จ่อนำคำถามทำประชามติให้สภาดูกลางเดือน ธ.ค.-นักศึกษา แนะ แก้ รธน.ต้องทำได้ทุกมาตรา

ตัวแทนนักศึกษา ชี้แก้รัฐธรรมนูญต้องทำได้ทุกมาตรา ด้าน “นิกร” เตรียมนำคำถามให้รัฐสภาดูกลาง ธ.ค. เตรียมแก้กฎหมายปลดล็อกคนต้องใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง ระบุ เรื่องถามประชามติ อาจกินเวลา 3-4 เดือน

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสิรภพ พุ่มพึงพุทธ ตัวแทนนักศึกษา พร้อมด้วยตัวแทนจากประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เข้าให้ข้อมูลกับ คณะอนุกรรมการ รับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายสิรภพ กล่าวก่อนให้ข้อมูลว่า วันนี้เราในฐานะตัวแทนนักศึกษาจากทั้งประเทศ มาพูดถึงเรื่องประชามติที่จะเกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญในแง่พลวัตที่ผ่านมาตลอดตั้งแต่ปี 63-65 จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเมื่อเปิดให้ทำประชามติแล้ว เหตุใดจึงยังมีการจำกัดให้แก้แค่บางมาตรา ประเด็นสำคัญที่จะพูดในวันนี้ คือ 1.เราต้องการแสดงความเห็นว่าเราควรแก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ไม่มีข้อจำกัด 2. คำถามประชามติที่จะเกิดขึ้นไม่ควรมีข้อผูกมัดตายตัว และ 3.ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วม 

ขณะที่ นายนัสรี พุ่มเกื้อ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำถามประชามติจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องการแก้ได้ทุกหมวด ทุก มาตรา ดังนั้น การทำประชามติครั้งนี้ถือเป็นทางเลี้ยวของประเทศ สำคัญที่สุดคือคำถามประชามติต้องไม่กว้างและแคบเกินไป พวกเราต้องการคำถามประชามติ โดยมีใจความ 2 ข้อ คือ แก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา และรัฐธรรมนูญที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน วางพื้นฐานรัฐสวัสดิการ สร้างกลไกป้องกันรัฐประหาร และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จากนั้น นายนิกร จํานง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษา แนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับกลุ่มนักศึกษา ว่าเราตั้งใจหารือกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญนานกว่าคนรุ่นตน วันนี้ได้เชิญหลายกลุ่ม ที่เคยมีการชุมนุม และให้ความเห็นในเรื่องการทำประชามติ โดยเราได้ส่งคำถามที่จะใช้ถามต่อสมาชิกรัฐสภาให้กับกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาพูดคุยในวันนี้ เพื่อดูว่ามีความเห็นอย่างไร และทดสอบคำถามไปในตัวด้วย และเมื่อได้มติจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ก็จะนำคำถามเหล่านี้ไปสอบถามต่อสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน คาดว่าจะเข้าที่ประชุม สส.ในวันที่ 13-14 ธ.ค. และเข้าที่ประชุม สว.ในวันที่ 18-19 ธ.ค. จากนั้นจึงจะมีการประชุมในวันที่ 22 ธ.ค. พร้อมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ข้อสรุป 

...

นายนิกร กล่าวว่า จากที่ตนได้หารือกับนายวุฒิสาร ที่ได้เชิญ กกต.มาหารือในช่วงเช้า กกต.ได้ให้ข้อมูลว่าค่าใช้จ่ายในการทำประชามติ อยู่ที่ประมาณ 3,250 ล้านบาท ต่อครั้ง และอาจต้องใช้แอปพลิเคชัน เนื่องจากเราไม่มีเครื่องมือ เพราะถ้าใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ งบอาจสูงถึง 10,000 ล้านบาท ส่วนที่มีข้อเสนอให้การจัดทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อดูรายละเอียดพบว่ามีข้อกฎหมาย 3 ฉบับซ้อนกัน ดังนั้น หากมีการสอบถามความเห็นการทำประชามติในขั้นตอนแรกก็คงไม่ทัน เพราะต้องรอไปถึงเดือน พ.ย.ปี 67 แต่อาจจะทําซ้อนได้ในการทําประชามติครั้งที่ 2  นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลอย่างยิ่ง ในเรื่องกฎหมายประชามติ ที่กำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 20 กว่าล้านคน ทำให้มีข้อกังวลว่าเมื่อไม่ใช่การเลือกตั้ง สส. การที่ประชาชนจะออกมาเกินกึ่งหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย มีโอกาสจะเดี้ยง เพราะในกึ่งหนึ่งนั้นจะต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง อาจจะตกม้าตาย เพราะประชาชนออกมาไม่ครบ จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าหากกฎหมายทําประชามติมีปัญหาก็ต้องแก้ เป็นเรื่องที่สภาต้องไปคุยกัน แต่คณะอนุฯ ของเราไม่รอ จะทำตามกฎหมายที่มีอยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขกฎหมายประชามติ ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ นายนิกร กล่าวว่า ไม่นาน น่าจะทันการ เพราะถ้าแก้กฎหมายทําประชามติแล้ว ก็น่าจะเริ่มขั้นตอนถามความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องการทําประชามติในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ปี 67 แก้ให้คลี่คลายจะได้ใช้ประโยชน์ และหากมีการถามเรื่องประชามติในช่วงเดือน เม.ย.ปี 67 ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 90-120 วัน ก่อนจะมีการทำประชามติต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...