‘ตัวเรือด’ ลามถึงเอเชีย ส่องวิธีการป้องกันแต่ละประเทศ

ตัวเรือด” (Bed Bug) แมลงตัวเล็กที่ดูดเลือดคนเป็นอาหาร มักอาศัยอยู่ตามเตียงนอน กลายเป็นภัยคุกคามที่ยากต่อการรับมือไปทั่วโลก หายนะทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการระบาดในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ก่อนจะลุกลามไปทั่วทั้งยุโรป และสหรัฐ และขณะนี้ตัวเรือดก็ระบาดมาถึงหลายประเทศ และดินแดนในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และต้องการให้รัฐบาลกำจัดพวกมันอย่างเร่งด่วน

 

  • “เกาหลีใต้” ยกระดับการกวาดล้าง

นับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา “เกาหลีใต้” พบผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้จากการโดนตัวเรือดกัดแล้วอย่างน้อย 13 คน และยังมีอีกหลายสิบรายที่กำลังอยู่ในระหว่างการคัดกรอง ซึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลเริ่มดำเนินการกวาดล้างตัวเรือดครั้งใหญ่ ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อทำการจัดการตัวเรือด พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว เร่งส่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าทำฆ่าแมลงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงอาบน้ำ ระบบขนส่งสาธารณะ หอพัก ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ 

“ความวิตกกังวลของสาธารณชนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง” พัค กูยอน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการรณรงค์กล่าว

ขณะที่ชาวเกาหลีใต้สร้างเว็บไซต์เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดทั่วประเทศ และการจัดการตัวเรือดของภาครัฐ และทางหาป้องกันด้วยตนเอง สำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้ รายงานว่า ยอดขายยาฆ่าแมลงในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 800% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าราคาหุ้นของบริษัทกำจัดแมลงในเกาหลีใต้หลายแห่งเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% หลังจากรายงานข่าวเกี่ยวกับตัวเรือด

  • “ฮ่องกง” พยายามกำจัดตัวเรือดจากต่างประเทศ

ฮ่องกงขึ้นที่ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นมากที่สุดของโลก เริ่มกังวลกับปัญหาของตัวเรือดด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่สนามบินแจกใบปลิวข้อมูลการระบาดของตัวเรือดให้กับนักท่องเที่ยวทันทีที่เดินทางมาถึงสนามบิน โดยกรมอนามัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมระบุว่า หน่วยงานกำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดโอกาสแพร่พันธุ์ตัวเรือดจากต่างประเทศสู่ท้องถิ่น

ด้านการรถไฟฮ่องกงเร่งทำความสะอาดรถไฟสายด่วนเชื่อมท่าอากาศยาน หลังมีภาพตัวเรือดบนรถไฟปรากฏบนโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นไวรัล 

นอกจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติเรียกร้องให้รัฐบาลออกแนวปฏิบัติในการทำความสะอาดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดตัวเรือดสูง ในส่วนของประชาชนก็เริ่มหาทางป้องกันตัวเรือดบุกบ้าน โดยสั่งซื้อยาฆ่าแมลงผ่านอีคอมเมิร์ซในช่วงแคมเปญ 11.11 จนทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ป้องกันตัวเรือดเพิ่มขึ้น 172 เท่า

อย่างไรก็ตาม จิ่ว ซิ่ว-ไว ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาออกโรงเตือนว่า ตัวเรือดกลายเป็นแมลงดูดเลือดที่มีมากที่สุดในฮ่องกงเป็นอันดับ 2 รองจากยุง เนื่องจากตัวเรือดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่กึ่งร้อนชื้นอย่างฮ่องกง ซึ่งมีทั้งมุมมืดและความอบอุ่น

ความตื่นตัวของประชาชนสร้างผลดีให้แก่บริษัทกำจัดแมลง ฟรานซิสโก ปาโซส ผู้อำนวยการ NoBedBugs HK ธุรกิจกำจัดตัวเรือด กล่าวว่า ในเดือนพ.ย. เขามีงานเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า มีงานเข้ามากว่า 400 งานแล้ว 

  • ประชาชนวิตกกังวลกับตัวเรือด

ประชาชนใน “ไต้หวัน” ตื่นตัวไม่แพ้กันหลังจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมออกประกาศเตือนให้สำรวจหาตัวเรือดที่อาจแฝงอยู่ตามเฟอร์นิเจอร์ และกระเป๋าเดินทางหลังจากกลับมาจากต่างประเทศ

หลิน เจียน-เหลียง โฆษกของ Johnson Group บริษัทกำจัดสัตว์รบกวนในเมืองนิวไทเป กล่าวว่าธุรกิจมีลูกค้าเพิ่มขึ้นสองเท่านับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการไต้หวันยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางตั้งแต่เดือนต.ค.2565 

