิจิทัลหลายหน่วยงานเข้ามาชี้แจง พบว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าตกลงในงบประมาณปี 2568-2569 ที่จะเริ่มมีการ migrate ข้อมูลภาครัฐไปขึ้นคลาวด์ให้หมด จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในการปกป้องข้อมูลแบบไหน ถ้าเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ของไทยอยากเข้ามาให้บริการภาครัฐด้วยจะทำได้หรือไม่ ถ้าได้แล้วผู้ให้บริการจะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำอย่างไร ดังนั้น ถ้ารัฐบาลอยากช่วยอุดช่องว่างและส่งสัญญาณเรื่อง cloud first policy รัฐบาลก็ควรออกมาแถลงความชัดเจนในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องของความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า กรณีแบบนี้คนที่เสียที่สุดก็คือประชาชน พอข้อมูลออกไปแล้วสามารถถูกเอาไปขยายผล ทำซ้ำ ส่งต่อได้อีกไม่รู้จบ นี่คือความน่ากลัวของเรื่องนี้ โดยที่เราไม่สามารถดึงข้อมูลกลับมาได้ รัฐบาลควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าตกลงเรื่องของสถาปัตยกรรมทางด้านดิจิทัลของประเทศที่มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และคุ้มครองข้อมูลของประชาชนควรจะมีหน้าตาแบบไหน

“เรื่องนี้ไม่ได้ทำยาก เพราะถ้าดูในหลายๆ ประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลของรัฐบาลใช้คลาวด์กันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ฯลฯ แต่ละที่มีมาตรฐานเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หมดแล้ว เขามีมาตรฐานไว้เลยว่าถ้ารัฐบาลจะเอาบริการดิจิทัลภาครัฐไปขึ้นคลาวด์ ผู้ให้บริการคลาวด์จะต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำอย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำยาก รัฐบาลสามารถไปศึกษา เอามาปรับใช้ แล้วประกาศได้ทันทีเพื่อให้เกิดความชัดเจนในส่วนนี้ ประชาชนเองก็จะได้สบายใจด้วยว่าเรามีทิศทางในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” นายณัฐพงษ์ กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...