เหลียวหลังการเมือง 2566 : ปีหักอำนาจ

วันเวลาหมุนผ่านมาจนถึงสิ้นปี 2566 “ทีมการเมืองไทยรัฐ” มองย้อนสถานการณ์ในช่วง 365 วัน ที่กำลังจะพ้นไป การเมืองไทยถือเป็นห้วงเปลี่ยนผ่านอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย เพราะมีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566

ย้อนไปช่วงต้นปี 2566 ต่อเนื่องมาจากปลายปี 2565 ทุกฝ่ายจับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาล “3 ป.” ห้วงท้ายเทอมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ “2 ลุง” ระหว่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่มีอาการแปลกแปร่ง ขบเหลี่ยมกันทั้งในรัฐบาลและในพรรคพลังประชารัฐ

จนถูกมองว่า “2 ลุง” จ้องจะชิงอำนาจการนำในพรรคเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งนายกฯหลังการเลือกตั้ง และในที่สุดเมื่อใกล้เปิดสนามเลือกตั้งก็ถึงจุดแตกหัก “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” แยกกันเดินบนเส้นทางการเมือง ขุมกำลัง “3 ป.” แตกยับ

“บิ๊กตู่” แยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐ ไปเป็นหัวขบวนพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ยังคงปักหลักเป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ

...

แต่ก็ยังไม่สิ้นสงสัย มีคำถามตามมาอีกว่าเป็นการแยกกันเดินรวมกันตี หรือแยกขาดทางใครทางมันแล้วกันแน่

แม้คำตอบ ณ ช่วงเวลานั้นยังไม่ถูกเฉลยชัดเจน แต่ไม่ว่ายังไงการหักอำนาจ แยกกันอยู่คนละพรรคการเมืองของ “2 ลุง” มันทำให้ขุมพลังอำนาจของ “3 ป.” ลดทอนลงไปอย่างมาก

บรรดากลุ่มทุน นักการเมือง ข้าราชการ ไม่กล้าแทงหวยเต็งข้างไหน ต้องแทงกั๊กให้น้ำหนักทั้งซ้ายขวา เมื่ออำนาจไม่รวมศูนย์กระจายออกไปมันก็ลดทอนลงตามธรรมชาติ ประกอบกับการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่ในอำนาจมายาวนาน ผู้คนเริ่มชินชาเบื่อหน่าย อยากลองของใหม่

นั่นจึงสวนทางกับฟากฝั่งเสรีประชาธิปไตยที่กระแสแรงขึ้นมาเรื่อยๆ ช่วงปี่กลองเลือกตั้งดังใหม่ๆ พรรคเพื่อไทยที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นคอนดักเตอร์ คุมจังหวะอยู่ต่างประเทศ ได้รับการคาดหมายจากโพลทุกสำนักจะชนะเลือกตั้ง คะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่งตลอดการทำโพลสำรวจแทบทุกครั้ง

ในขณะที่ค่ายสีส้ม พรรคก้าวไกลก็แรงขึ้นมาเรื่อยๆเช่นกัน

กระแสแดง-ส้ม ร้อนแรงขึ้นทุกที ท่ามกลางการคาดหมายถึงเวลาฝ่ายประชาธิปไตยจะเข้ามาแทนอำนาจเผด็จการที่ประชาชนเริ่มเบื่อ

ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเกิดใหม่ พรรคขนาดเล็ก ขนาดกลาง เอสเอ็มอี หรือค่อนไปทางขนาดใหญ่ ล้วนอยู่ในภาวะกระแสฝืด ปั่นแต้มไม่ขึ้น

เพราะรูปแบบการหาเสียงยังติดยึดอยู่กับการขายของเก่า ไม่มีความแปลกแตกต่าง สดใหม่ ส่วนพรรคการเมืองที่มาแนวกลางๆ ชูธงสลายขัดแย้ง ไม่ซ้าย ไม่ขวา ปรากฏว่ากระแสไม่ปัง ชัดเจนว่าสังคมยังคงเลือกข้าง

สุดท้ายแม้แต่พรรคขนาดกลางค่อนใหญ่อย่างภูมิใจไทย ยังต้องปรับยุทธศาสตร์ไม่ประกาศท้าชิงที่ 1 เหมือนช่วงแรกๆ เจียมเนื้อเจียมตัวตั้งเป้าเอาแค่พรรคอันดับ 2-3 บนยุทธศาสตร์แนวทางหาเสียง ที่แบไต๋ชัดเจน พร้อมร่วมทุกขั้ว ทุกฝ่าย เปิดประตูไว้ทุกบาน ไม่ปิดทางตัวเอง