แต่ลูกค้าบางคนก็เกิดความวิตกกังวล ขอให้บริษัทเข้ากำจัดตัวเรือดซ้ำ แม้ว่าจะพึ่งจ้างพวกเขาไปทำงานก็ตาม

“ถึงเราจะรับรองว่าทุกอย่างผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว แต่บางคนก็ยังรู้สึกหวาดกลัว” หลินกล่าว

ส่วน “สิงคโปร์” และ “ญี่ปุ่น” เริ่มมีการรายงานข่าวการพบตัวเรือดในประเทศมากขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และหันมาทำความสะอาดบ้าน โดยเดเรียน ลี เจ้าของบริษัทกำจัดแมลงในสิงคโปร์ระบุว่า มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 10-15% นับตั้งแต่มีข่าวตัวเรือดถล่มฝรั่งเศส พร้อมระบุว่า 

"ที่จริงตัวเรือดแฝงตัวอยู่รอบตัวมาโดยตลอด แต่คนพึ่งมาสนใจกับพวกมันตอนที่เป็นข่าวแล้ว"

 

  • ตัวเรือดฆ่ายากขึ้น

คนทั่วโลกเพิ่งกลับมาเดินทางเป็นปกติหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่กระจายของตัวเรือดจนลุกลามไปทั่วโลกนั้นเกิดขึ้นจากการเดินทางข้ามโลกของมนุษย์ เนื่องจากแมลงชนิดนี้มีขนาดเล็ก สามารถซ่อนตัวอยู่ได้ในทุกซอกทุกมุม ทั้งเสื้อผ้าและกระเป๋าเดินทาง เมื่อมนุษย์เดินทางไปในพื้นที่ที่มีตัวเรือดชุกชุม จึงทำให้พวกมันสามารถกระโดดเกาะ ติดตามพวกเขาไปยังที่ต่างๆ 

ลี ชาว-หยาง ศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาในเมือง จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ กล่าวกับ New York Times ว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่จะมีการระบาดของตัวเรือดเพิ่มขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก เช่นเดียวกับที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรป

“ลองคิดดูว่ามีใครไปเช็กอินโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่มีตัวเรือด แล้วตัวเรือดก็เข้าไปในกระเป๋าเดินทาง พอคนนั้นเดินทางไปสิงคโปร์ต่อ ตัวเรือดที่ตามมาด้วยก็จะแพร่ระบาดในสถานที่ใหม่”

ศ.ลี ยังกล่าวว่า ตัวเรือดเริ่มกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง ตั้งแต่เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้วในยุโรป และค่อยๆ แพร่กระจายไปยังสหรัฐ และเอเชีย ที่น่ากังวลคือ ตัวเรือดพัฒนาสายพันธุ์ตนเองเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการปรับตัว

ตัวเรือดที่พบได้ทั่วไปมีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ สายพันธุ์หนึ่งพบได้ในเขตอบอุ่น ในขณะที่อีกชนิดอาศัยในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในอาคารมีความสม่ำเสมอมากขึ้นจากระบบปรับอากาศ ทำให้ตัวเรือดทั้งสองสายพันธุ์สามารถเติบโตได้ในสถานที่เดียวกัน

แนวโน้มอีกประการหนึ่งคือ ตัวเรือดทนทานต่อยาฆ่าแมลงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ จึงจำเป็นต้องการใช้ความร้อนจัดในการกำจัดตัวเรือดที่ทนทานยาฆ่าแมลง แต่เนื่องจากการใช้ความร้อนมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการใช้ยาฆ่าแมลงมากถึง 10 เท่า ทำให้บริษัทกำจัดแมลงส่วนใหญ่ยังใช้ยาฆ่าแมลงต่อไป จนกว่าจะมีวิธีใหม่ที่กำจัดตัวเรือดได้ดีกว่าเดิมในราคาไม่สูงเกินไป


ที่มา:  BBC, New York Times, Times, Vox

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

อสังหาริมทรัพย์ยืนหนึ่ง'Safe Haven'ของนักลงทุน

สุรเชษฐ์ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ดีเอ็นเอ (Property DNA) ให้ความเห็นว่า คนรุ่นใหม่ คนวั...

เปิด 5 เศรษฐีหุ้นอสังหาฯ ดังของเมืองไทย

แม้ว่า กระทรวงการคลังจะปลุกเร้ากระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่านโครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home ...

กรมวิชาการเกษตร หนุนใช้ พีจีพีอาร์-ทู, แหนแดง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเห็นถึงความสำคัญในการดำเนิน...

สถิติ 9 เดือน 'ยานยนต์ไฟฟ้า' ป้ายแดง จับตาโค้งสุดท้ายปีนี้ ส่อชะลอตัว

ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ โดยที่ผ่านมาได้มีกา...