บุคคลการเมืองแห่งปี 2566 "ทักษิณ ชินวัตร" ผู้กำหนดเกมการเมือง

ปฏิทินหน้าสุดท้าย นับถอยหลังปีเก่าเหลืออีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะเข้าสู่ศักราชใหม่

เป็นธรรมเนียมนิยมที่จะได้สรุปปรากฏการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสรรหาบุคคลผู้มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ แบบที่สื่อระดับโลกอย่างนิตยสารไทม์ได้ประกาศคัดเลือกบุคคลแห่งปีให้เป็นที่ฮือฮา ในฐานะผู้ทำให้เกิดแรงจูงใจในเชิงสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในมุมบวกและมุมลบ เป็นที่ประจักษ์ต่อมวลมนุษยชาติ

โดยไม่ได้เจาะจงต้องเป็นชาติมหาอำนาจหรือประเทศโลกที่สามที่จะได้รับเลือกเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหรืออาชญากรสงคราม

ใครที่มีบทบาทเด่นระดับโลก ก็ขึ้นปกบุคคลแห่งปีนิตยสารไทม์ได้หมด

ในส่วนของ “ทีมการเมืองไทยรัฐ” ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตลอด โดยการคัดเลือก “บุคคลการเมืองแห่งปี” มาต่อเนื่อง

ไม่ได้หยุดพักตามจังหวะสะดุดห้วงเผด็จการหรือประชาธิปไตย

เพราะตามนิยาม ผู้ได้รับเลือกเป็นบุคคลการเมืองแห่งปี โดยการลงมติของ “ทีมการเมืองไทยรัฐ” ไม่ได้หมายความว่า เขาหรือเธอผู้นั้นต้องเป็นนักการเมืองที่วิเศษวิโส เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม เปี่ยมไปด้วยจริยธรรมคุณงามความดี

หรือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ฝีมือบริหารยอดเยี่ยม เชี่ยวชาญการเมืองประดุจ “เซียนเหยียบเมฆ” ในสายตาผู้คนในสังคมเท่านั้น

แต่ “บุคคลการเมืองแห่งปี” ในนิยามของเรา หมายถึง บุคคลและไม่จำกัดที่จะรวมถึงคณะบุคคลที่มีบทบาท มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเกมอำนาจ สร้างสีสันฉูดฉาด มีพลังสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นให้เกิดกับการเมืองในประเทศไทยอย่างเด่นชัด

จะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรืออยู่นอกสภา ก็ได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องสารภาพกันตรงๆเลยว่า เป็นการตัดสินใจยากมากในการคัดสรรบุคคลการเมืองแห่งปี 2566 ของทีมการเมืองไทยรัฐ

...

เราต้องใช้เวลาถกเถียงกันเป็นเวลานาน กว่าจะเคาะโต๊ะได้

นั่นก็เพราะมีตัวเลือกหลายคนที่อยู่ในข่าย ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ปีของการเลือกตั้งใหญ่ หัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจ

แต่ละคนโดดเด่นตามโอกาสในเกมชิงธงผู้นำรัฐบาล

ไล่ตั้งแต่แชมป์ตัวยืนอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจกระโดดลงสนามเลือกตั้งเต็มตัว

ด้วยสถานะของเบอร์หนึ่งในบัญชีแคนดิเดตนายกฯของค่ายรวมไทยสร้างชาติ เพื่อโอกาสลุ้นแฮตทริก เบิ้ลเก้าอี้นายกฯรอบสาม

ตามจังหวะปะทะกับแรงต้านอำนาจทหารเฒ่า 3 ป. และก็ฝ่ากระแสคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ค่ายรวมไทยสร้างชาติแพ้เลือกตั้งแบบกระจุย

ทำให้น้องเล็กทีม 3 ป. ตัดสินใจแขวนนวม ประกาศอำลาสนามการเมืองอย่างเป็นทางการ “บิ๊กตู่” โดดเด่นแค่ในสถานการณ์ห้วงปลายอำนาจเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับ “หนุ่มทิม” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล

ที่กระแสพีกสวนทางขึ้นมาในฐานะผู้นำหนุ่ม ความหวังคนรุ่นใหม่

โชว์ฟอร์มนำทัพชนะเลือกตั้งพลิกล็อกถล่มทลาย กลายเป็น “ตัวเต็ง” นายกรัฐมนตรี ณ นาที ที่รู้ผลการนับคะแนนทั่วประเทศอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลกวาดเก้าอี้ สส.มากเป็นอันดับหนึ่ง

“พิธา” โดดเด่นสุดๆกับการนำแห่ “รัฐบาลแห่งความฝัน”  ถึงขั้นที่กองเชียร์พรรคก้าวไกล เหล่า “ด้อมส้ม” พากันเรียก “นายกฯพิธา” จนฮิตติดปาก

แต่นั่นก็แค่ 5-6 เดือนที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลนำทัพเลือกตั้งเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเพื่อไทย และพรรคเล็กฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงเกินครึ่งสภาฯ

แต่รวมแต้มแล้วเสียงไม่พอฝ่าด่านอรหันต์  “สว.ลากตั้ง”

“พิธา” ได้สิทธิโหวตในสภาแค่รอบเดียว หลังจากนั้นก็ต้องเจอวิบากกรรมปมถือหุ้นสื่อไอทีวี ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.

รออยู่ข้างสนาม ยังเป็นได้แค่ “นายกฯในฝันของด้อมส้ม”

ชื่อของ “พิธา” ลดความร้อนแรงไป ในจังหวะที่พรรคเพื่อไทยปฏิบัติการแหกขั้วฝ่ายประชาธิปไตยไปจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์ ขบวนหนุนอำนาจ 3 ป. ยอมโดนด่าตระบัดสัตย์ จัดตั้งรัฐบาลสูตรพิสดาร

และก็สามารถผลักดันชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 2 ของพรรคขึ้นแท่นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ได้เป็นผลสำเร็จ

ถึงแม้จะไม่สง่างาม ไม่ถูกใจฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ผิดกติกา

แน่นอน การขึ้นแท่นผู้นำประเทศไทย ในฐานะเบอร์หนึ่งฝ่ายบริหาร นายเศรษฐาน่าจะได้เป็นบุคคลการเมืองแห่งปี 2566 ตามสถานะนายกรัฐมนตรีที่โดดเด่นโดยอัตโนมัติ

แต่ทีมการเมืองของเรา ไม่ได้มองชั้นเดียว ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์เกมอำนาจการเมืองที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน โดยเฉพาะนิยาม ต้องเป็น “ผู้มีอิทธิพลในการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

ย้อนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก่อนที่นายเศรษฐาจะได้รับการลงมติจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเย็น

ช่วงเช้าวันเดียวกันมีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นาทีที่ล้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวแตะรันเวย์ท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมกับการปรากฏตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเหยียบแผ่นดินแม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี

ในฐานะนักโทษหลบหนีคดี เดินทางออกนอกประเทศ ไทยด้วยการอ้างไปดูกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐ ประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551

“ทักษิณ” กลับไทยจริง จากที่บอกจะกลับแล้วไม่กลับมา 18 ครั้ง

และเป็นจังหวะต่อเนื่องกับ “ดีลลับ” ตามภาพข่าวที่ “นายใหญ่” ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย บินไปปักหลักที่โรงแรมดังฝั่งเกาลูน ฮ่องกง ในห้วงขั้วการเมืองพลิกไปพลิกมา

สถานการณ์เพื่อไทยได้สิทธิเป็นแกนนำจัดรัฐบาลสายการบินทุกสายมุ่งสู่ฮ่องกง พรรคร่วมรัฐบาล ทีมอำนาจ 3 ป. แย่งกันตีตั๋ว ทั้งภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์

