"สุชาติ" ฉุนโยงรีดหัวคิว ขู่ฟ้องคนทําเสียชื่อ "พิพัฒน์" ตั้ง กก.สอบ

“พิพัฒน์” ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง “2 อดีต รมต.- 2 ขรก.” กระทรวงแรงงานรีดหัวคิว 36 ล้านบาท จัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ เผยหลัง DSI ตั้งข้อกล่าวหา ยังไม่เจอหน้าปลัดกระทรวง ส่วน “สุชาติ” ขู่ตั้งทีมกฎหมายฟ้องดะคนทำเสียชื่อพูดกำกวมทำคนเชื่อว่าเป็นไอ้โม่งรีดหัวคิว ขณะที่ “โฆษกดีเอสไอ” ระบุที่ประชุมมีมติกล่าวหาเพราะมีพยานหลักฐานส่ง ป.ป.ช. ส่วนคดีค้ามนุษย์ต้องดูรายละเอียด ด้าน “รมว.ยธ.” ชี้พบหลักฐานเส้นทางการเงิน

ความคืบหน้ากรณีดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหา 2 อดีต รมต. และ 2 บิ๊ก ขรก.กระทรวงแรงงาน มีเอี่ยวเรียกเก็บค่าหัวคิวคนงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์รวมกว่า 36 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ม.ค. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติให้กล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้บริหารระดับกระทรวงแห่งหนึ่ง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีพบหลักฐานเกี่ยวข้องขบวนการส่งแรงงานไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ ว่า กรณีดังกล่าวคณะพนักงานสอบสวนได้ประชุมร่วมกับพนักงานอัยการสูงสุดมีมติเบื้องต้นกล่าวหาบุคคลทั้ง 4 ราย ในความผิดต่อหน้าที่ราชการ ม.149 และ ม.157 ส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามอำนาจการไต่สวน อาจมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือพบความผิดอื่น เช่น คดีค้ามนุษย์ หรืออาจส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอตรวจสอบเอง ทั้งนี้ ถ้าเข้าข่ายคดีค้ามนุษย์ ต้องตรวจสอบว่ามีพยานหลักฐานถึงบุคคลใด แต่เบื้องต้นเป็นการเอาผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก่อน

พ.ต.ต.วรณันกล่าวต่อว่า ส่วนจะมีการแอบอ้างหน่วยงานหรือไม่นั้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษประชุมร่วมกับอัยการสูงสุดมีมติให้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานข้อเท็จจริงในสำนวนส่วนหนึ่งพอสมควรที่จะกล่าวหาบุคคลทั้ง 4 รายได้ ส่วนกรณีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานจ่อฟ้องกลับหากไม่ใช่เรื่องจริงนั้น เป็นเรื่องใช้สิทธิ์ตามขั้นตอนกฎหมาย ในการปฏิบัติงานของดีเอสไอมีหน้าที่ถ่ายทอดข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพียงแต่ว่ากระบวนการทำงานมี 2 ส่วน 1.ส่วนคดีก็ส่งไปตามอำนาจหน้าที่ และ 2.ส่วนการให้ข้อเท็จจริงกับสังคมก็ต้องให้เกียรติ ไม่เปิดเผยข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหา ไม่ระบุชื่อตัวบุคคลเพียงกล่าวแค่ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกว้างๆ ยืนยันว่าเผยแพร่ในประเด็นสังคมที่ควรได้รับรู้ตามข้อเท็จจริงหรือแผนประทุษกรรม ให้ประชาชนรู้ว่ามีเหตุลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นจริง หากต่อไปเจอเหตุเช่นนี้กับตัวเองก็ให้ระมัดระวังเพราะอาจตกเป็นเหยื่อ เช่น การทำงานในต่างประเทศ ต้องศึกษาให้รอบคอบ จากนี้จะเร่งสรุปสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป

...

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า คดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันทั้งดีเอสไอ อัยการสูงสุด และทางการฟินแลนด์คดีค้ามนุษย์ถือเป็นเรื่องใหญ่ในต่างประเทศเกี่ยวกับการค้าแรงงาน ซึ่งทางตำรวจฟินแลนด์ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพบเส้นทางการเงิน และมองว่าเป็นการค้ามนุษย์ แต่บุคคลที่ถูกกล่าวหาจะหมายถึงใครบ้างนั้นคงต้องให้สอบถามกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ที่กระทรวงแรงงาน วันเดียวกัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ทราบข่าวจากสื่อมวลชนเรื่องดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหามีอดีตรัฐมนตรีและข้าราชการระดับผู้ใหญ่ของกระทรวงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เจอปลัดกระทรวงฯ จะเรียกมาสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 63-66 มีความเป็นมายังไง จะติดตามหาข้อมูลเพื่อมาดูว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายเพราะทราบว่าทางการฟินแลนด์ส่งข้อมูลทั้งหมดมาที่ดีเอสไอและสำนักงานอัยการสูงสุดได้ทำเรื่องไป เรื่องนี้นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ต้องหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ได้ก่อน จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงไม่ใช่การตั้งกรรมการสอบ แต่เป็นการตั้งกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริง แก้ปัญหาการส่งออกแรงงานไทยไปทำงานในประเทศต่างๆ นอกจากงานไปเก็บผลไม้ป่าในแถบประเทศสแกนดิเนเวียเช่น ฟินแลนด์และสวีเดน ยังมีการจัดส่งแรงงานไปทำงานในอีก 11-12 ประเทศ เมื่อเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นจะเรียกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาหารือ กรมการจัดหางานต้องระวังในสิ่งต่างๆ เพราะอุตส่าห์ไม่ให้ผ่านทางเอเย่นต์ แต่กลับกลายเป็นว่ามีการไปเรียกรับเงินในต่างประเทศ สร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลไทยและประเทศไทย

เมื่อถามว่าการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศจะเข้มงวดมากขึ้นแค่ไหน นายพิพัฒน์ตอบว่า จะประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศว่ากระทรวงแรงงานไม่มีการเรียกรับอามิสสินจ้างในการดำเนินการใดๆ หากมีเรียกรับเงินขอให้แจ้งให้กระทรวงรับทราบ หรือหากไม่กล้าแจ้งกระทรวง ก็ขอให้แจ้งตรงมาที่ตนจะส่งมาเป็นจดหมาย มาพบด้วยตนเอง หรือจะส่งให้ใครมาประสานก็ได้ เรื่องนี้จะต้องโปร่งใส

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เรื่องคดีที่เกิดขึ้นในประเทศฟินแลนด์ หากดีเอสไอประสานมาก็พร้อมให้ข้อมูลให้ความร่วมมือเต็มที่ เตรียมข้อมูลต่างๆไว้แล้ว ส่วนกรณีที่อ้างว่ามีการหักค่าหัวคิวในช่วงปี 63-66 ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอธิบดี ต้องรอดูผลการสอบสวนว่าเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร ถ้าหากไม่จริงก็จะต้องมาดูในฝ่ายกฎหมายว่ามีอะไรที่จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีต รมว.แรงงาน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ดีเอสไอออกเอกสารว่าเป็นเรื่องเมื่อปี 2563 ตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ส.ค.63 ขณะที่การส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ฟินแลนด์จะส่งทุกเดือน มิ.ย.-ก.ค. และส่งมากว่า 10 ปี มีการส่งแรงงานไปฟินแลนด์ก่อนที่ตนจะรับตำแหน่ง ส่วนปี 64-65 มีการส่งแรงงานไปต่อเนื่อง สถานทูตฟินแลนด์ จะกำหนดโควตาว่าต้องการแรงงานเท่าไหร่ แล้วประสาน มายังกระทรวงแรงงานแจ้งต่อไปยังนายจ้างที่มีการประสานกับทางเอกชนของฟินแลนด์อยู่แล้วเพื่อจัดส่งกันเอง ในส่วนของการคัดคนงาน การจัดส่งต่างๆ กระทรวงแรงงานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปควบคุม เพียงแค่ออกกฎระเบียบให้นายจ้างลูกจ้างมีการทำสัญญา มีแบงก์การันตีว่าจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนเท่าไหร่

อดีต รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า เรื่องมันเกิดขึ้นเพราะมีแรงงานถูกส่งกลับประมาณ 10-20 คน และร้องเรียนไปสถานทูต ต่อมามีประเด็นข้อหาค้ามนุษย์ ก็ต้องถามกลับว่าแล้วคน 3,000-4,000 คน ที่เดินทางไปนั้น ทำไมถึงไม่ได้มีการร้องเรียนกระทรวงแรงงาน มีการเรียกลูกจ้างและนายจ้างมานั่งโต๊ะเจรจาและมีแบงก์การันตี แบบนี้จะมาบอกว่าเป็นการค้ามนุษย์ได้อย่างไร องค์ประกอบเรื่องของการค้ามนุษย์ของฟินแลนด์กับของไทยแตกต่างกัน มีคนคนหนึ่งซึ่งเป็นโบรกเกอร์ของไทยถูกจับข้อหาค้ามนุษย์ ให้การซัดทอดข้าราชการหรือใครก็แล้วแต่ซึ่งตนไม่รู้จักและไม่เคยไปยุ่งกับเขา ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ใจ ถ้า ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ดีเอสไอจะชดเชยอย่างไรที่ทำให้ตนเสียหาย การออกข่าวนี้มาเพราะต้องการกลบกระแสข่าวอะไรหรือไม่

นายสุชาติยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ใครให้การอะไรไว้ หรือกล่าวหาอะไรไว้โดยไม่มีข้อมูลหลักฐานไม่ใช่ข้อเท็จจริงตนจะฟ้องร้องทั้งหมด ได้ตั้งทีมกฎหมายพิจารณาเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับคนที่เป็นอดีตรัฐมนตรี หากตนเป็นรัฐมนตรียุติธรรม แล้วไปเอาเรื่องเก่ามากล่าวอ้างอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมบ้างได้หรือไม่ ไปพูดให้ข่าวอดีตรัฐมนตรีแบบนี้จะให้ต่างชาติมองอย่างไร รัฐมนตรีไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์มันจะไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร หากบอกว่ามีเส้นทางการเงินก็เปิดเผยออกมาได้หากมีการกล่าวอ้างถึงรัฐมนตรี หรือมีเส้นทางการเงินของใคร แต่ยืนยันว่าตนไม่เกี่ยวข้อง ต้องยืนยันมาว่ามีเส้นทางการเงินของใครและแจ้งคนนั้น ไม่ใช่ออกมาพูดกำกวมทำให้คนมองว่าเป็นตน ที่กล่าวอ้างว่ามีค่าดำเนินการเก็บค่าหัวคิวรายละ 3,000 บาท ต้องถามกลับว่าหากเก็บจริงนายจ้างจะบอกหรือไม่ว่าเก็บไปให้ใคร คนไหน แล้วไปทำงานแบบถูกกฎหมายจะต้องมาจ่ายพวกนี้ด้วยหรือ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...