“วันนอร์” ไม่รับญัตติ “โรม” ทบทวนเสนอชื่อซ้ำ สั่ง “ธีรัจชัย” ถอนกล่าวหาแรง (คลิป)

“วันนอร์” ไม่รับญัตติ “โรม” ทบทวนมติเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำ ประท้วงวุ่น ฉุน “ธีรัจชัย” สั่งถอนคำพูดกล่าวหาแรง ทำตัวไม่เป็นกลาง รู้เห็นเป็นใจ 

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยวันนี้มีเรื่องด่วนที่สำคัญ คือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีการเปิดประชุมตั้งแต่ 10.00 น. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การอภิปรายแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันนี้ 

โดยเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ประธานรัฐสภา แจ้งว่า ไม่รับญัตติที่เสนอด้วยวาจาของ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีเสนอญัตติด้วยวาจา กรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำ หลังรัฐสภามีมติว่าไม่ให้มีการโหวตซ้ำชื่อเดิม ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุห้ามเสนอชื่อซ้ำ โดยแม้จะลงมติไปแล้ว ไม่มีตรงไหนของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า บุคคลนั้นไม่นับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป หมายความว่าสถานะการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ยังคงอยู่ ขอให้กลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูกที่ควร 

“พวกท่านอาจจะไม่อยากให้ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่าถึงขนาดเผาบ้านเพื่อไล่หนูตัวเดียวเลยครับ เราจะทำลายหลักการของรัฐสภา สร้างบรรทัดฐานกันแบบนี้จริงๆ หรือครับ”

...

ต่อมาประธานรัฐสภาปิดไมค์ของ นายรังสิมันต์ โดยระบุว่า อนุญาตด้วยความเห็นใจและอยากให้ชี้แจง ได้พูดไป 20 กว่านาทีแล้ว จึงขอให้ยุติการอภิปราย ซึ่งเจ้าตัวแย้งขึ้นว่าใช้เวลาไปเพียง 13 นาที นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อไปว่า อภิปรายพอสมควรได้ประเด็นแล้ว ต่อมา นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ขอประท้วงประธาน ตามข้อบังคับข้อที่ 5 ประธานต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับพยายามที่จะขัดขวางการอภิปรายที่จะให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เหมือนมีธงอยู่แล้วว่าจะไม่ให้ อยากให้เปิดโอกาสให้อภิปรายเต็มที่

นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า ไม่ได้มีการขัดขวาง เพราะตกลงกันแล้วว่าอยากให้มาชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภา และเห็นว่าได้เนื้อหาสาระแล้ว โดย นายรังสิมันต์ ยืนยันว่าใช้เวลาไปเพียง 13 นาทีเศษ ขอให้แก้ไขเวลาให้ถูกต้อง ประธานรัฐสภากล่าวขอโทษในเรื่องดังกล่าว 

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ลุกขึ้นประท้วงประธานในที่ประชุมตามข้อบังคับการประชุม ปล่อยผ่านแบบนี้ไม่ได้ ประธานพยายามอ้างว่าฝ่ายกฎหมายสรุปมา มีการหารือพูดคุยในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ซึ่งต้องยืนยันผ่านสาธารณชนว่า ในวิป 3 ฝ่ายไม่ได้มีมติเห็นด้วยกับสิ่งที่ฝ่ายกฎหมายทำมา และอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้วว่าการเสนอบทบัญญัติดังกล่าวไม่อาจทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าการเสนอทำได้หรือไม่ เพราะไม่ได้รับเรื่องแต่ต้น จึงต้องไปทบทวน แต่ขอให้ยืนยันในที่ประชุมว่าไม่ได้มีมติ เป็นเพียงความเห็นเพื่อรับทราบ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะปิดไมค์

ต่อมา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงประธาน ว่าการประชุมตอนนี้เยิ่นเย้อ และยังมีเรื่องสำคัญรออยู่ ขอให้ดำเนินการประชุมต่อเพื่อเข้าสู่วาระสำคัญต่อไป ทางด้านประธานรัฐสภา ยืนยันว่า ปฏิบัติตามหน้าที่และให้ความเป็นกลางแล้ว เวลานี้ควรเดินหน้าการประชุมต่อ และการตีความหมายเด็ดขาดเป็นไปตามข้อบังคับ โดยขอประชุมต่อ 

ทางด้าน นายธีรัจชัย ประท้วงอีกครั้งว่า ประธานต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ วันมูหะมัดนอร์ จึงกล่าวว่าเป็นการประท้วงซ้ำ ควรยุติ นายธีรัจชัย จึงแจงว่าเหตุผลไม่เหมือนกัน นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุต่อ อธิบายแล้วว่าไม่ได้ขัดขวาง ย้ำว่าวางตัวเป็นกลาง ให้โอกาสทุกคน แต่เมื่อมีผู้ประท้วงว่าการประชุมควรเดินหน้า พร้อมขอให้ นายธีรัจชัย ถอนว่าตนไปรู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก เพราะเป็นการกล่าวหาอย่างแรง ตนไม่รู้ด้วยกับเสียงข้างมาก ตอนจะลงมติก็ไม่มีใครประท้วงคัดค้าน ถ้าหากไม่ถอนไม่ให้พูดต่อ เพราะตนเสียหาย ก่อนจะสั่งให้นั่งลงหลายครั้งด้วยน้ำเสียงดุ ก่อนจะบอกว่าคำสั่งประธานถือว่าเด็ดขาด 

นายธีรัจชัย ยืนยันไม่ได้กล่าวหา ย้ำว่าประธานไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และการที่ นายรังสิมันต์ เสนอขึ้นมาก็เพื่อให้สภาทบทวน ไม่ใช่มาตัดแบบนี้ จึงบอกว่าไม่เป็นกลาง โดย นายอรรถกร ประท้วงอีกครั้งว่า ขอให้เดินหน้าการประชุมต่อ โดย นายวันมูหะมัดนอร์ ขอใช้อำนาจประธานรัฐสภา รัฐธรรมนูญมาตรา 80 ประกอบข้อบังคับการประชุมเพื่อเข้าสู่ระเบียบวาระเรื่องด่วนคือการโหวตนายกรัฐมนตรี ในเวลา 10.54 น. 

อย่างไรก็ตาม นายรังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยความเคารพประธาน ไม่นึกว่าจะได้มาทำหน้าที่ร่วมกัน ไม่นึกว่าจะมีบรรทัดฐานสภาแบบนี้ แต่ก็ไม่อยากเป็นเงื่อนไขทางการเมืองเพื่อให้การโหวตนายกรัฐมนตรีไปต่อไม่ได้ พร้อมที่จะทำหน้าที่เดินหน้าสู่วาระต่อไป.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...