อิสราเอล ข่าวกรองผิดพลาดหรือยุทธศาสตร์ล้มเหลว (ตอน 2)

18 ปีหลังการถอนตัวออกจากการยึดครองฉนวนกาซา (ปี 2548) กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) เปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานพื้นที่ดังกล่าวสองครั้ง ได้แก่ ยุทธการหลอมตะกั่ว (Operation Cast Lead) เมื่อ ม.ค.2552 ใช้เวลาปฏิบัติการภาคพื้นดิน 15 วัน

และยุทธการป้องกันชายแดน (Operation Protective Edge) ปี 2557 เพื่อโจมตีทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาสโดยใช้เวลาปฏิบัติการ 19 วัน 

ปฏิบัติการทางทหารครั้งล่าสุดใช้ชื่อ ยุทธการดาบเหล็ก (Operation Iron Swords) เพื่อตอบโต้การโจมตีแบบกระหายเลือดของกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ต.ค.2566 โดยเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายหลายแห่งในฉนวนกาซา และเรียกระดมกำลังพลสำรองกว่า 300,000 นาย เตรียมบุกเข้า “ทำลาย” กลุ่มฮามาส

กองทัพอิสราเอลยืนยันเมื่อช่วงเช้า 14 ต.ค.2566 ว่าได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินแล้ว แต่เป็นแบบ “จำกัดวง” เพื่อ “ขจัดภัยคุกคามจากเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มก่อการร้าย” โดยจะรวบรวมหลักฐาน เพื่อช่วยเหลือตัวประกันด้วย IDF ระบุตัวประกันได้อย่างน้อย 212 คนที่น่าจะถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา

การโค่นล้มกลุ่มฮามาสซึ่งฝังรากลึกในฉนวนกาซา (โดยเฉพาะองค์การการกุศล โรงเรียนและมัสยิด การแยกกลุ่มฮามาสออกจากฉนวนกาซาเป็นภารกิจที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้) จะนำไปสู่การสู้รบแบบนองเลือดในเขตเมือง (bloody urban fighting) และก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อตัวประกัน 

ยิ่งการสู้รบยืดเยื้อออกไปนานเท่าไร โอกาสที่ความรุนแรงจะขยายตัวไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (West Bank) และเลบานอนมากขึ้นเท่านั้น หากพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิตอย่างป่าเถื่อน ก็จะเป็นอันตรายต่อจุดยืนระหว่างประเทศของอิสราเอล

สาเหตุที่ทำให้อิสราเอลตกอยู่ในสถานการณ์อันน่าสยดสยองในขณะนี้ น่าจะเป็นผลจากความล้มเหลวของนโยบายต่อปาเลสไตน์กล่าวคือ กลุ่มฮามาสปกครองฉนวนกาซาในปี 2550 (2 ปีหลังการถอนทหารของอิสราเอล) รัฐบาลอิสราเอลต้องเลือกระหว่าง 2 ยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ทางการเมืองและการทหาร คือ

1) ปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงที่กลุ่มฮามาสเป็น 1 ใน 2 กลุ่มการเมืองหลักในดินแดนปาเลสไตน์ อีกกลุ่มคือฟาตาห์ ซึ่งมีฐานที่มั่นในเวสต์แบงก์

รัฐบาลอิสราเอลใดๆ ที่ต้องการยุติความขัดแย้งกับปาเลสไตน์อย่างจริงจัง จะต้องพยายามรวมกลุ่มฮามาสเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองทวิภาคีควบคู่กับกลุ่มฟาตาห์ซึ่งเป็นคู่แข่ง (อิสราเอลต้องเจรจาโดยตรงกับกลุ่มฮามาส) พร้อมกับสนับสนุนการปรองดองระหว่างกลุ่มฮามาสและฟาตาห์

2) ดำเนินกลยุทธ์ทำให้กลุ่มฮามาสอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ดำเนินการโดยกลุ่มฟาตาห์โดยรวมถึงกระบวนการทางการเมืองที่น่าเชื่อถือ นำไปสู่ข้อตกลงสถานะถาวร ซึ่งอาจบรรลุผลสำเร็จโดยข้อตกลงย่อยและการดำเนินการฝ่ายเดียว