ทำให้โมเมนตัมยังคงไหลไปเทไปทางพรรคเพื่อไทย กระแสพีกขึ้นเรื่อยๆ จนมั่นใจถึงขั้นประกาศจะคว้าชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ได้ สส. 200 เสียง ก่อนขยับเป้าเป็น 250 เสียง และ 300 เสียงตามลำดับ

จนนายทักษิณตัดสินใจเดินแผนคู่ขนาน ประกาศเดินทางกลับบ้านประเทศไทยอย่างจริงจัง ผูกโยงความหวังเอาไว้กับชัยชนะของพรรคเพื่อไทย

จังหวะนี้เองส่งผลให้เกิดกระแสตีกลับ คนรุ่นใหม่ คนกลางๆ ที่ยังลังเลว่าจะเลือกใครโดยเฉพาะในฝ่ายเสรีประชาธิปไตย หันไปเทคะแนนให้พรรคก้าวไกล จนโมเมนตัมเอียงเปลี่ยนทิศวูบวาบ

ผู้คนไม่เอาด้วยกับยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยที่ผูกโยงการกลับบ้านของนายทักษิณ

ขณะเดียวกันยังมีรายการสาวไส้หักกันเองภายใน นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง เครือข่ายคนใกล้ชิดอยู่กับพรรคเพื่อไทยมานับ 10 ปี ออกมาเป็นหัวหอกขุดคุ้ยอดีตของนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย

แฉความฉาวเรื่องราวด้านมืด ดิสเครดิตเป็นรายวัน มวล ชนไม่น้อยฟังแล้วเชื่อคล้อยตาม ทำให้กระแสนิยมของพรรคเพื่อไทยทรุดลงไปอีก

กระแสแดงเริ่มแผ่วลงไปสวนทางกับกระแสส้มที่แรงขึ้นมา ด้วยยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของพรรคก้าวไกล ที่นำโดย “เดอะทิม” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นและแคนดิเดตนายกฯ กับวาทะที่ฮิตติดหู โดนใจวัยรุ่น คนกลางๆ “มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา” มาประโคมโหมกระแส

ย้ำหนักแน่นหากพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาลจะไม่มี “2 ลุง” รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร มาร่วมรัฐบาลด้วยอย่างแน่นอน

ตรงจัด ชัดเจน ทั้งการกระทำคำพูด ถูกใจผู้คน จนกระแสแรงขึ้นอีก

ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้มากนัก ยังออกลูกกั๊กไม่ชัดเจนว่าจะร่วมรัฐบาลกับ “2 ลุง” หรือไม่ ทำให้ผู้คนมองเรื่องนี้ว่ามีความเชื่อมโยงกับการกลับบ้านของนายทักษิณ

จนเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ปรากฏว่าโพลบางสำนักเริ่มชี้ออกมาว่าพรรคก้าวไกลกระแสนิยมแรงกว่า จนแซงพรรคเพื่อไทยไปแล้ว และโพลอีกหลายสำนักก็เผยผลสำรวจออกมาต่อเนื่องทำนองเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเชื่อสนิทใจ

จนสุดท้ายถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ผลออกมาปรากฏว่าพลิกล็อกจริงๆ พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ขณะที่พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับ 2

ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้ง ตลอดกว่า 2 ทศวรรษ สร้างความตกตะลึง ช็อกทั้งวงการ โดยเฉพาะเครือข่ายคนในพรรคเพื่อไทย

เมื่อดูภาพรวมแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกระแสมาแรงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ได้รับเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก พรรคก้าวไกลกวาดไป 151 สส. ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ไป 141 สส. เฉพาะแค่ 2 พรรคนี้ ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้แล้ว

จากนั้นทั้ง 2 พรรค ก็ประกาศเดินหน้าจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล บวกกับพรรคอื่นๆ รวมเป็น 8 พรรค 312 เสียง โดยมอบสิทธิให้พรรคก้าวไกลในฐานะผู้ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกฯตามธรรมเนียม

แต่ปรากฏว่าการเป็นนายกฯและแกนนำรัฐบาลของพรรคก้าวไกลไม่ง่ายอย่างที่คิด นายพิธาที่เป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลเพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถผ่านเกณฑ์เลือกนายกฯ ที่ต้องใช้เสียงทั้ง 2 สภา คือ สส. บวกกับ สว. รวมกัน 376 เสียงขึ้นไป

โดย สว. เป็นตัวแปรสำคัญ ตั้งแง่ไม่ยอมยกมือให้นายพิธา อ้างเหตุผลทัศนคติที่อันตรายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112

และแม้จะมีความพยายามโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯอีกครั้งของพรรคก้าวไกล แต่ถูกมติเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา “ปิดสวิตช์” ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธารอบ 2 ด้วยมติ 395 เสียง ต่อ 312 เสียง

