“พิชัย” ชี้ 5 ปัญหา จี้ “แบงก์ชาติ” ออกนโยบายการเงิน หนุนฟื้นเศรษฐกิจ

“พิชัย” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จี้ “แบงก์ชาติ” เร่งออกนโยบายทางการเงิน สนับสนุนฟื้นเศรษฐกิจ อย่าทำตรงข้าม ชี้ 5 ปัญหาใหญ่ที่ ธปท. ต้องช่วยแก้ แนะ ลดช่องว่างเงินกู้-เงินฝาก แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ หนี้เสีย เพิ่มสภาพคล่อง 

วันที่ 10 ม.ค. 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ตนได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกนโยบายทางการเงินที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่านโยบายทางการคลัง เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ซบเซามานาน โดย ธปท. มีเครื่องมือหลายด้านที่จะสนับสนุนได้ โดยล่าสุดมีกระแสความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากที่พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีกำไรรวมกันกว่า 2.2 แสนล้านบาทในปี 2566 ทั้งที่เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่ และเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่ำมาก จึงอยากให้ ธปท. ได้มีมาตรการควบคุมอย่าให้ธนาคารพาณิชย์เอาเปรียบประชาชนมากจนเกินไปนัก

ทั้งนี้ หากมองย้อนไปในปี 2563 ที่ประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด เศรษฐกิจไทยติดลบ -6.1% แต่กำไรของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดยังมหาศาลถึง 1.46 แสนล้านบาท ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่นต่างขาดทุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้ประชาชนจำนวนมากสงสัยในประสิทธิภาพการกำกับดูแลของ ธปท. ที่ปล่อยให้ ธนาคารพาณิชย์เอาเปรียบประชาชนใช่หรือไม่ อีกทั้งการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ยังเป็นไปแบบไม่ทั่วถึง รายย่อยจำนวนมากไม่สามารถกู้เงินได้ นี่เป็นเพียงแค่บางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ ธปท. ได้แก้ไข และ เร่งออกนโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ธปท. ควรจะต้องแสดงให้เห็นว่า ธปท. จะสนับสนุนอย่างไรในการแก้ไข ปัญหาใหญ่ทางศรษฐกิจ 5 เรื่อง ดังนี้

...

1. ปัญหาเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาเป็นเวลานาน และยังมีแนวโน้มที่ปีนี้จะขยายตัวต่ำอีก ไม่น่าจะขยายตัวได้ตามที่ ธปท. คาดการณ์ ทั้งนี้เพราะการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2567 นี้ จะขยายได้เพียง 2% กว่าเท่านั้น และ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกมาตลอด และ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์มาตลอดเช่นกัน อีกทั้งภาคเอกชนต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่น่าจะดีนัก

2. หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 16.5 ล้านล้านบาท หรือ กว่า 90% ของจีดีพี ธปท. จะช่วยแก้ไขอย่างไร รวมถึง หนี้ของ SMEs หนี้เสียในระบบธนาคาร และ หนี้นอกระบบ

3. เงินเฟ้อที่ติดลบมา 3 เดือนติดต่อกัน จาก ตุลาคมที่ -0.31% พฤศจิกายนที่ -0.44% และ ธันวาคมที่ -0.83% และเงินเฟ้อเดือนมกราคมก็น่าจะติดลบอีก หลังจากที่เงินเฟ้อไทยลดต่ำมาก่อนหน้านี้ 5 เดือนก่อนที่จะติดลบ น่าจะทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว ธปท. จะช่วยแก้ไขอย่างไร

4. การส่งออกที่ติดลบในปี 2566 และส่งออกจะขยายตัวต่ำในปี 2567 ธปท. จะช่วยได้อย่างไร

และ 5. สภาพคล่องในระบบการเงิน และ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ลดลงมาก ธปท. จะช่วยได้อย่างไร

อยากให้ ธปท. ได้ชี้แจงว่า จะช่วยแก้ไข 5 เรื่องที่กล่าวมานี้อย่างไร เพราะเท่าที่ได้ยินเหมือนกับ ธปท. เห็นว่า ทุกอย่างกำลังไปได้ดี เครื่องยนต์เศรษฐกิจเดินหน้าได้ครบ ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับที่ประชาชนและนักธุรกิจกำลังสัมผัสอยู่ ซึ่ง ธปท. อาจจะไม่ทำอะไรเลยเพราะคิดว่าทุกอย่างดีแล้ว ซึ่งไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูกต้อง โดย ธปท. มีเครื่องมือหลายด้านที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและขยายตัวได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดช่องว่างเงินกู้เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การช่วยเหลือในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ตนคงจะไม่ไปแนะนำว่า ต้องทำอะไร เพราะ ธปท. น่าจะต้องมีข้อมูลและแนวทางในการสนับสนุนเพื่อแก้ไขเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้อยู่แล้ว ในมาตรการและในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพียงอยากให้มีแนวคิดที่ตรงกันในการฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“การรักษาเสถียรภาพทางการเงินแต่เศรษฐกิจอยู่ในระดับการเจริญเติบโตที่ต่ำจะไม่สามารถทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงได้ และสุดท้ายก็จะไม่มีเสถียรภาพเพราะประชาชนจะลำบากกันมากจากการไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอ จึงอยากให้ ธปท. พิจารณาให้ดีในเรื่องนี้” นายพิชัย กล่าว...

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...