“สว.” เข้าชื่อเปิด ซักฟอกรัฐบาล ตามรธน.ม.153 ปม แก้รธน.พ่วง ตั้งสสร.

สว. “ดิเรกฤทธิ์” เผย “สว.” เข้าชื่อเปิด ซักฟอกรัฐบาล ตามรธน.ม.153 จ่อ อภิปราย ปม แก้รธน.พ่วง ตั้งสสร.แนะ นายกฯ มาตอบเอง แม้อภิปรายไม่ลงมติ ชี้ เหตุเปิดซักฟอก ประชาชน คาดหวังพันธสัญญาที่หาเสียงไว้

เมื่อเวลา 13.10 น. วันที่ 8 ม.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า เป็นการอภิปรายเฉพาะเรื่อง เป็นสิทธิ และอำนาจของผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย สส. หรือ สว.ก็ตาม เพราะเป็นผู้แทนของประชาชน นอกจากนี้ เรายังมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย เราติดตามการบังคับใช้กฎหมาย การกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติของวุฒิสภา มีบทบัญญัติชัดเจนให้สามารถเชิญรัฐบาลมาสอบถาม และชี้แจง ถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้ทำไป รวมถึงสามารถเสนอแนะให้กับรัฐบาล เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลเอง เพราะหลายเรื่องที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ไม่มีพื้นที่รับฟังคำอธิบายนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถใช้พื้นที่สภาฯ อธิบายผ่านวุฒิสภาสู่ประชาชน

เมื่อถามว่า สว.จะนำเรื่องใดขึ้นมาอภิปรายเป็นพิเศษหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ภาพกว้างคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนโยบายจะแก้ไขทั้งฉบับ รวมถึงการทำประชามติ ก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น เนื้อหา ขอบเขต ที่จะแก้ รวมถึงสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่มีความไม่โปร่งใส รวดเร็ว และยังไม่ได้อธิบาย เรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน ทั้งนี้ สว. มี กมธ. 26 คณะ ซึ่งมีประชาชนมาร้องเรียนนำปัญหา และคำถามมาสะท้อนมากมาย นอกจากนั้น สว.ชุดปัจจุบัน ที่ยังทำหน้าที่อยู่ มีเรื่องที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง 4-5 ปี คือเรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องที่สำคัญ การขับเคลื่อนผ่านรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ยังไม่สำเร็จ อยากรู้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับทิศทาง และวิธีการเหล่านี้อย่างไร ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน

...

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า หลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมา เวลามีกระทู้ถามด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือ รวมถึงหารือความเดือดร้อนของประชาชนไปยังฝ่ายบริหาร บางทีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ก็ไม่มาตอบ ตรงนี้เป็นผลเสียของรัฐบาลเองที่มีเวทีแล้วไม่มาชี้แจง เป็นผลเสียต่อประชาชนที่ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญมาตรา 153 จึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ส่วนกรณีกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่โปร่งใส สามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่นั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า มีหลายประเด็น ทั้งกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่ยังมีคดีต่างๆ ค้างอยู่มากมาย เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่อยู่ชั้น 14 กรณีเดียว แต่เราพูดถึงภาพกว้างด้วย เราไม่ได้ก้าวล่วงดุลพินิจ แต่เราอยากสร้างความเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องหลายกรณีที่ประชาชนสนใจ

เมื่อถามว่า หวังว่าจะให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อดีของมาตรานี้ คือกำหนดให้รัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ สว. นอกรอบพบว่า คนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายแบบไม่ลงมติ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน โดยในวันนี้จะมีการประชุม กมธ.การพัฒนาการเมือง ซึ่งเราเห็นพ้องกัน แต่จะมาดูญัตติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมตัวว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า หลายคนมองถึงความจำเป็น เป็นวิกฤติหรือไม่ อย่างไร ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผิดกฎหมาย ฉบับไหนหรือไม่ สามารถดำเนินการได้หรือไม่ มีหลายแง่มุมที่ยังมีข้อถกเถียง ทำไมเราไม่ให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง เพื่อไม่ให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลนี้เพิ่งทำงานได้ 4 เดือน เหตุใดจึงจะขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นช่วงๆ ตอนรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็มีการมารายงานทุก 3 เดือน ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกมธ.ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นก็แตกต่างกับรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากประชาชน พันธกรณี ข้อผูกพันกับสิ่งที่หาเสียง หรือประกาศเป็นนโยบายไว้ เมื่อมีการให้พันธสัญญาก็จะต้องขับเคลื่อนและมีความคาดหวังจากประชาชน ขอย้ำว่า การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่อยากให้มองตัวบุคคล แต่อยากให้มองตัวของรัฐบาล ว่า สถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่ อย่างไรในการอภิปรายฯ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...