คกก.ประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เล็งสรุปแผนทั้งหมดในสิ้นปี 66 ก่อนเสนอ ครม.-กกต. 

“ชนินทร์” เผย คกก.ประชามติฯ เล็งสรุปแผนทั้งหมดก่อนสิ้นปี 66 เตรียมเสนอ ครม.-กกต. ย้ำ เพื่อไทยมุ่งมั่นตั้งใจยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริง  

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจาณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เปิดเผยความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการฯ เพื่อนำไปสู่การทำประชามติสอบถามความเห็นพี่น้องประชาชนและการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นที่จะให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริงนั้นจะได้ข้อสรุปภายในปลายปี 2566 นี้ และจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเดินหน้ากระบวนการไปสู่การทำประชามติต่อไป ซึ่งตลอดมารัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

ประเด็นแรก เรื่องของที่มา หรือเชิงสัญลักษณ์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยผู้ที่อยู่ในเครือข่ายของคณะรัฐประหาร และบังคับใช้ผ่านการทำประชามติที่ไม่ได้เปิดให้รณรงค์อย่างกว้างขวาง จึงถูกมองว่าไม่ยึดโยงกับประชาชน

ประเด็นที่สอง เรื่องของเนื้อหา ที่มีข้อกังขาในบางหัวข้อที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีองค์กรต่างๆ ที่มาแทรกแซงการใช้อำนาจโดยตรงของประชาชน

“ทั้ง 2 ประเด็น คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อให้มีการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทย เห็นความจำเป็นที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยึดโยงกับประชาชน และได้ผลักดันเข้าสู่วาระการทำงานอย่างเร่งด่วนตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล โดย ครม.ได้มีมติในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจาณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคม เพราะในการทำงานระดับรัฐบาลไม่สามารถทำงานโดยขาดความรอบคอบได้ จำเป็นต้องรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายให้มากที่สุด จากประชาชนผู้สิทธิออกเสียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและแนวร่วมให้ได้กว้างขวางที่สุด และสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น”

...

นายชนินทร์ ระบุต่อไปว่า การทำงานของคณะกรรมการฯ ได้มีการเสนอกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยจะสรุปแผนการดำเนินงานทั้งหมดให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2566 และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป ซึ่งการจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกติกากลางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ จำเป็นจะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วน และในการทำประชามติจะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพูดคุย ทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพื่อตกผลึกร่วมกันกับภาคประชาชนให้มากที่สุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เล็งเห็นความเสี่ยงที่ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในครั้งแรก จะทำให้ต้องเสียงบประมาณและเสียเวลาในการยกร่างใหม่ขึ้นอีกครั้ง และจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายประชาสังคม จึงจำเป็นจะต้องแสวงหาความร่วมมือ การพูดคุยทำความเข้าใจแต่ละฝ่าย เพื่อให้เห็นพ้องกันให้มากที่สุด และร่วมกันสนับสนุนผลักดันตั้งแต่การเสนอร่างรัฐธรรมนูญในครั้งแรก

สำหรับทางเลือกที่มีการเสนอให้แก้ไขรายมาตราไปเรื่อยๆ นายชนินทร์ มองว่า ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่รวดเร็ว แต่ก็มีข้อกังวลใจจากประชาชนหลายฝ่ายในมุมต่างๆ ทั้งเรื่องระยะเวลา การบังคับใช้ และการที่ยังมีข้อด่างพร้อยในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่มาก อีกทั้งเรายังต้องการให้พี่น้องประชาชนมีฉันทามติร่วมกัน และต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนมากที่สุดในทุกขั้นตอน ดังนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง

“การทำงานของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมาทุกกระบวนการ ถือว่าได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้กระบวนการเคลื่อนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การแก้ไข มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างแน่นอน”.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...