ปลัด มท.เผยแนวทางเก็บภาษีที่ดิน ถ้าถมที่แต่ยังไม่สร้าง ไม่เป็นเหตุลดหย่อน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566 ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำ จ.ร้อยเอ็ด ได้มีหนังสือหารือมายังกระทรวงมหาดไทย 2 กรณี ได้แก่

1.กรณีที่ดินที่ได้มีการถมดินไว้เพื่อก่อสร้างที่พักอาศัย แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ.2522 จะสามารถนำมาใช้กับการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ได้หรือไม่ และที่ดินดังกล่าวจะถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อทำประโยชน์ตามกฎกระทรวง กำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ พ.ศ.2562 หรือไม่

2.กรณีการของดเรียกเก็บหรือขอลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินที่มีน้ำท่วมขัง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมได้เป็นระยะเวลานานหลายปี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับทราบการหารือใน 2 กรณีดังกล่าว พร้อมทั้งได้พิจารณาข้อหารือ และมีหนังสือแจ้งแนวทางไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เพื่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม โดยในกรณีแรกขอเรียนว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ถูกตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และไม่ได้มีผลทำให้ไปยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ.2522 เพราะระเบียบดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงภาษีหรือได้รับการยกเว้นภาษีตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถนำระเบียบดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาในการประเมินการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ได้ เพราะมีหลักการที่แตกต่างกัน เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายคนละฉบับ นอกจากนี้ กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น ที่ดินดังกล่าวได้มีการถมดินเพื่อจะก่อสร้างที่พักอาศัยแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างหรือทำประโยชน์อื่นใดตลอดปีที่ผ่านมา เพราะเจ้าของที่ดินไม่ได้ก่อสร้างบ้านตามที่ได้รับอนุญาตเนื่องจากสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้ชะลอการก่อสร้างไว้ และได้มีหนังสือขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแล้ว

ดังนั้นที่ดินดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ตามข้อ 3 (1) ของกฎกระทรวง กำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ พ.ศ.2562 เนื่องจากเจ้าของที่ดินได้มีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว และไม่ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 30 มกราคม 63 เนื่องจากเจ้าของที่ดินยังไม่ได้ก่อสร้างบ้านตามที่ได้รับอนุญาต

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ 2 กรณีการของดเรียกเก็บหรือขอลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินที่มีน้ำท่วมขัง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมได้เป็นระยะเวลานานหลายปีนั้น หากผู้บริหารท้องถิ่นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีเหตุอันควรลดหรือยกเว้นภาษีให้กับผู้ยื่นคำขอ ก็สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประกอบข้อ 27 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่ระบุว่าในกรณีที่มีเหตุอันทำให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหาย หรือถูกรื้อถอน หรือทำลาย หรือชำรุดเสียหายจนเป็นเหตุให้ต้องทำการซ่อมแซมในส่วนสำคัญ ให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิยื่นคำขอลดหรือยกเว้นภาษีที่จะต้องเสียต่อผู้บริหารท้องถิ่น

โดยหากปรากฏข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่ามีเหตุอันสมควรลดหรือยกเว้นภาษี ให้ผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งลดหรือยกเว้นภาษีได้ โดยคำนึงถึงสัดส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นและระยะเวลาที่ไม่ได้รับประโยชน์จากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด ซึ่งในหลายกรณีนั้นเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะได้นำข้อหารือต่าง ๆ มาพิจารณาและกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและครอบคลุมกับบริบทที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มุ่งบรรเทาความเดือดร้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน หากพี่น้องประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนใจ หรือทุกข์ใจ ต้องการขอคำปรึกษา หรือต้องการจะร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ สามารถเเจ้งข้อมูล ร้องเรียน หรือขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย โทร 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากมีข้อสงสัยด้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลผ่านทาง “สายด่วนภาษีที่ดิน” 0-2026-5800 จำนวน 10 คู่สาย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...