จีนเป็นเจ้าหนี้ BRI กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

รายงานจาก AidData สถาบันวิจัยติดตามการเงินเพื่อการพัฒนาจากวิทยาลัยวิลเลียม และแมรี รัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐ ระบุ รัฐบาลปักกิ่ง เผยว่าประเทศที่ลงนามตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) มีมากถึง 150 ประเทศตั้งแต่อุรุกวัยไปจนถึงศรีลังกา BRI เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดมหึมาทั่วโลกของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปิดตัวเมื่อสิบปีก่อน

ช่วงทศวรรษแรกจีนกระจายสินเชื่อขนาดใหญ่เป็นเงินทุนก่อนสร้างสะพาน ท่าเรือ ทางหลวงในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง แต่กว่าครึ่งของสินเชื่อเหล่านั้นขณะนี้เข้าสู่ช่วงชำระคืนเงินต้นตัวเลขส่อเค้าทะลุ 75% เมื่อสิ้นทศวรรษ

ข้อมูลที่ AidData รวบรวมจาก BRI เกือบ 21,000 โครงการใน 165 ประเทศ ขณะนี้จีนให้ความช่วยเหลือและสินเชื่อแก่ประเทศรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางราว “8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี” เทียบกับสหรัฐให้ประเทศดังกล่าว 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

“ปักกิ่งกำลังฟันฝ่าบทบาทที่ไม่คุ้นเคย และไม่สะดวกใจในฐานะเจ้าหนี้อย่างเป็นทางการรายใหญ่สุดของโลก หนี้คงค้างโดยรวมซึ่งรวมถึงเงินต้นไม่รวมดอกเบี้ย จากผู้กู้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่อย่างน้อย 1.1 ล้านล้านดอลลาร์”

“ราว 80% ของเงินที่จีนปล่อยกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนาตอนนี้เอาไปช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาการเงิน” รายงาน AidData ระบุ

ผู้ที่สนับสนุน BRI ชมเชยว่า โครงการนี้นำทรัพยากร และการเติบโตทางเศรษฐกิจมาให้กลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) แต่นักวิจารณ์กล่าวมานานแล้วว่า โครงการก่อสร้างโดยบริษัทจีนราคาไม่ชัดเจน หลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย เมียนมา ต้องเจรจาใหม่เพื่อลดต้นทุนลงมา

รายงาน AidData ระบุด้วยว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ชื่อเสียงจีนตกต่ำในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา คะแนนนิยมลดจาก 56% ในปี 2562 เหลือ 40% ในปี 2564 แต่จีนกำลัง “เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง และกลายเป็นผู้จัดการวิกฤติที่เชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ” รัฐบาลปักกิ่งพยายามลดความเสี่ยงของ BRI ด้วยการปล่อยกู้ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นเพื่อปกป้องตนเองจากความเสี่ยงไม่ได้รับชำระหนี้

ตอนประชุมผู้นำเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี BRI ที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนก่อน ประธานาธิบดีสี กล่าวว่าจีนจะอัดฉีดเงินทุนใหม่กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ให้ BRI แต่รายงานร่วมของธนาคารโลก และสถาบันอื่นๆ รวมถึง AidData ที่ออกมาก่อนหน้านี้ชี้ว่า หลายปีหลังปักกิ่งจำเป็นต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์มาอุ้มสินเชื่อที่ให้กับประเทศทำโครงการ BRI

นอกจากนี้ BRI ยังถูกจับตามากเรื่องคาร์บอนฟุตพรินท์ขนาดมหึมา และโครงการอภิมหาโปรเจกต์ทำลายสภาพแวดล้อม

 

 

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...