"ชัยชนะ" ซัด "เด็จพี่" ป้อง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ย้ำ ชาวบ้านต้องการเงินสด

"ชัยชนะ" ซัด "เด็จพี่" ป้อง "ดิจิทัลวอลเล็ต" แบบ "หมาหางด้วน" ยก 2 โครงการกู้เงินแก้วิกฤติเศรษฐกิจสมัย ปชป. มาอธิบาย ชี้ ข้าราชการประจำ ลำบากใจ หากจะต้องดำเนินนโยบาย ย้ำ ชาวบ้านต้องการเงินสดไม่ใช่เงินในอากาศ

วันที่ 22 พ.ย. 2566 นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) ออกมาระบุว่า อยากจะให้ตนชี้แจงว่า สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้กู้เงินแล้วมาได้ใช้คืนหรือไม่ เพื่อตอบโต้ที่ตนออกมาแสดงความห่วงใย ว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อาจจะเป็นการสร้างหนี้ในอนาคตว่า ในเมื่อนายพร้อมพงศ์ ต้องการปกป้องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยใช้วิธีแบบหมาหางด้วน คือ ถามว่าสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาลนั้น ได้มีโครงการกู้เงินแล้วใช้คืนหรือไม่นั้น ก็ต้องบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีโครงการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และกู้มาเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่กู้มาแจกเพื่อรักษาแบรนด์ของพรรคเพื่อดึงและตรึงคะแนนเสียง โดยตนยกตัวอย่าง 2 โครงการกู้เงินใหญ่ๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์กู้มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ คือ โครงการมิยาซาวา โดยเป็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' โดยได้เงินกู้มาจาก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ 3 แห่ง รวมเป็นเงิน 53,000 ล้านบาท หลังจากที่รัฐบาลในยุคของ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ไปเจรจากับ IMF เพื่อขอผ่อนปรนเงื่อนไขที่ให้รัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณแบบเกินดุล ขณะที่เศรษฐกิจกำลังหดตัวอย่างรุนแรง พร้อมกันนี้ นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคนั้น ก็ได้บริหารนโยบายคลังแบบผ่อนคลาย ประกอบกับการเบิกจ่ายงบมิยาซาวา ถือว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ครั้งนั้น จุดติดและมีผลนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เศรษฐกิจไทยจากที่เคยติดลบ 10.1% ในปี 2541 กลับมาขยายตัวเป็นบวก 4.2% ในปี 2542 และยังขยายตัวต่อเนื่องไปถึงปี 2543 จนทำให้ รัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศต่อมา ฉวยโอกาสตีกินว่าเป็นผลงานของตัวเอง และโฆษณาหาเสียงให้ประชาชนเข้าใจผิดอยู่ตลอดมา

...

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกหนึ่งโครงการกู้เงินที่มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่า 'วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์' เมื่อช่วงปี 2551-2553 ที่เรียกว่า โครงการไทยเข้มแข็ง นั้น ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2552 วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ได้กำหนดกรอบวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินเอาไว้ชัดเจน และได้ส่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปรากฏว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ตราขึ้นเพื่อประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 184 วรรค 1 และเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ตามมาตรา 184 วรรค 2 ซึ่งหลังจากที่ พ.ร.ก. ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ได้มีการดำเนินโครงการตามวงเงินใน พ.ร.ก. มากมาย เช่น โครงการจ่ายเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 23,000 ล้านบาท โครงการถนนไร้ฝุ่นของกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 14,657 ล้านบาท โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐาน 7,152 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า โครงการบางส่วนจะมีข่าวคราวเรื่องการทุจริต แต่ก็เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม จนสามารถยืนยันได้ว่า โครงการตามงบไทยเข้มแข็งนั้น ทำให้ในปี 2553 เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 7.8% ต่อปี เทียบกับปี 2552 ที่ติดลบ 2.3% รวมทั้ง ถือเป็นการใช้งบอย่างคุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นผลงานการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนไทยทุกคนรอดพ้นมาได้

"ที่ผมอธิบายมายืดยาวนี้ ก็เพื่อต้องการให้นายพร้อมพงศ์ เข้าใจว่า การที่รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำนั้น จะกู้เงินมาเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนประสบกับภาวะยากลำบาก และเมื่อดูจำนวนวงเงินแล้ว ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลที่จะนำมาใช้ดำเนินการ รวมทั้ง ใน พ.ร.ก. เมื่อปี 2552 ก็ระบุว่า เงินที่ได้จากการกู้ ให้นําไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ในการกู้โดยไม่ต้องนําส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และยังมีมาตรการต่างๆ ที่ทำให้โครงการที่มาจากเงินกู้มีความโปร่งใส และมีผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด เพราะฉะนั้น จึงตอบได้ว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์กู้เงินมานั้น ได้คืนกลับไปเป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชน โดยที่นักการเมืองและข้าราชการผู้ปฏิบัติตามโครงการเงินกู้ทั้ง 2 โครงการ ต่างมีความสบายใจในการดำเนินนโยบาย ซึ่งต่างจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ทางพรรคเพื่อไทย โหมโฆษณาว่า จะไม่กู้มาดำเนินโครงการแม้แต่บาทเดียว แต่สุดท้าย จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมาก โดยแปะตัวเลข 100,000 ล้านบาทไว้เป็นเงินลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อทำให้อ้างได้ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการเพื่อประโยชน์ของประเทศ โดยมุ่งหวังเพื่อโยนบาปหรือโยนทัวร์ให้ไปลงที่คนที่ไม่เห็นด้วยว่า เป็นคนขวางไม่ให้โครงการเกิดขึ้น รวมทั้ง ผมก็ยังย้ำว่า ข้าราชการประจำในกระทรวงการคลัง ต่างก็มีความไม่สบายใจถ้าจะดำเนินโครงการ ยิ่งวิธีการใช้เงินจริงมาผูกกับเงินในอากาศแล้ว ถือเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวว่าจะประเทศจะเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น นายพร้อมพงศ์ ไม่ควรที่จะหลับหูหลับตาเชียร์อย่างเดียว แต่ควรฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ที่แสดงความคิดเห็นเข้ามา เพราะผมเชื่อว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย มีหัวใจคือประชาชนอย่างที่ผ่านๆ มา นั้น ก็ควรจะรู้ด้วยว่า ประชาชนต้องการเงินสดมากกว่าเงินในอากาศที่ต้องมีขั้นตอนสลับซ้อนวุ่นวายกว่าจะได้เงิน และมีช่องทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตตั้งแต่ต้นจนจบโครงการด้วย" นายชัยชนะ กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...