ไม่เว้นแม้แต่ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หัวขบวนใหญ่กองทัพก้าวไกล ก็ดอดไปร่วมวงเจรจาก่อนกดปุ่มไฟเขียวนายกฯ ตัวสูงๆ รัฐบาลข้ามขั้วสูตรพิสดาร

สะท้อนความเป็น “ศูนย์อำนาจ” ปฏิเสธไม่ได้ นายทักษิณคือผู้มีบทบาทสำคัญต่อการก่อกำเนิดรัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย หลังห่างหายไปกว่า 9 ปี ที่โดนขั้วอำนาจทหารเฒ่า 3 ป. โค่นกระดาน

“นายใหญ่” ชิงอำนาจรัฐกลับมาอยู่ในกำมือ

จากความพยายามอย่างไม่ลดละ ที่จะกลับบ้านอย่างเท่ๆ

ด้วยเหลี่ยมเก๋าโคตรเซียนการเมือง นักการตลาดตัวพ่อ ที่เกาะกระแส มีส่วนร่วมกับเกมอำนาจการเมืองตลอดเวลาแม้อยู่แดนไกล

อาศัยความเป็นอัศวินดิจิทัลยุคบุกเบิก เชี่ยวชาญการสื่อสาร ไม่เคยตกเทรนด์ใหม่ ตั้งแต่การโฟนอินพัฒนา การมาจนถึงการใช้แอปพลิเคชันตามเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม คลับเฮาส์ ฯลฯ

ชื่อของ “ทักษิณ” ไม่เคยหายไปจากกระดานการเมืองไทย

และก็เป็นผู้นำระดับสูงของไทยที่ลี้ภัยต่างประเทศแล้วได้เดินทางกลับบ้าน ไม่ได้ไปแล้วไปลับ อย่างที่โดนฝ่ายต่อต้านสาปส่ง

ที่สำคัญอดีตนายกฯทักษิณ ในฐานะผู้ต้องหาหลบหนีคดี ถูกนำตัวเข้าอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ทันข้ามคืน ก็ได้สิทธิผู้ป่วย นักโทษสูงอายุ นอนรักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

พร้อมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษ จากที่โดนตัดสินจำคุก 8 ปี จาก 2–3 คดี ลดเหลือจำคุกแค่ 1 ปี

“เพื่อจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชนสืบไป”

นัยความหมายพิเศษ ที่คนในวงอำนาจแปรสัญญาณได้ เอาเป็นว่า ตามเงื่อนไขสถานการณ์ไม่ได้ผิดจากความตั้งใจของ “ทักษิณ” ที่ประกาศตลอดว่า จะกลับบ้านอย่างเท่ๆไม่ต้องติดคุก เพราะไม่ได้ทำผิด เป็นคดีการเมือง โดนกลั่นแกล้ง

ตรงกันข้ามกับแรงต้านของขบวนการหมั่นไส้ ที่ทำได้แค่ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย นำม็อบกะปริดกะปรอย บุกกระตุกนักโทษวีไอพีกันเป็นพักๆ น้ำหนักไม่ได้กระเทือนถึงคนป่วยชั้น 14

สวนทางกับสัญญาณคลื่นความถี่สูงที่ส่งตรงถึงพรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรี สส.พรรคเพื่อไทย เป็นที่รับรู้กันคำตัดสินจากชั้น 14 ถือเป็นที่สุด มีผลผูกพันกับรัฐบาลเพื่อไทย

ด้วยฟอร์มอมตะในเกมอำนาจ ที่คนอื่นยากจะเลียนแบบได้ “ทีมการเมืองไทยรัฐ” จึงลงมติยกตำแหน่งบุคคลการเมืองแห่งปี 2566 ให้ “ทักษิณ ชินวัตร”

แบ็กอัปอำนาจ ตัวจริง เสียงจริง.

“ทีมการเมือง”

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...