กมธ.กฎหมาย จี้ อัยการสูงสุด-ผบ.ตร. เร่งรัดคดีตากใบ ก่อนคดีขาดอายุความ

กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีมติ ให้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด-ผบ.ตร. เร่งรัดติดตามคดี สลายการชุมนุมตากใบปี 47 ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ก่อนคดีขาดอายุความ

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ อาคารรัฐสภา นายกมลศักดิ์  ลีวาเมาะ ประธานคณะ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ โฆษกคณะ กมธ. และนายวีรวุธ รักเที่ยง กมธ. แถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ. เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 66) ที่มีการพิจารณากรณีการดำเนินการเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส ว่า ด้วยประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สำนักงานประจำจังหวัดยะลาได้ยื่นเรื่องร้องเรียน และติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบันคดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าและกำลังจะขาดอายุความ

ในการนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานอัยการภาค 9 ตำรวจภูธรภาค 9 สถานีตำรวจภูธรตากใบ และสถานีตำรวจภูธรหนองจิก เข้าชี้แจงประเด็นการเยียวยา การชดใช้ การช่วยเหลือบุคคลและครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และกรณีทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย โดยคดีนี้ได้มีการจ่ายเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้ว และมีการทำบันทึกว่าจะไม่มีการดำเนินคดีอาญาใด ๆ อีก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถทำให้คดีซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินยอมความกันได้

ส่วนกรณีของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้นยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ขณะเดียวกันประเด็นการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งกระทำหรือรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากระยะเวลาเกิดเหตุจนถึงปัจจุบันล่วงเลยมาเป็นระยะเวลานาน จึงไม่พบสำนวนการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อเหตุ เป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการทางคดีได้แต่อย่างใด ผู้แทนจากสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 จึงขอเวลาในการติดตามสำนวนการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องและจะแจ้งผลการดำเนินการหรือผลความคืบหน้าต่อคณะ กมธ. ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันประชุม อีกทั้งยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนเพื่อสอบหาสำนวนการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ดังกล่าว 

...

คณะ กมธ. จึงมีมติให้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้เร่งรัดดำเนินการติดตามผลหรือความคืบหน้าของคดี และหากมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาจเข้าข่ายความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมกรณีตากใบนี้ เป็นกรณีที่มีความร้ายแรง แม้รัฐจะดำเนินการเยียวยาบุคคลผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจเป็นเหตุให้คดีซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินระงับ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อตอบคำถามของสังคมก่อนที่คดีจะขาดอายุความ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...