“เศรษฐา” โรดโชว์แลนด์บริดจ์ ประหยัดต้นทุน-เวลา คาดทำ GDP ไทยโตถึง 5.5% ต่อปี

“นายกฯ เศรษฐา” โรดโชว์แลนด์บริดจ์ ชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นร่วมลงทุน ชี้ ประหยัดต้นทุนและเวลามากกว่าช่องแคบมะละกา คาดทำจีดีพีไทยโตถึง 5.5% ต่อปี ด้าน “สุริยะ” กางแผนสัมปทานยาว 50 ปี คืนทุน 24 ปี 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ธันวาคม 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์และโอกาสทางธุรกิจ มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัท 40 คน ให้ความสนใจร่วมรับฟัง โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม ที่โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว

ทั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน “Thailand Landbridge Roadshow” ซึ่งรัฐบาลไทยริเริ่มโครงการจากศักยภาพที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค ในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งอีกแห่งของโลก โดยทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ามากที่สุดประมาณ 40% ของโลก รองลงมาคือยุโรป 38% การขนส่งระหว่างกันส่วนใหญ่ใช้เส้นทางช่องแคบมะละกา มีตู้สินค้าผ่านช่องทางนี้ 25% ของทั้งโลก มีน้ำมันผ่านช่องทางนี้ 60% ของโลก ถือว่าเป็นช่องทางที่คับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เพราะมีการขนถ่ายสินค้าประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี มีเรือผ่านช่องแคบประมาณ 90,000 ลำต่อปี 

และจากการคาดการณ์ในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสระหว่างรอถ่ายเรือ ไทยเห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ ด้วยเพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประหยัดและเร็วกว่า 

...

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไป เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกา พบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค 

แต่ในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน เช่นเดียวกับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ จะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน 

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา เผยต่อไปว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทยไปออกที่แลนด์บริดจ์ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วัน 

ดังนั้นเฉลี่ยแล้ว การขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าวผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่างๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

ในส่วนของน้ำมัน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากใช้แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ 

“ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน”

ทางด้าน นายสุริยะ กล่าวเสริมว่า โครงการดังกล่าวมี 2 เหตุผลสำคัญที่ถือเป็นข้อได้เปรียบ คือ 1. ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแลนด์บริจด์ ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค 2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง 

สำหรับแผนการดำเนินโครงการ มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ (International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม 

ขณะที่ไทยจะออกกฎหมายใหม่เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน โครงการดังกล่าวผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี โดยคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายคุ้นเคยในประเทศไทย โครงการนี้จะทำให้น่าลงทุนยิ่งขึ้น และการโรดโชว์ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลของภูมิภาค และอาจเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...