‘สี จิ้นผิง’ยืนยันจีนไม่เป็นเจ้าโลก เน้นสร้างการเติบโตร่วมทุกมิติ

การประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์  หรือการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. ที่มีขึ้นในช่วงที่เกิดความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์แทบจะทุกภูมิภาคของโลก ทำให้ชาติตะวันตกจับตาการประชุมของผู้นำกลุ่มบริกส์ว่าจะออกมาในรูปแบบใด

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ เมื่อวันอังคาร(22 ส.ค.)ที่ผ่านมา ว่า “ลัทธิเจ้าโลกหรือการใช้อำนาจครอบงำ ไม่ได้อยู่ในสายเลือดของจีน การก่อตั้งและการประชุมบริกส์ ไม่ใช่การโน้มน้าวให้ประชาคมโลกเลือกข้าง หรือ สร้างกลุ่มเพื่อการเผชิญหน้า แต่เพื่อขยายขอบเขตของสันติภาพและการพัฒนา 

ผู้นำจีนยังกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า บริกส์เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเติบโตในทุกมิติ ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับสมาชิก หรือการมุ่งมั่นสร้างความเท่าเทียม

จีน ซึ่งเป็นสมาชิกทรงอิทธิพลของบริกส์ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2552  กับอีก 4 ประเทศในกลุ่ม ประกอบด้วย รัสเซีย อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ พยายามผลักดันให้เกิดการเพิ่มจำนวนสมาชิกมาระยะหนึ่งแล้ว
 

ถึงแม้จะมีสมาชิกแค่ 5 ประเทศ แต่ประชากรในกลุ่มมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 40% ของประชากรโลก และบริกส์ ยังก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาของตัวเอง เพื่อให้เป็นทางเลือกจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ตะวันตกเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ด้วย

ในส่วนของผู้สังเกตุการณ์ มองว่า การที่ประธานาธิบดีสี เดินทางมาร่วมประชุมที่แอฟริกาใต้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการออกนอกประเทศเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลปักกิ่งในเรื่องนี้ และมีรายงานด้วยว่ามีประเทศต่างๆกว่า 40 ประเทศ แสดงความสนใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์

ด้าน"เจค ซัลลิแวน" ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐไม่ถือว่าบริกส์เป็นคู่แข่งทางภูมิศาสตร์การเมือง แต่รัฐบาลวอชิงตันมุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้  รวมทั้งพยายามบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนและต่อต้านการใช้มาตรการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

ทั้งนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะผลพวงจากสงครามยูเครน และความเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้นทุกทีระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นตัวเร่งให้ประเทศต่างๆเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มที่ประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา หรือชาติในซีกโลกใต้ขนาดใหญ่เหล่านี้ ซึ่งมีความปั่นป่วนอยู่เป็นระยะๆ จากความแตกแยกภายในประเทศ และการขาดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นตัวเชื่อมเพื่อยึดโยงประเทศเหล่านี้ให้เกาะกลุ่มกันไว้

ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีสีของจีน ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันอังคาร(22ส.ค.)ก่อนที่จะพบปะหารือกับบรรดา่ผู้นำคนอื่นๆ ของกลุ่มในช่วงต่อไปของวันเดียวกัน

ด้านประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย เข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้น3 วันนี้ด้วยตนเองเช่นกัน ต่างจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่เข้าร่วมแบบการประชุมเสมือน โดยส่งเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเป็นตัวแทน 

ที่น่าสนใจก็คือ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ตามคำเชิญของประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ในฐานะแขกพิเศษซึ่งการเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนทวีปแอฟริกาครั้งแรกของวิโดโด นับตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนต.ค. ปี 2557 โดยหลังจากเข้าร่วมประชุมกับสมาชิกกลุ่มบริกส์ วิโดโดมีกำหนดการเยือนเคนยา แทนซาเนีย และโมซัมบิก เพื่อยกระดับความร่วมมือทวิภาคีกับแต่ละประเทศ

แทนซาเนียและเคนยาเพิ่งเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงจาการ์ตา เมื่อปีที่แล้ว ส่วนโมซัมบิก เป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกา ที่ลงนามในข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิพิเศษทางการค้า ( พีทีเอ ) กับอินโดนีเซีย

ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีนั้น "อิบราฮิม ปาเทล" รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของแอฟริกาใต้ เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม พร้อมทั้งให้การต้อนรับตัวแทนประมาณ 1,200 คนจาก 5 ชาติสมาชิก รวมทั้งตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายสิบประเทศ โดยคาดว่าในการประชุมตลอด 3 วันนี้จะมีประมุขจากประเทศต่างๆกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม

ประเด็นสำคัญที่อยู่ในวาระการประชุมของชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์คือ การใช้สกุลเงินท้องถิ่นของชาติสมาชิกในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกัน แต่ผู้จัดการประชุมยืนยันว่าจะไม่มีการหารือเรื่องการก่อตั้งสกุลเงินบริกส์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่บราซิลนำเสนอเมื่อต้นปีนี้ เพื่อเป็นตัวเลือกแทนการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมาคือประเด็นร่วมมือกันมากขึ้นด้านการเกษตร เหมืองแร่ พลังงาน การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้า เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีความรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากบรรดาสถาบันระหว่างประเทศที่นำโดยตะวันตกอย่างสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...