ระทึก "ทักษิณ" กลับไทย รอบ 17 ปี - สภา นัดโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ฤกษ์ดี! 22 ส.ค. วันการเมืองไทยร้อนแรง "ทักษิณ" กลับไทย รอบ 17 ปี-สภา นัดโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพื่อไทย หวังส่ง "เศรษฐา" แบบม้วนเดียวจบ นั่งแท่นนายกฯ-ศาล นัดตัดสิน ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน

วันที่ 22 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นับเป็นวันสำคัญที่จะเกิดเหตุการณ์การเมือง ที่จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในหลายกรณี และอาจถือเป็นวันฤกษ์ดี ตามที่มีหลายฝ่ายได้ดูเอาไว้ก็เป็นได้ 

เริ่มด้วยในตอนเช้า 9 โมงเช้า "อิ๊งค์" และครอบครัว ดูฤกษ์งามยามดี 22 ส.ค. เดินทางไปรับคุณพ่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศกว่า 17 ปี กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยบุตรสาวยืนยันว่า คุณพ่อไม่มีการเลื่อนกลับแล้ว 

แต่งานนี้ ขอยกคำพูดของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ "สำหรับผม ขอย้ำว่าตราบใดที่ยังไม่เห็นตัว ทักษิณ ชินวัตร ที่สนามบินดอนเมือง เวลา 9 โมงเช้า วันที่ 22 ส.ค.นี้ ก็คงต้องประเมินสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป"

ขณะที่ในเวลา 10.00 น. สภาผู้แทนราษฎร โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดสมาชิก สส.-สว.มีวาระสำคัญ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

...

ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ คงต้องจับตา โดยเฉพาะประเด็นปัญหาคุณสมบัติความโปร่งใสของ นายเศรษฐา ที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาโจมตีต่อเนื่อง จากการซื้อขายที่ดินของ "แสนสิริ"

เปิดขั้นตอน โหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 159 บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่บัญญัติว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

สรุปขั้นตอนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ดังนี้

1. สส.เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีจำนวน สส.ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป

2. การเสนอชื่อต้องมี สส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน

3. การให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ สส. 500 เสียง สว. 250 เสียง รวมกัน 750 เสียง ตอนนี้เหลือ 748 เสียง ("พิธา" ถูกศาลสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ สส.-มี สว.ลาออกไป 1 คน) ทำให้ต้องได้เสียง 375 ขึ้นไป  

4. การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเรียกชื่อ สส.และ สว.ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ

5. หากมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้คะแนน 375 เสียงขึ้นไป จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาฯ จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

6. หากลงคะแนนแล้วไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทยมารับโทษ ในรอบ 17 ปี 

แผนรับ นายทักษิณ กลับประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เริ่มจากสนามบินดอนเมือง อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล (Mjets) ซึ่งคาดว่าเป็นจุดที่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของ นายทักษิณ จะลงจอดบริเวณในส่วนโซนวีไอพี ขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นผู้รับตัว และทำบันทึกการจับกุมต่างๆ ตามขั้นตอน ก่อนส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรีให้กับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์คุมตัวขึ้นรถ และนำตัวไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญา (สนามหลวง) ก่อนนำตัวสู่เรือนจำ 

สำหรับกระบวนการระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขังเข้า-ออกเรือนจำ พ.ศ.2561 เมื่อ "ทักษิณ" เข้าสู่ขั้นตอนของศาล รับฟังคำพิพากษาตามคดีคงค้างเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะดำเนินการควบคุมตัวจากศาลฎีกาไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งในขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่เรือนจำจะดำเนินการตรวจค้นตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และสัมภาระ อาทิ เสื้อผ้า หรือสิ่งของมีค่า เครื่องประดับ นาฬิกา สร้อย แหวน พระเครื่อง เป็นต้น แต่ปกติแล้วไม่ว่าจะนำสัมภาระใดเข้ามา เจ้าหน้าที่เรือนจำก็จะไม่อนุญาตให้นำผ่านเข้าไปภายในเรือนจำทั้งสิ้น ส่วนเสื้อผ้าเจ้าหน้าที่จะเก็บไว้ให้ เพื่อให้ญาติติดต่อขอรับกลับไป หรือผู้ต้องขังประสงค์ให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้ให้ก่อนได้  