เมื่อเป็นเช่นนั้น พรรคก้าวไกลจึงต้องเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกฯ 8 พรรคที่ประกาศร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงมอบสิทธิขาดให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำบริหารจัดการตั้งรัฐบาล

แต่ปรากฏว่าไม่ทันไร พรรคเพื่อไทยก็ปฏิบัติการหักอำนาจทันที แม้จะไม่เหนือความคาดหมายเท่าไหร่ แต่พรรคเพื่อไทยเดินเกมเร็วเกินคาด เผยไต๋แบบไม่กั๊ก

เดินเกมลึกร้าย ยืมมือพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้ง สว. มาบีบให้ตัวเองลอยแพ ทิ้งพรรคก้าวไกล

แล้วไปผสมพันธุ์ข้ามขั้ว จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองฝั่ง “3 ป.” อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย

เพื่อไทยจับมือกับ “2 ลุง” เป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว หลากสีตามที่มีการตั้งข้อระแวงสงสัย และพยายามถามจี้แกนนำพรรคเพื่อไทยเรื่อยมา แต่ก็ได้รับคำยืนยันปฏิเสธตลอด สุดท้ายก็เป็นจริง

จุดแตกหัก สะบั้นอำนาจฝ่ายเสรีประชาธิปไตยคือ “ดีลลับฮ่องกง” นายทักษิณบินมาปักหลักที่ฮ่องกง ท่ามกลางคีย์แมน แกนนำคนสำคัญของพรรคการเมืองต่างๆ บินไปหาเจรจาต่อรองเป็นรัฐบาลร่วมกันไม่ขาดสาย แม้แต่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ก็ยังเดินทางไปพบนายทักษิณด้วยเช่นกัน

ร่องรอยปริร้าวในฝั่งเสรีประชาธิปไตย เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนแย่งชิงประธานสภาฯที่ไม่ยอมลดราวาศอกกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล สุดท้ายต้องยกให้คนกลางอย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพรรคเพื่อไทยมากกว่า แต่พรรคก้าวไกลไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้

และนั่นก็คือเป้าหมายปลายทางของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการสะบัดมือทิ้งก้าวไกลไปตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว หักอำนาจพรรคอันดับ 1 จนต้องกระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน ท่ามกลางกระแสไม่พอใจของบรรดาแฟนคลับค่ายส้มอย่างรุนแรง

ขณะที่เกมหักอำนาจอีกด้านก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประสานตกลงเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย สลัดทิ้งพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ “3 ป.”

ทำลายฝันที่ต้องการเป็นนายกฯของ พล.อ.ประวิตร ที่หวังเดินเกมตามแผนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ด้วยการขอขึ้นเป็นนายกฯก่อน แล้วค่อยรวบรวมเสียง สส. ไล่ต้อนงูเห่าภายหลัง แต่ปรากฏว่าพรรครวมไทยสร้างชาติไม่เล่นด้วยกับหมากเกมนี้

“น้องหักอำนาจพี่” ขณะที่ “บิ๊กตู่” ตัดสินใจเลือกทางลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม ไม่ทู่ซี้ “เตี้ยอุ้มค่อม” ดิ้นรนบนเส้นทางการเมืองอีกต่อไป

พรรครวมไทยสร้างชาติประกาศเข้าร่วมรัฐบาลก่อน ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องหมดทางเลือก และขอตามมาเข้าร่วมรัฐบาลด้วย

เรื่องราวมาถูกเฉลยชัดเจนตอนที่ “นายกฯนิด” นายเศรษฐา ทวีสิน เดินทางเข้าไปคารวะและหารือเรื่องการทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ถึงในทำเนียบรัฐบาล จนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่กองเชียร์กลับลำไม่ทัน กองแช่งตกใจจนทำอะไรไม่ถูก

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์สามารถลงจากหลังเสือได้อย่างสวยงามเกินคาด วางมือไปแบบไม่บอบช้ำ

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็ราบรื่น มีการตั้งนายกฯในวันเดียวกับที่นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย

ถือเป็นการเข้าสู่อำนาจที่เบ็ดเสร็จของพรรคเพื่อไทย ขณะที่นายทักษิณก็บรรลุยุทธศาสตร์กลับบ้านอย่างที่ตั้งใจ แม้จะมีราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อย ต้องแหกด่าน หักอำนาจมากมาย

แต่นั่นก็เป็นการคิดคำนวณ ไตร่ตรองผลได้-เสียเอาไว้แล้วของนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด “ทีมการเมือง” จึงขอชี้ว่า ปี 2566 เป็นปี “หักอำนาจ”.

“ทีมการเมือง”

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...