สส.ก้าวไกล อัด รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อย แถมห่างจากเป้าที่หาเสียงไว้

“สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล” แนะ นายกฯ 3 ข้อ ชี้แค่แสดงออกความไม่พอใจคงไม่เพียงพอ ควรเร่งพูดคุยคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อปรับค่าแรงอีกครั้ง ซัด ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ห่างเป้าที่นายกฯ หาเสียงไว้ แถมไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวถึงมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราตั้งแต่วันละ 2-16 บาท คิดเป็นอัตราเฉลี่ยที่ 2.37% โดยบางจังหวัดปรับขึ้นเพียง 2 บาท หรือคิดเป็น 0.6% เท่านั้น ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 330-370 บาท ต่ำกว่าที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าไว้ที่ 400 บาท

นายสิทธิพล กล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย อย่างน้อย 3 มิติ มิติที่หนึ่ง ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะสำหรับแรงงานที่หาเลี้ยงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำ มีบทบาทสูงต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อย ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ย่อมส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ค่าแรงที่ปรับ ณ ขณะนี้ไม่สอดคล้องกับการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ โดยประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2565) อยู่ระหว่าง 28-54 บาท คิดเป็นอัตราเติบโตเพียงปีละ 0.93%-1.8% เท่านั้น


ค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ย่อมกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาค เพราะขาดหัวจักรสำคัญคือการจับจ่ายของภาคแรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ

มิติที่สอง ต่อมาตรฐานการดำรงชีพของแรงงาน อัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 0.6%-4.5% สวนทางกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นหรือสินค้าพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ อย่างอาหาร เช่น จากข้อมูลราคาไข่ หรือนมปีนี้ (ม.ค.-พ.ย. 2566) ปรับเพิ่มขึ้นถึง 7.54% หรือผักสดที่สูงขึ้น 8.25% สินค้ากลุ่มนี้คือค่าใช้จ่ายหลักของพี่น้องแรงงาน จะเห็นว่าสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มในระดับสูงมาก

...

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องไม่ใช่เพื่อให้แรงงาน 1 คนอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ควรอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี มั่นคงเพียงพอทั้งต่อตัวแรงงานเอง และครอบครัว

นอกจากนี้การสวนทางของค่าจ้างกับการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ หรือสินค้าจำเป็น คือสาเหตุสำคัญของหนี้นอกระบบ ที่สุดท้ายกระทบความมั่นคงของแรงงานในระยะยาว และรัฐต้องไปแก้ไขอยู่ดี

มิติที่สาม การขึ้นค่าแรงที่น้อยในรอบนี้ยิ่งทำให้ห่างจากเป้าหมายของรัฐ หรือที่ท่านนายกรัฐมนตรีหาเสียงไว้ คือ ค่าแรงทั่วประเทศ 600 บาท ในปี 2570 

ในอนาคต หากนายกฯ ยังยืนยันนโยบายขึ้นค่าแรงตามที่หาเสียง ย่อมต้องขึ้นค่าแรงแบบกระชากมากขึ้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น

นายสิทธิพล กล่าวต่อว่า ในกรณีนี้มีข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ ข้อเสนอที่หนึ่ง ในฐานะนายกรัฐมนตรี การส่งสัญญาณว่าไม่พอใจต่ออัตราค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นคงไม่เพียงพอ ท่านนายกฯ ควรเร่งรัดพูดคุยกับคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง เพื่อให้สามารถปรับค่าแรงได้จริง 

ทั้งนี้หากอ้างอิงตามที่ รมว.แรงงาน ชี้แจง ที่ระบุว่า ในการพิจารณาปรับขึ้นของมติไตรภาคีนั้นต้องปฏิบัติตาม ILO (International Labour Organization) อยากเรียนท่านนายกฯ และ รมว.แรงงาน ว่าแนวคิดการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยในขณะนี้ยังตามแนวคิดสากลไม่ทันด้วยซ้ำ ปัจจุบันไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 131 ที่ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ระบุให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องพิจารณาทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความต้องการของแรงงาน และครอบครัวควบคู่ ดังนั้นจึงอยากให้ท่านนายกฯ เน้นย้ำให้ไตรภาคีทบทวนอีกครั้งถึงประเด็นทางเศรษฐกิจอื่นด้วย

ข้อเสนอที่สอง ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อภาคธุรกิจ รัฐสามารถเตรียมนโยบายรองรับผลกระทบต่อ SMEs และภาคเอกชน เช่น การพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล การพิจารณาประเด็นสมทบค่าประกันสังคมให้กับผู้ประกอบการ การช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนค่าแรงที่เพิ่มมาหักค่าใช้จ่ายในการชำระภาษีได้ ดังนั้นประเด็นสำคัญอีกด้าน คือรัฐต้องออกนโยบายเยียวยาผลกระทบ เพื่อคลายความกังวลให้เอกชนไปพร้อมกัน

ข้อเสนอที่สาม การเพิ่มผลิตภาพ และทักษะให้แรงงานในระยะยาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบของค่าแรงที่สูงขึ้น รัฐต้องมีนโยบายพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ปัจจุบันแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังมีทักษะต่ำ สัดส่วนสูงถึง 62% ของแรงงานทั้งหมด (จากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรปี 2558-2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และการคำนวณของ ธปท.) 

ขณะเดียวกันรัฐควรมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจให้ปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยี ลงทุนเครื่องจักรมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปพร้อมๆ กันผ่านมาตรการจูงใจ เช่น มาตรการหักรายจ่ายเพื่อลงทุนในเครื่องจักรได้เพิ่มขึ้น มีวงเงินสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา เป็นต้น

“พรรคก้าวไกล ขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจัง และให้ความสำคัญกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อดูแลสวัสดิภาพของพี่น้องแรงงานไทย” นายสิทธิพล ระบุ.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...