ทร. เตรียมจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค "ในหลวง-พระราชินี" เสด็จฯ 27 ต.ค.นี้

งานใหญ่ กองทัพเรือ เตรียมจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 67 โดย "ในหลวง-พระราชินี" เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน วัดอรุณฯ 27 ต.ค. นี้ โดยใช้เรือพระราชพิธี 52 ลำ กำลังพลประจำเรือ 2,200 นาย และจะเปิดฝึก 12 ก.พ. นี้


เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 ที่อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2567 โดยมี คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) เข้าร่วมประชุม


ตามที่สำนักพระราชวัง มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ในการนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางและแผนการดำเนินการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินดังกล่าว ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับการบรรจุไว้ ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

...


สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อเป็นการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานจัดเตรียมความพร้อมของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคประจำปี 2567 รวมถึงเป็นไปตามแผนงานที่ได้มีการกำหนดไว้ โดย ผู้บัญชาการทหารเรือ 

ได้มีคำสั่งกองทัพเรือ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี พลเรือโท วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกำลังพล เป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ในการวางแผนอำนวยการกำกับการ และดำเนินการเตรียมการ จัดขบวนเรือพระราชพิธีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสมพระเกียรติ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย สำหรับรูปแบบ การจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำจัดขบวนเป็น 5 ริ้วความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 2,200 นาย


ในส่วนของแผนปฏิบัติงานการเตรียมความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในส่วนของกองทัพเรือ ได้แบ่งการเตรียมความพร้อมออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

1.  การเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลและการฝึกซ้อมฝีพาย จะเริ่มมีการจัดกำลังพลประจำเรือตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา โดยจะจัดให้มีการฝึกครูฝึกฝีพาย ในระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2567 จากนั้นจะจัดให้มีการฝึกฝีพายบนเขียง ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 16 พฤษภาคม 2567 และการฝึกฝีพายในหน่วย ในเรือ ในน้ำ ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 30 กรกฎาคม 2567


2.  การซ่อมทำเรือพระราชพิธีและการเตรียมท่าเทียบเรือ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ดำเนินการสำรวจและซ่อมทำเรือพระที่นั่ง เรือรูปสัตว์ เพื่อส่งให้กรมศิลปากรตกแต่งตัวเรือ พร้อมทั้งซ่อมทำเรือดั้งเรือแซงให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 เมษายน 2567 รวมทั้งหมดซ่อมทำโป๊ะเรือ ท่าเทียบเรือ ปักเสาผูกเรือพระราชพิธีและวางทุ่นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย


3.  การแต่งบทเห่เรือจำนวน 4 บท โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วย บทเห่เรือพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาจำนวน 1 บท และบทเห่เรือพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินจำนวน 3 บทเพื่อใช้ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาและงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

...


4.  การฝึกซ้อมขบวนเรือในแม่น้ำประกอบด้วยการซ้อมย่อย 10 ครั้ง การซ้อมใหญ่ 2 ครั้ง และซ้อมเพื่อเก็บความเรียบร้อยอีก 1 ครั้ง


5.  งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ใน วันที่ 27 ตุลาคม 2567


6.  การสำรวจ จัดเก็บเรือ และสรุปผลการปฏิบัติ


ทั้งนี้การเตรียมการต่างๆ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ ฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้เน้นย้ำคณะกรรมการในส่วนต่างๆ รวมถึงผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมให้ดำเนินการในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การจัดขบวนพยุหยาตราในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างามและสมพระเกียรติ รวมถึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในช่วงการฝึกซ้อม 

ทั้งการซ้อมย่อย การซ้อมใหญ่ และงานพระราชพิธีในวันจริง ซึ่งกำหนดไว้ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้เป็นอันดับแรก คือการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธีซึ่งจะมีการเปิดการฝึก ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี

...

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...