ป.ป.ช.ชงข้อเสนอถึง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ชี้แจกเงินดิจิทัลไม่ตรงปก-เสี่ยงขัด กม.

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลแล้ว

โดยสาระสำคัญของข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. จากข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดังกล่าวพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย กรณีพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายตอนหาเสียงว่าจะแจกเงินให้แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน คนละ 10,000 บาท จำนวน 56 ล้านคน เป็นเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยแสดงแหล่งที่มาจาก กกต.ว่ามาจาก 4 แหล่ง โดยการบริหารงบประมาณ ไม่ได้มาจากการกู้เงินแต่อย่างใด ซึ่ง กกต.ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวโดยนำเงินจากงบประมาณ สามารถกระทำได้ แต่ต่อมาเมื่อจัดตั้งรัฐบาลในคราวแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เงื่อนไขในการแจกเงินเปลี่ยนไป โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 1 หมื่นบาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปที่รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน มีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยคาดว่ามีผู้ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน แหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไป โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท อ้างเหตุวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อการออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ

เห็นได้ว่าการเสนอนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง กับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีความแตกต่างและจนถึงบัดนี้การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวไม่มีความชัดเจน หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่ปรากฏว่าเป็นหน่วยงานใด เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เป็นการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และกฎหมายว่า นโยบายดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ และอาจเป็นกรณีตัวอย่างของการหาเสียง ที่มีลักษณะสัญญาว่าจะให้ อาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 73 (1) หรือมาตรา 136 วรรคหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงกรณีความเสี่ยงต่อผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของโครงการ ที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการกำหนดเงื่อนไขในการขึ้นเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อาจจะมีความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องศึกษา วิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือบุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมกับต้องมีขั้นตอน วิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนให้โครงการฯ สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ที่เห็นว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ตามนิยามวิกฤติเศรษฐกิจของธนาคารโลก การจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า

ขณะเดียวกันมีประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพราะการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 71 และ 75 นอกจากนี้ยังต้องรักษามาตรฐานด้านวินัยการเงินการคลัง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ด้วย ขณะเดียวกันการกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ มีการบัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

ทั้งนี้จากข้อมูลประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ได้ผลสรุปชัดเจนแล้วว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤติ และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในระยะปานกลาง ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยคาดว่าปี 2568 กรณีไม่รวมโครงการ ขยายตัวร้อยละ 3.1 กรณีรวมโครงการขยายตัวร้อยละ 2.8 ประกอบกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และต่อเนื่องที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไข ดังนั้นหากรัฐบาลจะดำเนินการตรา พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงควรได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงที่จะผิดเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และดำเนินการภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...