'โลกใต้'ผงาดผู้นำแถวหน้า ส่อเค้าสะเทือนระเบียบโลกดั้งเดิม

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย นำเสนอรายงานที่ระบุว่า เสาหลักของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป เกิดความวุ่นวายขึ้นตั้งแต่เหนือจรดใต้ เนื่องจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เรียกว่า “โลกใต้” เริ่มมีบทบาทมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ อาจทำให้กฎระเบียบดั้งเดิมของประชาคมระหว่างประเทศที่มีชาติตะวันตกเป็นแกนนำปั่นป่วนและไม่ราบรื่นนัก

เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ หรือ G7 และประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย และตุรกี มารวมตัวกันที่กรุงริยาดเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียอย่างลับ ๆ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2566 เพื่อหารืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแผนสันติภาพสำหรับสงครามยูเครน ซึ่งแผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้รัสเซียและร่วมกันสนับสนุนความต้องการของยูเครนที่อยากให้รัสเซียถอนกองกำลังออกไป

แต่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการประชุมดังกล่าว เผยว่า ในระหว่างประชุมกลุ่มประเทศเกิดใหม่เรียกร้องให้ยูเครนยังคงเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ซึ่งยูเครนตอบโต้ความเห็นดังกล่าวอย่างรุนแรง แต่การหารือก็จบลงด้วยดี

การประชุมอีกแห่งในเดือน ต.ค. 2566 ตุรกีและประเทศอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศในฉนวนกาซา และวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐและยุโรป กลุ่มประเทศเกิดใหม่เริ่มไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติสองมาตรฐานของสหรัฐและยุโรปมากขึ้น ที่เข้าข้างอิสราเอล ทั้ง ๆ ที่ประณามรัสเซียว่าละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล

หลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว 80 ปี โลกมีความความมั่งคงและรุ่งโรจน์ภายใต้องค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งจากประเทศชนะสงครามเป็นส่วนใหญ่ อาทิ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่ขณะนี้ประเทศเกิดใหม่ออกมาสร้างความแข็งแกร่ง ผ่านการแสดงความเห็นต่างจากกลุ่มผู้ชนะสงครามเหล่านั้น

“นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิเอเชียว่า “ความน่าเชื่อถือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และกระบวนการตัดสินใจมักถูกตั้งคำถาม หากคณะมนตรีฯยังคงปฏิเสธการเป็นตัวแทนอย่างถาวรต่อระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่สุดในโลก และทวีปอื่น ๆ อย่างแอฟริกาและละตินอเมริกา”

อินเดีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี พยายามปฏิรูปคณะมนตรีฯความมั่นคงยูเอ็นมานานแล้ว โดยอินเดีย ในฐานะที่เป็นตัวแทนของโลกใต้ได้วิพากษ์วิจารณ์ระเบียบแบบเดิม ๆ และเบื้องหลังความเชื่อมั่นของอินเดียโลกใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว 3 ประการ

ในปี 2566 อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลของยูเอ็น ระบุว่า โลกมีประชากร 8,000 ล้านคนในปี 2565 มากกว่าในปี 2493 ถึง 3 เท่า ส่วนประชากรในกลุ่มพันธมิตรประเทศเกิดใหม่ 77 ประเทศ นอกเหนือจากจีน มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก และตอนนี้คิดเป็นสัดส่วน 60% ของประชากรโลก
 

ในแง่เศรษฐกิจ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่จะขึ้นมามีบทบาทผู้นำ และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อินเดียอาจโตแซงหน้าจีดีพีญี่ปุ่นในปี 2569 ด้านสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ คาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศ G77 อาจมีจีดีพีเติบโตมากกว่าสหรัฐและจีนภายในช่วงปี 2593

ขณะที่ความสมดุลของกองทัพเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม ระบุว่า กลุ่มประเทศ G7 ที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านกองทัพคิดเป็น 70% ของโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อาจใช้จ่ายด้านกลาโหมลดลงสู่ระดับประมาณ 50% ในปี 2565

พลเรือเอก เปโตรนิโอ ออกัสโต ซิเกรา เด อาเกียร์ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนานิวเคลียร์และเทคโนโลยีของกองทัพเรือบราซิล เผยเมื่อเดือนก.ย. 2566 ว่า ประเทศจะไม่หยุดแค่การจัดหาทรัพยากร แต่จะพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ด้วยตนเอง และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบภายในปี 2576

เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ บราซิลจะกลายเป็นประเทศแรกที่มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ในโลกใต้ และเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่มีเรือดำน้ำชนิดดังกล่าวรองจากสหรัฐ จีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ อีก 3 ประเทศ

แต่สัญญาณความสัมพันธ์อันร้าวลึกในซีกโลกใต้เริ่มชีดเจนมากขึ้นเช่นกัน

ในเดือต ต.ค. 2566 พรรคภารตียชนตา (บีเจพี) ของอินเดีย นำโดยโมดี กล่าวหา “ราหุล คานธี” สมาชิกและอดีตหัวหน้าพรรคคองเกรส พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ หรืออดีตทวิตเตอร์ เกี่ยวกับประเด็นที่คานธีพยายามโจมตีพรรคของตน โดยข้อความใส่ร้ายโพสต์ผ่านเอ็กซ์โดย “I.T. Cell” ของพรรคบีเจพี ที่คอยดูแลแคมเปญต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย

ความสมัครสมานสามัคคีของโลกใต้ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยการประชุมสุดยอดแถบและเส้นทาง ช่องทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ตามกลยุทธ์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกของจีนที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือน ต.ค. 2566 มีผู้นำเข้าร่วมเพียง 24 ประเทศ ลดลงจากการประชุมในปี 2562 ที่มีผู้เข้าร่วม 37 ประเทศ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากบางประเทศพูดถึงประเด็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนและรัสเซีย

นอกจากนี้ ในฐานะประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 แห่ง หรือ G20 บราซิล ได้จัดการประชุมเชอร์ปาในเดือน ธ.ค. 2566 และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจไม่ยอมรับแถลงการณ์ร่วมในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G20 เมื่อเดือน ก.พ. 2566 เพราะบราซิลไม่สามารถออกความเห็นในประเด็นสงครามยูเครนและกาซา ส่วนแอฟริกาใต้ ซาอุดีฯ และตุรกี มีปฏิกิริยาตอบโต้ในเชิงลบทันที

นี่จึงน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าซีกโลกใต้ยังไม่ใช่เสาหลักของโลก เพราะยังเต็มไปด้วยปัญหาความไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...