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขั้นตอนถัดไป คือ การจัดทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและนามสกุลของผู้ต้องขัง เลขประจำตัวประชาชน หรือเอกสารแสดงตนของผู้ต้องขังเท่าที่ทราบ, ข้อหาหรือฐานความผิดผู้นั้นได้กระทำ, บันทึกลายนิ้วมือหรือสิ่งแสดงลักษณะเฉพาะของบุคคล และตำหนิรูปพรรณ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้ต้องขังถูกต้องตามหมายศาล ไม่ผิดตัว, สภาพของร่างกายและจิตใจ ความรู้และความสามารถ และอื่นๆ ตามที่ ผบ.เรือนจำฯ เห็นสมควร โดยให้เป็นไปในกรอบของระเบียบกรมราชทัณฑ์ 

รายงานข่าวระบุต่อว่า จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่พยาบาล หรือผู้ที่ผ่านการอบรมด้านงานพยาบาลของเรือนจำ ดำเนินการตรวจสุขภาพเบื้องต้น และหากผู้ต้องขังมีโรคประจำตัว ยารักษาโรค หรือมีใบรับรองแพทย์ ก็ให้ยื่นแสดงกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อเจ้าหน้าที่เก็บยาไว้ให้ และจะสอบถามถึงการกินยาว่าแพทย์สั่งให้กินยาอย่างไร รวมถึงไม่ว่านักโทษชายหรือหญิงก็ต้องเปลื้องผ้าทั้งหมด เพื่อดูว่าไม่ได้มีการนำสิ่งของ วัตถุอันตราย อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร หรือยาเสพติด ลักลอบเข้าไปข้างในเรือนจำ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้หลายเรือนจำทั่วประเทศไทยได้มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ร่างกายไว้แล้ว จึงทำให้ไม่เป็นการตรวจร่างกายโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป อีกทั้งการบันทึกรายงานเกี่ยวกับบาดแผลหรืออาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังก่อนเข้าเรือนจำฯ ค่อนข้างเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อใช้ยืนยันว่า ผู้ต้องขังได้มีลักษณะบาดแผลหรืออาการเจ็บป่วยมาก่อนที่จะเข้าไปในเรือนจำ ไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้ายหลังก้าวเท้าเข้าเรือนจำแต่อย่างใด และผู้ต้องขังจะต้องเซ็นชื่อกำกับการบันทึกดังกล่าวด้วยตัวเอง เพื่อตรวจสอบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ท้ายสุดแพทย์หรือพยาบาลจะใช้ดุลพินิจเพื่อดูว่า หากผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวร้ายแรงต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ก็อาจจะให้ไปทำการกักโรคโควิด-19 ที่ห้องกักโรคของสถานพยาบาลภายในเรือนจำฯ แทน และเมื่อกักโรคครบกำหนดระยะเวลา ไม่พบว่ามีเชื้อ ก็จะแยกผู้ต้องขังไปยังหอผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคต่อไป

ขณะอีกเรื่องที่ลืมไม่ได้ ศาลฎีกาฯ นักการเมือง นัดชี้ชะตาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" สมัยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน-แฟลตตำรวจ 22 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. หลังเคยยกฟ้องเมื่อ ก.ย. ปี 2565

งานนี้คงต้องจับตาดูกันให้ดีๆ แม้วันนี้อาจจะเป็นวันฤกษ์ดีจริงๆ ก็ได้ แต่ใครจะดวงดีตามฤกษ์ คงต้องเรียกว่า "ลุ้นกันตัวโก่ง" เลยทีเดียว. 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...