ทั้งสองยุทธศาสตร์มีจุดอ่อนและอาจมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง หลังสิ้นสุดรัฐบาลเอฮุด โอลเมิร์ต ในปี 2552 รัฐบาลอิสราเอลชุดต่อมาไม่ได้ใช้ทั้งสองทางเลือก เอฮุด โอลเมิร์ต เคยพยายามใช้ทางเลือกที่สองระยะหนึ่ง แต่ถูกกดดันให้ลาออกก่อนบรรลุเป้าหมายใดๆ ต่อมาเบนจามิน เนทันยาฮู รับช่วงต่อโดยใช้ยุทธศาสตร์ที่สามอันนำมาซึ่งความล้มเหลว

ในปี 2552 เนทันยาฮู กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัย Bar-Ilan อิสราเอล เขาประกาศยอมรับรัฐปาเลสไตน์โดยมีเงื่อนไขหลายประการ (ความหมายคือคัดค้านการสถาปนารัฐปาเลสไตน์)

เนทันยาฮูแทนที่กระบวนการทางการเมืองโดยใช้ยุทธศาสตร์ “แบ่งแยกและปกครอง" (divide-and-conquer) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายทำให้คณะบริหารปาเลสไตน์ใน (เมืองรามัลเลาะห์) เวสต์แบงก์อ่อนแอลง และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา

เนทันยาฮู เชื่อว่า ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นหนทางดีที่สุดที่ทำให้มั่นใจว่า ไม่มีกระบวนการทางการเมืองที่ปฏิบัติได้ หรืออีกนัยหนึ่งอิสราเอลใช้กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาจัดการกลุ่มฟาตาห์ในเวสต์แบงก์ อิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรงจะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มสายกลาง (คู่เจรจาสันติภาพของอิสราเอล) สมความมุ่งหวังของเนทันยาฮู

ยุทธศาสตร์ที่สามเร่งตัวไปสู่ระดับใหม่ โดยเนทันยาฮูจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเคร่งศาสนาและชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งประกาศอย่างเปิดเผยว่า อิสราเอลจะไม่เปิดทางให้มีการสถาปนารัฐปาเลไตน์ หรือให้สิทธิเท่าเทียม หรือยุติการปล้นดินแดนปาเลสไตน์ โดยการสร้างนิคมชาวยิว 

นโยบายนี้ส่งผลให้กองทัพอิสราเอลส่วนใหญ่ถูกส่งไปปกป้องผู้ตั้งถิ่นฐานในเวสต์แบงก์ โดยแลกกับค่าใช้จ่ายในการป้องกันชายแดนรอบฉนวนกาซา

อิสราเอลสร้างเสริมสถานภาพของตนในตะวันออกกลางด้วยวิธีการทูต โดยลงนามใน “ข้อตกลงอับราฮัม" (Abraham Accords) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรนในปี 2563 ต่อมาได้เพิ่มโมร็อกโกและซูดาน จนถึงต้น ต.ค.2566 ดูเหมือนว่าซาอุดีอาระเบียอาจเข้าร่วมด้วย แต่เกิดเหตุโจมตีของกลุ่มฮามาสทำให้ข้อตลงสันติภาพหยุดชะงัก

วิกฤติในปัจจุบันแสดงให้เห็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของยุทธศาสตร์นี้ คงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่จะหวังว่าอิสราเอลสามารถรวมอำนาจทางทหารและหน่วยงานรักษาความปลอดภัยชาวปาเลสไตน์หลายล้านคน ที่อ้างสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (self-determination) และมีชีวิตอิสระตามปกติได้อย่างไม่มีกำหนด

(สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (self-determination) เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐสมาชิก UN ด้วย

ดูรายละเอียดใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง “หลักการกำหนดใจตนเอง” หรือ The Principle of Self-Determination โดยณัฐกฤษตา เมฆา และ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นบรรณาธิการ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มิ.ย.2552)

ในที่สุด ผู้ถูกกดขี่จะลุกขึ้นต่อสู้กับผู้กดขี่ ความทุกข์ทรมานภายใต้การกดขี่และความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะมีอิสรภาพทำให้เกิดความตั้งใจแน่วแน่

นักรบฮามาสที่วางแผนโจมตีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีไหวพริบอย่างมากในการแสวงประโยชน์จากการขาดการเตรียมพร้อมของอิสราเอล

ในที่สุด อิสราเอลจะต้องเลือกระหว่างวิธีแก้ปัญหาแบบสองรัฐ (Two-State Solution) เคียงข้างกันกับรัฐเดียว (Single State) ที่พลเมืองผู้อยู่อาศัยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และพยายามทำให้สิ่งที่อิสราเอลเลือกได้ผล โดยหวังว่าชาวอิสราเอลที่ยืนหยัดอดทนต่อการล่มสลายของแนวทางปัจจุบันจะให้การสนับสนุน.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...